ถล่มคลังน้ำมันซาอุฯ จุดเปราะบางออยล์ช็อก

18 ก.ย. 2562 | 08:40 น.

ราคานํ้ามันดิบในตลาดโลกพุ่งทำลายสถิติเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562 หลังเกิดเหตุการณ์โดรนลึกลับบินเข้าโจมตีคลังนํ้ามัน 2 แห่งในประเทศซาอุดีอาระเบียเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (14 กันยายน) โดยคลังนํ้ามันดังกล่าวตั้งอยู่ในแหล่งผลิตนํ้ามันใหญ่ที่สุดในซาอุดีอาระเบียและเป็นของบริษัท ซาอุดี อารามโค ยักษ์ ใหญ่บริษัทพลังงานอันดับ 1 ของ โลก ความเสียหายและการปิดซ่อม ชั่วคราวหลังเกิดเหตุทำให้กำลังการ ผลิตนํ้ามันของซาอุฯหายไปครึ่งหนึ่งจากที่ผลิตได้ในปัจจุบัน หรือหายไปวันละ 5.7 ล้านบาร์เรล นับเป็นความสูญเสียปริมาณการผลิตครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ (ดังกราฟิกประกอบ)

 

ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคลังนํ้ามัน 2 แห่งที่แหล่งผลิต นํ้ามัน Abqaiq และ Khurais ของบริษัทซาอุดี อารามโค เกิดขึ้นจากการโจมตีทางอากาศโดยเครื่องบินไร้คนขับ หรือ “โดรน” กว่า 10 ลำ ซึ่งต่อมากลุ่มกบฏฮูตีในประเทศเยเมนที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านได้ออกมาประกาศแสดงตัวว่าทางกลุ่มอยู่เบื้องหลังการโจมตีครั้งนี้ แม้ว่าทางบริษัท อารามโคจะออกมาแถลงว่าสามารถกลับมาผลิตนํ้ามันได้แล้ว 1 ใน 3 หรือประมาณ 2 ล้านบาร์เรลในวันจันทร์ (16 ก.ย.) แต่ก็อาจจะต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์กว่าซ่อมแซมทุกส่วนได้สำเร็จและฟื้นกำลังการผลิตกลับมาสู่ระดับปกติ

ราคาพุ่งทุบสถิติรอบ10ปี

ระหว่างนี้ราคานํ้ามันดิบในตลาดโลกทะยานสูงทุบสถิติที่เคยมีมา โดยราคานํ้ามันดิบเบรนท์ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าของลอนดอน พุ่งขึ้นสูงสุด 19.5% ไปอยู่ที่ระดับ 71.95 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล เมื่อเปิดตลาด ก่อนที่จะปรับลดลงเล็กน้อยมาปิดตลาดที่ 69.02 ดอลลาร์/บาร์เรล หรือเพิ่มขึ้น 14.6% ด้านนํ้ามันดิบเวสต์เท็กซัสของสหรัฐฯทำราคาซื้อขายล่วงหน้าพุ่งขึ้นทุบสถิติเช่นเดียวกัน โดยเปิดตลาดพุ่งขึ้น 15.5% ไปถึง 63.34 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล นับเป็นการปรับตัวสูงขึ้นมากที่สุดในรอบ 11 ปี (นับตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2008) ก่อนจะลงมาปิดตลาดที่ 62.9 ดอลลาร์/บาร์เรล หรือเพิ่มขึ้น 14.8%

ถล่มคลังน้ำมันซาอุฯ จุดเปราะบางออยล์ช็อก

แอชลีย์ ปีเตอร์สัน นักวิเคราะห์ตลาดนํ้ามัน บริษัทที่ปรึกษา สตราทัส แอดไวเซอร์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้ว่าบริษัท อารามโค จะสามารถซ่อมแซมความเสียหายและฟื้นกำลังการผลิตได้เร็วหรือช้าเพียงใด เพราะนี่คือสิ่งที่จะมีผลต่อราคานํ้ามันดิบโลกอย่างแท้จริง “เราจำเป็นต้องรู้ว่านี่คือการชะงักงันทางการผลิตเพียงแค่ 48 ชั่วโมง หรือ 4 สัปดาห์” นักวิเคราะห์กล่าว

 

ลุ้นระยะเวลาฟื้นการผลิต

รายงานระบุว่า อารามโคนั้นสามารถส่งมอบนํ้ามันให้กับลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องแม้ว่าการผลิตในแหล่งผลิต 2 แห่งที่ถูกโจมตีจะได้รับผลกระทบ แต่บริษัทสามารถระดมปริมาณนํ้ามันจากแหล่งต่างๆ ในเครือข่ายมาส่งมอบให้กับลูกค้าได้อย่างไร้รอยสะดุดในระยะหลายสัปดาห์ต่อจากนี้ และสำหรับประเทศซาอุดีอาระเบียเองซึ่งก่อนหน้าการโจมตีมีกำลังการผลิตที่ประมาณ 9.8 ล้านบาร์เรล/วัน (คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 10% ของกำลังการผลิตทั่วโลก) ก็มีนํ้ามันในคลังสำรองที่จะสามารถนำมาใช้นานนับเดือน นอกจากนี้ ซาอุฯยังมีคลังเก็บสำรองนํ้ามันทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในต่างประเทศมี 3 คลังสำคัญได้แก่ คลังนํ้ามันที่เมืองรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ คลังนํ้ามันเมืองโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น และคลังนํ้ามันเมืองซิดิ เคอเรีย ประเทศอิยิปต์

 

“เราคาดหมายว่าราคานํ้า มันดิบจะขยับสูงขึ้นมากกว่า 5% ในระยะสั้น แต่อาจขยับขึ้นไปมากกว่า 20% ถ้าผลกระทบขยายวงกว้างออกไป” บทวิเคราะห์จากบริษัทวิจัย แซนฟอร์ด ซี. เบิร์นสไตน์ แอนด์ โค ระบุ ซึ่งผลกระทบที่ขยายวงกว้างออกไปนั้น หมายรวมถึงการเผชิญหน้า ที่จะยิ่งสร้างอุณหภูมิความขัดแย้งให้เดือดระอุมากขึ้น เช่น หากซาอุดีอาระเบียและสหรัฐฯ พุ่งเป้าการตอบโต้ไปที่อิหร่านที่ทั้ง 2 ประเทศมองว่าเป็นผู้ร้ายตัวจริงที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีคลังนํ้ามันทั้ง 2 แห่งในซาอุฯ ไม่ใช่ฝีมือของกลุ่มกบฏฮูตีอย่างที่อ้าง

 

อาจไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

ด้านเอ็ด มอร์ส นักวิเคราะห์จากธนาคารซิตี้กรุ๊ป ให้ความเห็นว่า เหตุการณ์โจมตีคลังนํ้ามันที่เกิดขึ้นในซาอุดีอาระเบียให้บทสรุปหลายอย่างซึ่งนอกเหนือจากเรื่องที่ว่า ราคานํ้ามันโลกในระยะสั้นจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการฟื้นกำลังการผลิตของบ.อารามโค ว่าจะใช้เวลา 5 วันหรือมากกว่านั้น โดยระหว่างทาง สหรัฐฯได้ประกาศพร้อมเปิดคลังนํ้ามันสำรองด้านยุทธศาสตร์เพื่อนำมาใช้รักษาเสถียรภาพอุปทานนํ้ามันโลกไปพลางๆ ขณะที่สำนักงานพลังงานสากล หรือ ไออีเอ ระบุว่ากำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อช่วยบริหารการใช้ปริมาณนํ้ามันสำรองอย่างเหมาะสม แต่อีกสิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือ แหล่งผลิตในซาอุฯซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อตลาดนํ้ามันโลกนั้นสามารถถูกโจมตีได้อย่างง่ายดาย นั่นหมายถึงความเปราะบางของตลาดนํ้ามันโลกด้วยเช่นกัน ที่ผ่านมา นับตั้งแต่ที่สหรัฐฯถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์และเพิ่มมาตรการควํ่าบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่าน ก็มีการโจมตีแหล่งผลิตนํ้ามันของซาอุดีอาระเบียรวมทั้งคลังนํ้ามันของชาติอื่นๆ รอบอ่าวเปอร์เซียหลายครั้งด้วยกัน ตราบใดที่ความขัดแย้งยังคงมีอยู่ ตราบนั้นแหล่งผลิตนํ้ามันสำคัญของโลกก็ยังสุ่มเสี่ยงต่อการตกเป็นเป้าโจมตี และตลาดนํ้ามันโลกก็ยังมีเรื่องให้ต้องช็อกกันอีกต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3506 ระหว่างวันที่ 19 - 21  กันยายน 2562