“สมพงษ์”จี้”บิ๊กตู่”ลาออก อัดไร้วุฒิภาวะ-ถวายสัตย์ฯไม่ครบ

18 ก.ย. 2562 | 04:28 น.

วันที่ 18 ก.ย. 252 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร  เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี  (ครม.) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152  ตามที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์  หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้าน กับคณะ จำนวน 205 คนเป็นผู้เสนอ  โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม  โดยมีบรรดารัฐมนตรี และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเข้าร่วมอย่างคึกคัก

ชวน หลีกภัย

ทั้งนี้ก่อนเริ่มเข้าสู่วาระนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ขอให้สิทธิหารือกับประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามที่ฝ่ายค้านได้เสนอญัตติเพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติในประเด็นการกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนนั้น ต่อมาผู้ตรวจการแผ่นดินได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยในกรณีดังกล่าว ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีความเห็นว่าการถวายสัตย์ฯเป็นการกระทำทางการเมืองอันอยู่ในความหมายของการกระทำทางรัฐบาลและไม่ได้รับคำร้องไว้พิจารณา

 

โดยนายชวน  ได้กล่าวว่า  การยื่นญัตติของผู้นำฝ่ายค้านและคณะส.ส. จำนวน 205 คน มาตรา 152 เป็นเรื่องใหม่ของสภาผู้แทนราษฎร เพราะรัฐธรรมนูญในอดีตไม่ได้บัญญัติสิทธิ หน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องนี้เอาไว้ แต่มาตรา 152 เปิดโอกาสให้ส.ส.เข้าชื่อเพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะต่อครม.

"ถึงแม้ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยมาแล้ว แต่ฝ่ายกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนฯ ได้หารือร่วมกันโดยมีความเห็นร่วมกันว่าญัตตินี้ไม่ได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะมีผลผูกพันต่อทุกองค์กรต่อเมื่อเป็นคำวินิจฉัยตามความหมายของรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 แต่ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญมีเพียงคำสั่งไม่รับพร้อมกับมีความเห็นประกอบ จึงไม่ถือเป็นคำวินิจฉัยตามมาตรา 211  ดังนั้นสภาผู้แทนราษฎรจึงสามารถพิจารณาญัตตินี้ได้ตามมาตรา 152และข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร"ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าว

สมพงษ์ อมรวิวัฒน์

จากนั้นนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่  หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้อภิปรายเป็นคนแรกว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 161 กำหนดให้ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยตามที่มาตรา 161 แต่ในทางข้อเท็จจริงปรากฏในการถวายสัตย์เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา ปรากฎว่า ครม.ไม่ได้กล่าวถวายสัตย์ คำว่า "...ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ" และยังมีการกล่าวคำว่า "ตลอดไป" ทั้งๆที่เป็นถ้อยคำที่ ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

 

ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาหลายฝ่ายให้โอกาสนายกรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหาและเสนอทางออก แต่นายกรัฐมนตรีได้เพิกเฉย จึงจำเป็นต้องมีการอภิปรายในวันนี้ โดยการถวายสัตย์เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ มีวัตถุประสงค์เป็นการให้คำสาบานต่อประมุขก่อนเข้ารับหน้าที่ว่าจะใช้อำนาจหน้าที่ตามกรอบของกฎหมาย ไม่ใช่อำนาจตามอำเภอใจ อันเป็นสาระสำคัญของการทำหน้าที่

 

“สมพงษ์”จี้”บิ๊กตู่”ลาออก อัดไร้วุฒิภาวะ-ถวายสัตย์ฯไม่ครบ

นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยเป็นอดีตเลขาธิการครม.เคยเขียนหนังสือชื่อ “หลังม่านการเมือง”ตอนหนึ่งว่ารัฐมนตรีคนใดไม่ได้กล่าวถวายสัตย์ฯจะยังเป็นรัฐมนตรีไม่ได้ และต้องเปล่งวาจาด้วยถ้อยคำที่กฎหมายกำหนด เมื่อพิจารณาจากการถวายสัตย์ฯเมื่อวันที่ 16 ก.ค.2562 ปรากฏว่าได้ขาดถ้อยคำที่หายไปข้างต้น รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งมาตรา 5 วรรคแรก จึงบัญญัติรับรองหลักการที่ว่านั้นเอาไว้ และเมื่อรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศแต่นายกรัฐมนตรีไม่ได้กล่าวคำว่า “จะรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ” จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

 

นายสมพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า พล.อ.ประยุทธ์ เคยนำครม.ถวายสัตย์มาแล้วหลายครั้ง จึงสงสัยว่าเมื่อวันที่ 16 ก.ค.62 เหตุใดถึงขาดการกล่าวถ้อยคำสำคัญดังกล่าว และจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ผลแห่งการที่ครม.ถวายสัตย์ไม่ถูกต้องย่อมเป็นการกระทำขัดต่อ  มาตรา 161 และทำให้การถวายสัตย์ฯนั้นใช้ไม่ได้ตามมาตรา 5 และส่งผลต่อความชอบด้วยของรัฐธรรมนูญต่อการแถลงนโยบายและการบริหารราชการแผ่นดิน

 

"บทเรียนที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ผมขอเรียนว่านายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำของประเทศได้แสดงถึงความไม่มีวุฒิภาวะ ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นลูกโซ่ ประเทศขาดความเชื่อมั่น เมื่อความเชื่อมั่นไม่เกิดขึ้น การยอมรับนับถือจึงไม่มี ผู้นำประเทศที่ถูกตำหนิมาตลอดเช่นนี้จะนำพาประเทศให้อยู่รอดได้อย่างไร" นายสมพงษ์ กล่าว