6 เหตุผลที่เด็กไทย ควรเรียน-ทำงาน-ใช้ชีวิตที่จีน

18 ก.ย. 2562 | 02:00 น.

 

สงครามการค้า การประท้วงฮ่องกง และเศรษฐกิจที่ถดถอยลงของจีน กำลังสร้างโอกาสทางธุรกิจแบบหลากหลายมิติให้กับธุรกิจในประเทศไทย ผู้เขียนเชื่อว่าแนวโน้มนี้จะยังคงอยู่ต่อไปอีกนับ 10 ปี สิ่งที่เราเห็นเกี่ยวกับจีนในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน การท่องเที่ยว ฯลฯ ที่ดูเหมือนเพิ่มขึ้นมากแล้ว แต่หากมองจากประเทศจีนออกมา จะพบว่าสิ่งที่เราได้สัมผัสนั้นเป็นเพียงส่วนน้อยนิดเท่านั้น จึงขอเสนอให้เยาวชนไทยหาโอกาสไปรู้จักตลาดแห่งปัจจุบันและอนาคตนี้ในเชิงลึก การจะเรียนรู้เกี่ยวกับธุรกิจจีนอย่างจริงจังมีทางเดียว คือต้องไปอยู่ที่เมืองจีน คำถามคือต้องลงแรงขนาดนี้เลยหรือ ลองมาดูแนวโน้มที่สำคัญ 6 อย่าง

การลงทุนโดยตรงจากจีนมาไทยจะเพิ่มขึ้น 3 เท่าใน 5 ปี กระแสการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทย เพื่อหลีกเลี่ยงการกีดกันทางการค้าของประเทศตะวันตก มีการเติบโตแบบเห็นได้ชัดในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยตั้งแต่ปี 2559 - 2561 คำขอโครงการลงทุนโดยตรง (FDI) จากจีน (ในที่นี้รวมเขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกง) ที่ผ่านสำนักงานบีโอไอ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าตัว และล่าสุดในครึ่งแรกของปีนี้จัดอยู่อันดับ 2 เป็นรองเพียงญี่ปุ่น

จุดที่น่าคิดคือถึงแม้เม็ดเงินลงทุนจากจีน มีอัตราการเพิ่มที่สูงมาก คิดเป็นเม็ดเงินต่อปีกว่า 7 หมื่นล้านบาท แต่จากข้อมูลกระทรวงพาณิชย์จีน ไทยได้ส่วนแบ่งของเม็ดเงินจีนที่ไปลงทุนทั่วโลกเพียงไม่ถึง 0.4% ในปีที่แล้ว และเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนด้วยกันจัดอยู่อันดับ 6 รองจากสิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา และลาว ซึ่งถือว่าตํ่ากว่าที่ควรจะเป็น เมื่อคำนึงถึงสัดส่วนการค้าไทยจีน ขนาดเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

ผู้เขียนขอประเมินว่าเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากจีนจะเพิ่มขึ้น 3 เท่าใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งก็อาจจะแปลว่าไทยได้สัดส่วนเม็ดเงินลงทุนในต่างประเทศของจีนเพิ่มมาเป็น 1% และจีนจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ลงทุนต่างชาติอันดับ 1 ในไทย การลงทุนจากจีนมาไทยจะเพิ่มมิติจากเดิมที่เน้นย้ายฐานผลิตเพื่อส่งออกเป็นส่วนใหญ่ เพื่อเลี่ยงการกีดกันทางการค้า มาเป็นการลงทุนเพื่อบุกตลาดไทยและอาเซียนเพิ่มมากขึ้นด้วย เพื่อขยายฐานตลาดจากการที่เศรษฐกิจจีนเองถดถอยลง ทั้งนี้ ยังไม่นับถึงการมาหาซื้อธุรกิจไทยที่คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้น เหตุผลหนึ่งที่น่าจะเชื่อได้ว่าไทยจะได้ส่วนแบ่งการลงทุนเพิ่มขึ้น เพราะนักธุรกิจจีนกำลังให้นํ้าหนักปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ภายใต้ความไม่แน่นอนอันเกิดจากสงครามการค้าและสถานการณ์ประท้วงฮ่องกง 6 เหตุผลที่เด็กไทย  ควรเรียน-ทำงาน-ใช้ชีวิตที่จีน

นักท่องเที่ยวจีนมาไทยจะเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่าใน 5 ปี การลดลงของนักท่องเที่ยวจีนในปีนี้ จะเป็นเพียงเหตุการณ์ระยะสั้นเท่านั้น ขอประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนมาไทยจะกระโดดทะลุ 20 ล้านคนต่อปี ในอีก 5​ ปีจากนี้ ในปัจจุบัน มีชาวจีนเพียงกว่า 120 ล้านคนหรือไม่ถึง 9% ที่มีหนังสือเดินทาง ดังนั้น แนวโน้มเรื่องการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวจีน เป็นการเติบโตในเชิงโครงสร้าง ถึงแม้จะมีการถดถอยบ้าง แต่สุดท้ายก็จะกลับมาเพิ่มจำนวนสูงขึ้นต่อไป ทุกวันนี้ มูลค่า GDP ต่อหัวของจีนทะลุ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯแล้ว และมีการกระจายความเจริญสู่ภาคกลางและภาคตะวันตกเพิ่มมากขึ้น ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแบบกระจายตัวนี่เองที่จะเป็นแรงส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

กว่าครึ่งของ digital ecosystems ในไทยจะเกี่ยวกับจีน ทุกวันนี้คงไม่มีใครสงสัยถึงความก้าวลํ้าในเชิงเทคโนโลยีสาระสนเทศของจีน สังคมไร้เงินสดกลายเป็นเรื่องปกติ และรัฐบาลจีนได้ประกาศตัวเป็นผู้นำอันดับ 1 ด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ภายใน ค.ศ. 2030 กอปรกับธุรกิจกองทุนแบบ VC/PE ที่เข้มแข็งทำให้ประเทศจีนมีจำนวนบริษัทสตาร์ตอัพที่อยู่ในระดับ Unicorn ในอันดับต้นของโลก บริษัทสตาร์ตอัพเหล่านี้ กำลังมองมาที่ภูมิภาคอาเซียนสำหรับเป็นฐานในการขยายธุรกิจต่างประเทศ สำหรับประเทศไทยเอง เห็นได้ชัดแล้วว่า digital ecosystems ส่วนมากไม่ใช่บริษัทไทย ผู้เขียนขอประเมินว่า ecosystems ในอนาคตของไทยจะมีอย่างน้อยครึ่งหนึ่งเกี่ยวกับจีน ซึ่งอาจเป็นในเรื่องของการลงทุนโดยตรง การใช้เทคโนโลยีจีน หรือการใช้เงินทุนจีน

ตลาดสุขภาพและคนเกษียณจากจีนเพิ่งจะเริ่ม ตลาดที่น่าสนใจมากคือตลาดสุขภาพและตลาดวัยเกษียณของชาวจีน เพราะชาวจีนมีความกังวลเกี่ยวกับการบริการสาธารณสุขในประเทศจีน อาทิ ข่าวเรื่องวัคซีนเทียม เป็นต้น ดังนั้น ชาวจีนที่มีฐานะระดับหนึ่งจะเริ่มหาช่องทางไปรับบริการด้านสุขภาพในต่างแดน เขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกง และสหรัฐฯ เป็นเขตที่ชาวจีนให้ความสนใจ

สำหรับประเทศไทยในปีที่แล้ว มีชาวจีนกว่า 4 หมื่นคนเดินทางมารักษาสุขภาพในไทย คาดว่ากว่าครึ่งมารักษาเกี่ยวกับเรื่องการมีบุตรยาก ระดับมาตรฐานการแพทย์ของไทยกำลังเป็นที่รู้จักมากขึ้นในกลุ่มชาวจีนที่มีกำลังซื้อปานกลางขึ้นไป ผู้เขียนเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพสูงมากและจะมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด

นักศึกษาจีนสนใจศึกษาต่อในไทย แรงกดดันในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเด็กนักเรียนจีนมีสูงมาก ในปี 2562 มีนักเรียนสมัครสอบมหาวิทยาลัยสูงถึง 10.5 ล้านคน แต่อัตราการสอบติดมหาวิทยาลัยเฉลี่ยที่ระดับร้อยละ 40 กว่าเท่านั้น จากข้อมูลของสถาบันวิจัย TDRI และหนังสือพิมพ์เหรินหมิง ในปี 2560 มีนักศึกษาจีนในไทยจำนวน 37,000 คน จากทั้งหมดกว่า 6 แสนคน เป็นนักศึกษาจีนที่สหรัฐฯ กว่า 350,000 คน แต่จะมีแนวโน้มลดลงอย่างมาก เพราะทางการสหรัฐฯ ตรวจสอบการให้วีซ่านักศึกษาจีนเข้มงวดมากขึ้น ผู้เขียนเชื่อว่าตลาดนักศึกษาจีนในไทย จะมีการเติบโตอยู่ในระดับที่ดีพอสมควรในอนาคต

 

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังมีโอกาสอยู่เฉพาะกลุ่ม เมื่อพูดถึงตลาดจีน จะไม่พูดถึงการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้ เพราะชาวจีนคิดว่าการครอบครองอสังหาริมทรัพย์เสมือนหนึ่งการมีบัญชีเงินฝากประจำ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย การโอนเงินชำระค่าห้องชุดจากจีนและเขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกงรวมเป็นเงิน 4 หมื่นล้านบาทในปี 2561 เงินจำนวนนี้คิดเป็นสัดส่วน 43% ของผู้ซื้อชาวต่างชาติทั้งหมด หากมองในแง่ของจีนแล้ว เม็ดเงินที่มาซื้ออสังหาฯ ในไทยคิดเป็นเพียง 1% ของเม็ดเงินที่ซื้อในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่ตื่นเต้นมากนักกับโอกาสนี้ เนื่องจากรัฐบาลจีนเข้มงวดเรื่องการโอนเงินออกมาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และจะยังเข้มงวดไปอีกนาน ประกอบกับผลตอบแทนค่าเช่าของห้องชุดในไทยสูงกว่าผลตอบแทนเงินฝากแบบ wealth management product ในจีนเพียงนิดเดียว แต่โอกาสยังมีอยู่ในส่วนของเม็ดเงินของชาวจีนที่อยู่นอกประเทศจีนอยู่แล้ว ตลอดจนผลพลอยได้จากการประท้วงฮ่องกง

จีนจะมาไทยมากกว่าที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันแน่นอน จะมีธุรกิจไทยที่ได้ประโยชน์ และจะมีธุรกิจไทยที่เสียประโยชน์ด้วย ผู้ที่สามารถเกาะติดกระแสนี้ได้จะต้องเป็นผู้ที่รู้จักจีนอย่างแท้จริง เพราะเศรษฐกิจมีขนาดใหญ่มาก มีระบบที่ค่อนข้างเป็นของตัวเอง จึงยากมากที่จะหาคำรวมๆ แบบสูตรสำเร็จมาบรรยายลักษณะของโอกาสจีนที่กำลังเดินหน้ามาหาไทย

 

หมายเหตุ : ความเห็นในบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรที่ผู้เขียนสังกัดอยู่แต่อย่างใด

 

คอลัมน์ลวดลายมังกร โดย : มานพ เสงี่ยมบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน China Business ธนาคารไทยพาณิชย์

เกี่ยวกับผู้เขียน :  มีประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุนและการเงินในประเทศจีนกว่า 15 ปี ในอดีตเคยเป็นนักวิเคราะห์หุ้นจีน เอ แชร์ และข้าราชการกระทรวงการคลัง จบการศึกษาปริญญาตรีด้านสารสนเทศการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท MBA มหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน สหรัฐอเมริกา

ฐานเศรษฐกิจ หน้า 4  ฉบับ 3506 วันที่ 19-21 กันยายน 2562

6 เหตุผลที่เด็กไทย  ควรเรียน-ทำงาน-ใช้ชีวิตที่จีน