พาณิชย์ เปิดตัว Big Data สินค้าเกษตร

18 ก.ย. 2562 | 08:04 น.

 

 

พาณิชย์เร่งผลักดันBig Data หวังรองรับกระแสเศรษฐกิจใหม่ ระดมความเห็นทั้งจากภาครัฐ-เอกชน พร้อมเปิดตัว Big Data พืชเกษตรสำคัญ 5 ชนิด เพื่อใช้กำหนดนโยบายแก้ปัญหาสินค้าเกษตร

 

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า บอกว่า แนวทางการพัฒนาการค้า เพื่อรองรับกระแสเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดเวทีระดมความคิดเห็นจากทั้งภาครัฐและเอกชน ในงาน ร่วมคิด ร่วมค้า ท้าทายเศรษฐกิจโลก การรับฟังความคิดเห็น เพื่อพัฒนากลยุทธ์การค้าเศรษฐกิจใหม่ พร้อมเปิดตัว Big Data พืชเกษตรสำคัญ 5 ชนิด เพื่อใช้กำหนดนโยบายแก้ปัญหาสินค้าเกษตร

พาณิชย์ เปิดตัว Big Data สินค้าเกษตร

พิมพ์ชนก วอนขอพร

ทั้งนี้ได้มีการนำเสนอระบบประมวลผล Big Data สินค้าเกษตร ซึ่งระยะที่ 1 จะนำร่องสินค้าเกษตรสำคัญ 3 ชนิด ได้แก่ ข้าว ปาล์มน้ำมัน และยางพารา เพื่อติดตามสถานการณ์ความต้องการ และผลผลิตทั้งในและต่างประเทศ ให้สามารถคาดแนวโน้มและเตือนภัย มาใช้กำหนดนโยบายในการรักษาเสถียรภาพด้านราคา ขณะนี้ ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลในสินค้าข้าว เกือบ 100% แล้ว และกำลังเชื่อมโยงข้อมูลปาล์มน้ำมัน และยางพารา ส่วนสินค้าอีก 2 ชนิด มันสำปะหลัง และข้าวโพด คาดว่า จะเชื่อมโยงข้อมูลได้ครบทั้ง 5 ชนิดภายในปีนี้

"การเตรียมรับเข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ มีความท้าทายที่ต้องปรับตัวทั้งการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะปัญหาสงครามการค้า ผลกระทบจากเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของสังคม เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และความต้องการสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และปัจจัยจากสภาแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ที่ภาคธุรกิจทั่วโลกต้องปรับตัว ขณะเดียวกัน ภาครัฐเองมีหน้าที่สนับสนุนและอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยใช้เทคโนโลยี เพื่อให้การประกอบธุรกิจง่ายขึ้น ซึ่งจะมีการรวบรวมความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาใช้กำหนดกรอบนโยบายการพัฒนาการค้าในยุคเศรษฐกิจใหม่ ขณะที่ ในด้านของฐานข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจด้านนโยบาย ขณะนี้ ภาครัฐ กำลังจัดทำระบบข้อมูลในสินค้าเกษตรสำคัญ และเตรียมจะทำข้อมูลคาดการณ์การส่งออก รวมทั้งข้อมูลการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศ เพื่อให้เอกชน รู้เทรนความต้องการสินค้าในตลาดทั้งในและต่างประเทศ"

พาณิชย์ เปิดตัว Big Data สินค้าเกษตร

นายปริญญ์ บุญดีสกุลโชค ที่ปรึกษาสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ได้แสดงตัวอย่างข้อมูลสินค้าข้าว พบว่า หากดูยอดการส่งออกในปี 2561 แม้จะขยายตัว แต่ดูเป็นรายชนิดข้าว ข้าวนึ่ง ส่งออกลดลงถึง 22% จากการนำเข้าลดลงในตลาดรัสเซีย และหากดูเป็นรายตลาดนำเข้าข้าวทั่วโลก พบว่า โมร็อกโก นำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นถึง72% แต่กลับไม่มีการนำเข้าจากไทยเลย รวมทั้งจีน ที่ส่งออกข้าวมากขึ้น แต่ตัวเลขการผลิตข้าวไม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากปีก่อนหน้าจีนมีการนำเข้ามาเยอะจนสต๊อกเหลือ นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลด้านราคาตั้งแต่ต้นทุนของเกษตรกร ไปจนถึงโรงสี ผู้ค้าส่ง ค้าปลีก และส่งออก ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์กับภาครัฐในการแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด

พาณิชย์ เปิดตัว Big Data สินค้าเกษตร