เตือน 12 อำเภอเสี่ยงท่วมระลอกใหม่

17 ก.ย. 2562 | 08:55 น.

พรุ่งนี้! ร่องมรสุมถล่มยาวถึงวันที่ 21 ก.ย. สทนช.เตือน 12 อำเภอ 'ออก-ตก-ใต้ตอนบน' รับมือเสี่ยงท่วมระลอกใหม่  ส่วนโซนอีสานอาจมีฝนประปรายเน้นแผนเร่งระบายออกสู่แม่น้ำโขงเร่งด่วน เร่งแจ้งกัมพูชา-เวียดนามรับทราบสถานการณ์น้ำระบายน้ำมูลลงโขงรับมือลดผลกระทบ

เตือน 12 อำเภอเสี่ยงท่วมระลอกใหม่

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนข.) เผย ว่า ในช่วงวันที่ 18 - 21 ก.ย. 62 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศกัมพูชา ทำให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่ง     จะส่งผลดีที่จะเพิ่มปริมาณน้ำในแหล่งน้ำภาคเหนือและภาคกลางที่ยังมีปริมาณน้ำน้อย เช่น เขื่อนป่าสักฯ เขื่อนกระเสียว   ทับเสลา เป็นต้น

เตือน 12 อำเภอเสี่ยงท่วมระลอกใหม่

ส่วนพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาจากการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำไม่น่าเป็นห่วงน้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์  เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนฯ  และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ฯ ยังสามารถรองน้ำได้อีกจำนวนมาก รวมทั้งแก้มลิงธรรมชาติที่เตรียมไว้รองน้ำปริมาณน้ำฝนที่ตกท้ายเขื่อน สถานการณ์ในปัจจุบันยังถือว่าปกติ โดยปัจจุบันท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลดการระบายน้ำลด 700 ลบ.ม./วินาที และช่วงบ่ายวันนี้จะลดลงเหลือ 650 ลบ.ม./วินาที

เตือน 12 อำเภอเสี่ยงท่วมระลอกใหม่

อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีพื้นที่เฝ้าระวังที่ร่องมรสุมจะมีผลต่อพื้นที่ภาคตะวันตก  ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก  ซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ดังกล่าว โดยได้เน้นย้ำกรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตควบคุมการบริหารจัดการน้ำใน 2 เขื่อนใหญ่ คือ เขื่อนแก่งกระจาน และเขื่อนปราณบุรี  ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด ซึ่งคาดว่าจะมีในฝนตกหนักในช่วงปลายสัปดาห์นี้เป็นต้นไป และจะมีน้ำไหลเข้าเขื่อนค่อนข้างมาก

เตือน 12 อำเภอเสี่ยงท่วมระลอกใหม่

รวมถึงพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดภาวะน้ำท่วมระลอกใหม่ในระยะ 3 วันนี้ ในพื้นที่ 12 อำเภอ 6 จังหวัด ได้แก่ อ.ขลุง จ.จันทบุรี อ.คลองใหญ่ อ.บ่อไร่ อ.เกาะช้าง จ.ตราด อ.เมือง อ.กระบุรี จ.ระนอง อ.ท่ายาง อ.เมือง อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี และ อ.บางสะพาน อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์   อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ซึ่งได้แจ้งต่อที่ประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือและการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงกับภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นได้

เตือน 12 อำเภอเสี่ยงท่วมระลอกใหม่

สำหรับสถานการณ์อุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะนี้ยังมีพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมอยู่ 10 จังหวัด แต่มีพื้นที่ที่น้ำท่วมค่อนข้างรุนแรง 4 จังหวัด คือ ร้อยเอ็ด  ยโสธร  ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด และจากการเฝ้าระวัง ติดตามข้อมูลพบว่า ยังมีฝนตกในพื้นที่แต่มีปริมาณที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งปัจจุบันยังมีมวลน้ำอยู่ประมาณ 2,100 ล้าน ลบ.ม.

เตือน 12 อำเภอเสี่ยงท่วมระลอกใหม่

ดร.สมเกียรติ  กล่าวว่า ที่ผ่านมา สทนช. ได้ประสานให้หน่วยงานบริหารจัดการโดยการหน่วงน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำให้มากที่สุด  โดยเฉพาะที่เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์  ได้หยุดปล่อยน้ำเพื่อไม่ให้ปริมาณน้ำในพื้นที่เหนือเขื่อนไหลลงมาสมทบปริมาณน้ำที่ท่วมอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาเขื่อนลำปาวมีส่วนสำคัญที่ช่วยลดปริมาณน้ำท่วม หากไม่มีเขื่อนลำปาว ปริมาณอีกกว่า 1,000 ล้าน ลบ.ม. จะไหลลงมาท่วมในพื้นที่ 4 จังหวัดดังกล่าวรุนแรงกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน  

เตือน 12 อำเภอเสี่ยงท่วมระลอกใหม่

ทั้งนี้ สาเหตุหลักที่ส่งผลให้ จ.อุบลราชธานีประสบปัญหาน้ำท่วมมี 3 ปัจจัยหลัก คือ 1. น้ำมาจากลำน้ำชี 50% เพราะมีการเร่งระบายน้ำจากที่เกิดฝนตกหนักใน จ.ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด แม้ว่าเขื่อนลำปาวจะเก็บน้ำกว่า 1,000 ล้าน ลบ.ม. ก็ตาม และมีลำน้ำยังซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของลำน้ำชีแต่ไม่มีแหล่งเก็บน้ำ โดยแนวทางที่ต้องทบทวนระยะสั้น คือ ใช้ประตูน้ำในลำน้ำชีที่มีหรี่บานลงเพื่อหน่วงน้ำก่อน ส่วนในระยะกลางจะเร่งดำเนินการโครงการก่อสร้างทางผันน้ำชีตอนล่าง พร้อมอาคารประกอบ อ.เขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี งบประมาณ 310 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขุดลอกคลองเชื่อมต่อแนวตะวันตก - ออก เพื่อดึงน้ำออกจากลำน้ำชี – ยัง

เตือน 12 อำเภอเสี่ยงท่วมระลอกใหม่

โดยขณะนี้โครงการสำรวจออกแบบแล้ว สามารถดำเนินการได้ในปี’63 โดยร่วมกันระหว่างกรมชลประทาน และทหาร 2. ปริมาณส่วนที่เหลือ 25% มาจากลำน้ำมูล และลำเซบาย 25%  ซึ่งไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำเช่นเดียวกัน แนวทางเร่งด่วน คือ ต้องอั้นน้ำบางส่วนจากประตูน้ำในลำน้ำมูล และทยอยเร่งระบายน้ำออกทางแม่น้ำโขงทางเดียว 3. แม่น้ำมูลจากจังหวัดอุบลราชธานี ถึงโขงเจียมจะมีแก่งสะพือ ที่สภาพของหินในแก่งกีดขวางทางน้ำที่จะระบายลงสู่แม่น้ำโขงต้องระดมเครื่องผลักดันน้ำกว่า 260 เครื่อง ติดตั้งในแม่น้ำมูลเพื่อผลักดันน้ำออกให้เร็วที่สุด แต่เนื่องจากมวลน้ำค่อนข้างมากจึงต้องใช้ระยะเวลาในการระบายคาดว่าอีกประมาณ 20 - 25 วัน ดังนั้น แผนระยะต่อไปจึงต้องศึกษาทางผันน้ำอ้อมแก่งสะพือเพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงได้รวดเร็วขึ้นโดยเร่งด่วนต่อไป

เตือน 12 อำเภอเสี่ยงท่วมระลอกใหม่

 ดร.สมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากการจัดการน้ำในประเทศแล้ว เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมายังมีการหารือถึงการจัดการแม่น้ำระหว่างเทศ คือ แม่น้ำโขง ซึ่งได้มีการวิเคราะห์ตรงกันในสมาชิกลุ่มน้ำโขงทั้งหมดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปัจจุบัน ( climate change) ส่งผลกระทบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพฝนค่อนข้างมาก คือ ตกในระยะเวลาสั้นและปริมาณที่ตกมาก ทำให้การเตรียมตัวบอกประชาชนสั้นลง ดังนั้น สิ่งที่ต้องพิจารณาทบทวนใหม่ในเรื่องการจัดการข้อมูลน้ำ การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่ง สทนช. ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการลุ่มน้ำโขงฝ่ายไทยได้มีหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการไปยังประเทศกัมพูชาและเวียดนาม ที่เป็นประเทศท้ายน้ำว่า ปริมาณน้ำที่ไหลออกจากแม่น้ำมูลและระบายลงสู่แม่น้ำโขงเกิดจากปริมาณฝนตกสะสมไม่ใช่การระบายน้ำจากเขื่อน