'เอพี-เอไอเอส-กสิกรไทย' ทุ่ม 100 ล้าน ตั้งศูนย์วิจัยสแตนฟอร์ดพัฒนาบุคลากร

18 ก.ย. 2562 | 12:14 น.

3 องค์กรชั้นนำ "เอพี - เอไอเอส - กสิกรไทย" และล่าสุด " ไทยยูเนียน" ร่วมทุ่มงบกว่า 100 ล้าน จัดตั้ง The Stanford Thailand Research Consortium ทำงานวิจัย ภายใต้การดูแลของเอสอีเอซี สนับสนุนการพัฒนาบุคลากรไทย 

นายพอล มาร์คา ผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า 3 บริษัทชั้นนำ ของไทย ได้แก่ บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และล่าสุด บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) ร่วมผนึกกำลังสนับสนุนงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในด้านต่างๆ เพื่อปูทางไปสู่ความสำเร็จและความก้าวหน้าของประเทศ พร้อมต่อยอดความร่วมมือดังกล่าว โดยให้การสนับสนุนด้านเงินทุนและจัดตั้ง The Stanford Thailand Research Consortium ภายใต้การดูแลและดำเนินการของ เอสอีเอซี (SEAC) ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน

'เอพี-เอไอเอส-กสิกรไทย' ทุ่ม 100 ล้าน ตั้งศูนย์วิจัยสแตนฟอร์ดพัฒนาบุคลากร

นักวิจัยที่มีบทบาท  ใน Consortium นั้น มาจากคณะต่างๆ อาทิ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะบริหารศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และวิทยาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะสิ่งแวดล้อมและพลังงาน เป็นต้น ด้วยความเชี่ยวชาญและมุมมอง  อันหลากหลายจะช่วยให้บรรลุเป้าประสงค์ของ Consortium ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น ความร่วมมือดังกล่าวยังจะได้รับประโยชน์จากองค์ความรู้ในมุมของประเทศไทยจาก SEAC ที่มีศักยภาพในด้านการ ให้คำปรึกษา การอบรมและการให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ รูปแบบ

The Stanford Thailand Research Consortium จะทำการคัดเลือกสมาชิก ที่มีความตระหนักถึงประเด็นและปัญหาด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่มุ่งหวังต้องการการจัดการ ซึ่งเป็นความท้าทายที่งานวิจัย อันทรงคุณค่าของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดสามารถช่วยเข้าไปแก้ไข
สมาชิกของ Consortium จะได้รับการจัดสรรให้เข้าร่วมการจัดการปัญหาในระดับที่เหมาะสมกับตนเอง โดยสมาชิกมีระยะเวลาการเข้าร่วม 5 ปี โดยเป้าประสงค์ของ The Stanford Thailand Research Consortium คือเพื่อกระตุ้นและผลักดันการพัฒนาของประเทศไทยด้านการลงทุนในงานวิจัยต่างๆ ที่จะเอื้อประโยชน์ต่อประชากรในประเทศ ต่อเศรษฐกิจของประเทศ และต่ออนาคตของประเทศอย่างมีกลยุทธ์

เป้าหมาย ของ The Stanford Thailand Research Consortium เน้น 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การยกระดับความสามารถของคนไทยให้เท่าทันโลก  การนำเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาธุรกิจและเศรษฐกิจไทย เสริมสร้างมาตรฐานคุณภาพชีวิตของคนไทยให้สูงขึ้นอย่างยั่งยืน และส่งเสริมการพัฒนาสังคมเมืองที่คิดถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน
 
เป้าหมายระยะยาวของ Consortium แบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ “Doing Good” หมายถึง เป้าหมายที่เน้นศักยภาพความก้าวหน้าของประเทศ และ “Doing Well” ที่เน้นด้านความสนใจของสมาชิกเพื่อพัฒนาความสามารถของบริษัท “Doing Good” รวมถึง ความสามารถในการระบุและตอบสนองต่อความท้าทายในเชิงโครงสร้างหลักและความท้าทายที่เกิดจากเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือ Disruptive Technology ในด้านสำคัญต่างๆ อาทิ เกษตรกรรมยั่งยืน พลังงานและการธนาคาร สาธารณสุข เมืองอัจฉริยะ อนาคตการทำงาน และนวัตกรรมด้านการศึกษา

ความสามารถในการพัฒนา ขยาย และต่อยอดศักยภาพทางการศึกษาระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านนวัตกรรมและความคล่องตัว ความสามารถในการกระตุ้น พัฒนา และให้การสนับสนุนระบบนิเวศด้านนวัตกรรมที่ช่วยจัดการความ ท้าทายและโอกาสต่างๆ ในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้น และความสามารถในการสร้างและสืบทอดมรดกทางศักยภาพอันยั่งยืนของตนเอง ที่ไม่เพียงแต่รวมถึงการคิดเชิงออกแบบเท่านั้น
 
ส่วน “Doing Well” คือ ความสามารถในการระบุความท้าทายหลักๆ ของอุตสาหกรรมและปัจจัยใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของประเทศ ความสามารถในการพัฒนาทางออกที่จะช่วยจัดการกับปัญหาและโอกาส โดยใช้องค์ความรู้ที่ได้มาจากงานวิจัยและความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ความสามารถในการสร้างสรรค์ระบบนิเวศทางนวัตกรรมที่มีการขับเคลื่อนโดยสมาชิกของ Consortium เพื่อให้สมาชิกได้ทำงานและมีเป้าหมายร่วมกัน

นอกจากนี้ ยังมีความสามารถในการสร้างสรรค์และสืบทอดศักยภาพและระบบความคิดเชิงออกแบบในช่วงเวลา แห่งความเปลี่ยนแปลงที่ไม่แน่นอน
ปัจจุบัน งานวิจัยมากมายได้เริ่มแล้ว และครอบคลุมในประเด็นต่างๆ ตั้งแต่การลดขยะในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอาหารไปจนถึงการสร้างศักยภาพของคนทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการขององค์กรในอนาคต งานวิจัยส่วนมากมีระยะเวลา 5 ปี หรือน้อยกว่านั้น หรืออาจจะวิวัฒนาการเรื่อยไปตามกาลเวลาซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของ The Stanford Thailand Research Consortium
 
นายอนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การก่อตั้ง “The Stanford Thailand Research Consortium” ซึ่งเป็นการทำวิจัยระดับโลกครั้งแรกของไทย ในการนำความรู้ ความสามารถ ตลอดจนทรัพยากรต่างๆ ที่มีมาช่วยพัฒนาศักยภาพประเทศไทยของเราในหลากหลายมิติ  ท่ามกลางความท้าทายที่เกิดขึ้นมากมาย ‘คุณภาพของคน’ คือ ประเด็นสำคัญที่โลกธุรกิจกำลังเผชิญอยู่ ดังนั้น ประเด็นเรื่อง การยกระดับความสามารถของคนไทยให้เท่าทันโลกนี้ เป็นหัวข้อหนึ่งในงานวิจัยที่ทาง The Stanford Thailand Research Consortium จะหยิบขึ้นมาทำการศึกษา ค้นคว้า และวิจัยเจาะลึกอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืนของประเทศ

นางสาวกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วันนี้ คำว่า Digital Disruption ไม่ใช่เพียงกระแสที่พัดเข้ามาแล้วจากไป แต่เอไอเอส เชื่อว่า สิ่งที่ท้าทายมากไปกว่าการปรับตัวให้ทันกระแสโลกยุคดิจิทัล นั่นคือการเตรียมพร้อมให้คนไทยมีความเข้าใจ ตื่นตัว และพร้อมนำองค์ความรู้ใหม่ๆ ไปคิดค้นต่อยอดทำสิ่งใหม่ๆ โดยมีพื้นฐานจากความคิดสร้างสรรค์และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม เพื่อก่อให้เกิดเป็นนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยในวงกว้าง ซึ่งการเข้าร่วมศึกษาวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลกอย่างมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และ SEAC ในครั้งนี้ จึงถือเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยยกระดับองค์ความรู้ของคนไทยได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ตลอดจนช่วยยกระดับสังคม และเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวต่อไป

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยมีความมุ่งมั่นในการช่วยแก้ไขปัญหาและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย โดยเน้นสร้างความร่วมมือกับภาครัฐและประชาสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการรักษ์ป่าน่าน โดยร่วมขับเคลื่อนโครงการ Nan Sandbox เพื่อปฏิรูปและหาวิธีแก้ปัญหารากฐานของความถดถอยของทรัพยากรธรรมชาติของประเทศอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเป็นการพัฒนาเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหากับจังหวัดอื่นๆ ในอนาคต สำหรับโครงการ The Stanford Thailand Research Consortium ครั้งนี้ จะเป็นการทำวิจัยเพื่อยกระดับการแก้ปัญหาของประเทศไทยให้เป็นที่ตระหนักและเข้าใจมากขึ้น และด้วย DNA ของ Stanford ที่มีความแข็งแกร่งในเรื่องการพัฒนาผู้นำให้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงจะเป็นกลไกสำคัญในการสร้าง DNA ให้กับทีมงานและผู้นำในทุกภาคส่วน เพื่อพร้อมผลักดันให้สังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนต่อไป และผลลัพธ์จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศทั้งในเรื่องของ “Do Good” และ “Do Well”

นางอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC กล่าวว่า SEAC เป็นเหมือนสะพานเชื่อมระหว่าง 3 องค์กร และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศชาติ นอกจากนั้น  SEAC ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการทำวิจัยโดยเฉพาะที่เป็นในระดับประเทศ เพราะจากข้อมูลสถิติทั่วโลกพบว่าประเทศที่ลงทุนและให้ความสำคัญเรื่องการทำวิจัยมากเท่าไหร่ จะส่งผลโดยตรงต่ออัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) สูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ SEAC จึงต้องการร่วมกับมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่างสแตนฟอร์ดทำให้ The Stanford Thailand Research Consortium เกิดขึ้นมาในประเทศไทย โดยเราอยากผลักดันการทำวิจัยทั้งในส่วนที่เป็นการพัฒนาความสามารถขององค์กร และเพิ่มศักยภาพของคนไทย และประเทศไทยในระยะยาวเพื่อสร้างให้เกิดการเติบโตอย่างก้าวไกลของประเทศอย่างยั่งยืน


'เอพี-เอไอเอส-กสิกรไทย' ทุ่ม 100 ล้าน ตั้งศูนย์วิจัยสแตนฟอร์ดพัฒนาบุคลากร