เปิดเบื้องลึก! ‘สนธิรัตน์’เบรก‘กฟผ.’ นำเข้า LNG 1.5 ล้านตัน

18 ก.ย. 2562 | 03:00 น.

 

รายการห้องข่าวเศรษฐกิจ NEWSROOM ช่วง “ลึก แต่ไม่ลับ กับ บากบั่น บุญเลิศ” ซึ่งออกอากาศทางเนชั่นทีวีช่อง 22 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 10.30-11.50 น. เมื่อวันที่ 16 กันยายน พาไปเจาะลึกเบื้องหลังของการเปิดศึกกันระหว่าง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ “คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน” (กบง.) ได้มีมติให้ กฟผ. และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ดำเนินการทดลองนำร่องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีจำนวน 1.5 ล้านตัน โดยการเปิดเสรีประมูลราคาเพื่อนำเข้ามาใช้ในการผลิตไฟฟ้าให้กับ 3 โรง คือ 1. โรงไฟฟ้าบางปะกง 2. โรงไฟฟ้าวังน้อย และ 3. โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ โดย “ปิโตรนาส แอลเอ็นจี” เป็นผู้ชนะในการ เสนอราคาตํ่าสุดจากทั้งหมด 12 ราย ซึ่งจะลงนามการซื้อขายเป็นเวลา 8 ปี

กระทั่ง นายสนธิรัตน์ รมว.พลังงาน สั่งยกเลิกแผนงานดังกล่าว เป็นเหตุให้พนักงาน กฟผ. แต่งชุดดำออกมาประท้วง พร้อมๆ กับผู้บริหารของ กฟผ.ออกมาระบุว่า นโยบายของนายสนธิรัตน์ ในครั้งนี้เป็นความผิดพลาดจะทำให้กฟผ.เสียหาย ทั้งยังอาจถูกฟ้องร้องจากผู้ที่ชนะการประมูล และกฟผ.อาจสูญเสีย เครดิตในการทำสัญญาระหว่างประเทศ รวมถึงสูญเสียเครดิตในฐานะรัฐวิสาหกิจที่มีประสิทธิภาพดีเด่นจาก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ด้วย

 

เปิดเบื้องลึก!  ‘สนธิรัตน์’เบรก‘กฟผ.’ นำเข้า LNG 1.5 ล้านตัน

 

นี่คือเหตุผลหน้าฉากที่ กฟผ.หยิบยกขึ้นมาทักท้วงถึงการกระทำของนายสนธิรัตน์ รมว.พลังงาน ในครั้งนี้

ในขณะที่ยังมีข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจ ซึ่งยังไม่ได้รับการเปิดเผยในวงกว้าง โดยนายบากบั่น เล่าว่า จากการสอบถาม บอร์ด กบง.อย่างน้อย 4 รายให้ข้อมูลตรงกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า กฟผ.ยอมรับในที่ประชุมกบง.ว่า

ตัวเลขนำเข้า 1.5 ล้านตันเป็นเวลา 8 ปีนั้น เป็นตัวเลขที่ประเมินไว้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เนื่องจากแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกชและเอราวัณ มีแนวโน้มว่า อาจจะประมูลไม่ได้ และหากมีการหยุดการขุดเจาะและการส่งมอบ การขุดเจาะก๊าซเฉพาะในอ่าวไทยมาใช้ในประเทศอาจไม่เพียงพอ ดังนั้น คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จึงได้มีมติให้เปิดเสรีทดลองนำร่องการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีจากต่างประเทศเพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงาน

“3 ปีผ่านมา ปรากฏว่า สถานการณ์การขุดเจาะปริมาณนํ้ามันในอ่าวไทยมีมากกว่าความต้องการใช้ จึงเกิดเป็นคำถามในที่ประชุม กบง. โดย ปตท.ยืนยันว่า วันนี้ซัพพลายมากกว่าดีมานด์ สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ที่ระบุว่า ปริมาณความต้องการการใช้ก๊าซในประเทศในปัจจุบันหดตัวลงตามสภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ดีมานด์น้อยกว่าซัพพลายด์ และสามารถรองรับปริมาณการใช้ภายในประเทศได้อีก 3-4 ปี เป็นที่มาของคำสั่งให้ทบทวนแผนดังกล่าว”

 

สำหรับบริษัทที่ยื่นเสนอราคาในครั้งนั้นมีทั้งหมด 12 ราย ประกอบด้วย 1.เชฟรอน ยูเอสเอ อิงค์ 2.โททาล แก๊สแอนด์เพาเวอร์ เอเชียฯ 3.มารูเบนิ คอร์ปอเรชั่น 4.EmiratesNational Oil Company(Singapore) Pricate 5.กาตาร์แก๊ส 6.JERA Co.Inc. 7.Pavillion Gas Pte.Ltd. 8. ปิโตรนาส แอลเอ็นจี ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูล 9.บมจ. ปตท.10.เชลล์ อีสเทิร์น เทรดดิ้ง 11.บีพี สิงคโปร์ และ 12.Vitol Asia Pte.Ltd.

 

เปิดเบื้องลึก!  ‘สนธิรัตน์’เบรก‘กฟผ.’ นำเข้า LNG 1.5 ล้านตัน

 

“ว่ากันว่าตอนเปิดประมูลราคา ผู้ชนะ คือ ปิโตรนาส แอลเอ็นจี เสนอที่ 7.40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เอาชนะ บมจ.ปตท. ซึ่งเป็นคู่ค้ากับ กฟผ.มาอย่างยาวนานไปแบบฉิวเฉียดที่ 7.7 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล” นายบากบั่น ระบุ

ต่อเรื่องนี้ นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. ระบุว่า การยกเลิกนำเข้า LNG แม้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายแต่ผู้ปฏิบัติงานมีความมั่นใจและเชื่อใจต่อความตั้งใจจริงของฝ่ายนโยบายที่พิจารณาประโยชน์ในภาพรวมของประเทศชาติ ประโยชน์ในการพัฒนาและส่งเสริม กฟผ.ให้เจริญก้าวหน้า เป็นเสาหลักด้านพลังงานหน่วยงานหนึ่งของประเทศ

ในขณะที่จากการสอบถามบอร์ด กบง. เกี่ยวกับเหตุผลของการยกเลิกมติการนำเข้าก๊าซ LNG ในครั้งนี้นั้น กบง.ได้ตั้งคำถามกับ กฟผ.ในหลายประเด็น คือ จำนวน 1.5 ล้านตันที่มีการประมูลในครั้งนี้มีการลงนามแล้วหรือยัง กฟผ. บอกว่า ยัง

คำถามต่อมา คือ หนังสือที่ กฟผ.แจ้งกับ ปิโตรนาส นั้น เป็นหนังสือเอ็มโอยูหรือบันทึกตกลงความเข้าใจกันธรรมดา ถาม กฟผ.ว่า ถ้ายังไม่มีการลงนามตามขั้นตอนนั้นจะต้องทำอย่างไรก่อนจะมีการเซ็นสัญญา คำตอบ คือ ต้องได้รับพิจารณาอนุมัติจาก กบง.ก่อน ซึ่งถ้า กบง.ไม่อนุมัติ การประมูลก็ไม่เกิด

 

เปิดเบื้องลึก!  ‘สนธิรัตน์’เบรก‘กฟผ.’ นำเข้า LNG 1.5 ล้านตัน

 

นอกจากนี้ในที่ประชุม กบง. ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า สำหรับการประมูลรอบนี้ที่เปิดทางให้ กฟผ. นำเข้า LNG เข้ามาแทนที่จะใช้วิธีการซื้อจาก ปตท. แบบที่ผ่านมาจะส่งผลอย่างไรกับ กฟผ. ได้คำตอบว่า กฟผ.จะสามารถเป็นผู้นำเข้าก๊าซได้ในราคาที่เสรี ซึ่งก็ปรากฏแล้วว่า ได้ราคาตามที่ ปิโตรนาส ให้ที่ 7.40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ส่วนกรณีการนำเข้า 1.5 ล้านตัน เป็นเวลา 8 ปีนั้นจะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น กฟผ.กล่าวยอมรับในที่ประชุม กบง.ว่า ค่าไฟจะเพิ่มขึ้น 2 สตางค์ต่อยูนิตในอีก 1 ปีข้างหน้าเมื่อมีการนำเข้า!!! สวนทางกับข้อมูลที่ กฟผ.ให้กับสังคม ระบุว่า ค่าไฟจากการนำเข้า LNG จะลดลงแน่อย่างน้อย 2 สตางค์ต่อยูนิต

 

การที่ กฟผ. แจ้งว่า นำเข้ามาในราคาตํ่า ในขณะที่นโยบายของ กบง.ให้ไปประมูลจากตลาดขาจรราคาตํ่ากว่าราคาที่ปิโตรนาสเสนออยู่ที่ 5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตอนหนึ่งในการประชุมกฟผ.บอกว่า ตนเองจะมีภาระที่ต้องจ่ายให้กับ ปตท.เพราะกฟผ.ไม่มีคลังสินค้าเพื่อเก็บ LNG

หมายความว่า กฟผ.เตรียมการไว้แล้วใช่หรือไม่ ที่ประชุม กบง.บอกว่า ถ้ายกเลิกไป กฟผ.ก็ไม่จำเป็นต้องเสียเงินในส่วนนี้เลย ส่วนที่ระบุว่า หาก กฟผ.ยกเลิกเรื่องนี้ ในฐานะที่ เป็นรัฐวิสาหกิจจะทำให้ สคร.ปรับเรื่องผลงาน เมื่อสอบถาม นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะอดีตผอ.สคร.ยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่มีผลแต่อย่างใด

 

เปิดเบื้องลึก!  ‘สนธิรัตน์’เบรก‘กฟผ.’ นำเข้า LNG 1.5 ล้านตัน

 

อย่างไรก็ดี มีกระแสข่าวว่า รอบนี้มีคนได้และมีคนเสีย คนที่ได้ คือ ปิโตรนาส ในขณะที่ ปตท.คือ คนเสีย เพราะเคยขายก๊าซให้กับ กฟผ. มาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี อีกคนที่ได้คือ คนที่ผลักดันเรื่องนี้ ที่ร้ายกว่า นั้น ถ้าเปิดให้ กฟผ.นำเข้า LNG เข้ามา ปริมาณการนำเข้าก๊าซ LNG ครั้งนี้จะมากกว่า 30% ในสัญญาที่ กฟผ.เคยทำไว้กับ ปตท. และ กฟผ.จะเกิด Take or Pay

“เรื่องการนำเข้า LNG 1.5 ล้านตันผูกพัน 8 ปี มีผลกับค่าไฟของพวกเราทุกคน ตอนนี้นายสนธิรัตน์ รมว.พลังงานเบรกเรื่องนี้ไว้ แต่ฝ่ายปฏิบัติการยังคงเดินหน้าต่อ ถึงขนาดมีการตั้งวอร์รูมปฏิบัติการเชิงมวลชนอยู่ที่บางกรวย” นายบากบั่น ระบุ