มหาอำนาจ AI

15 ก.ย. 2562 | 04:31 น.

บทความโดย:

พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ

อดีตรองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และ ในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย

    หากใครได้อ่านหนังสือเรื่อง AI Superpowers: China, Silicon Valley, and the New World Order ของ Kai-Fu Lee ก็จะเห็นถึงเรื่องราวของการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเส้นทางวิวัฒนาการของประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา ก็ยิ่งพบความสามารถอันน่าทึ่งของ AI และการเป็นมหาอำนาจด้าน AI ของจีน 

   สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าก็คือการใช้ความสามารถของ AI ควบคู่ไปกับความสามารถของมนุษย์ ซึ่งในการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และเครื่องจักรนี้จะควบคุมพลังแห่งปัญญาประดิษฐ์ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ซึ่งความคาดหวังสำหรับอนาคตนั้นอยู่ที่การผสานการทำงานร่วมกันระหว่างปัญญาประดิษฐ์และมนุษย์ โดยผู้เชี่ยวชาญหลายท่านมองว่า เรากำลังอยู่ในยุคที่ขับเคลื่อนด้วย AI ที่ต้องเติมเต็มไปด้วยการเอาใจใส่และความเห็นอกเห็นใจด้วยความเป็นมนุษย์ในสังคมของเรา ไม่ใช่กลายเป็นหุ่นยนต์เต็มรูปแบบ

  แม้ว่าในการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ผ่านมาได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในแวดวงอุตสาหกรรม ทำให้สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปมีแนวโน้มที่จะขยายใหญ่ขึ้นและส่งผลกระทบที่กว้างมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมได้เกิดขึ้นมาแล้วในหลายชั่วอายุคน แต่การปฏิวัติของ AI จะผลักดันให้เกิดผลกระทบที่ชัดเจนกว่าและรวดเร็วกว่า

    แนวโน้มที่ชัดเจนคือ AI จะเป็นเทคโนโลยีเอนกประสงค์ที่ประเทศจีนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและประยุกต์ใช้ โดยการเข้าสู่อุตสาหกรรม AI ของจีนถือเป็นการเร่งความเร็วครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในการปฏิวัติอุคตสาหกรรมที่ผ่านมา ซึ่งนวัตกรรมที่ใช้ในการปฏิวัติอุตสาหกรรม ได้เปลี่ยนแปลงลักษณะของการใช้แรงงานและประเภทของงานที่ใช้ทักษะการคิดเป็นหลัก (cognitive labor) ซึ่ง AI ก็ทำให้ทั้งสองทักษะนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก 

    ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกและครั้งที่สองได้มีการเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการผลิตและยังผลักดันให้การทำงานใช้แรงงานที่มีทักษะต่ำลง เนื่องจากสิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยต้องการแรงงานที่มีทักษะสูง กลับสามารถดำเนินการได้โดยใช้แรงงานที่มีทักษะต่ำแทนได้ ซึ่งปรากฏการณ์นี้ผลักดันการสร้างงานใหม่ๆ และปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพของคนเรา โดยที่ Robert J. Gordon นักเศรษฐศาสตร์ ได้อธิบายไว้ในหนังสือเรื่อง The Rise and Fall of American Growth แต่อย่างไรก็ตาม การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สาม ได้เริ่มต้นขึ้นในปลายทศวรรษที่ 1960 ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามรูปแบบเดียวกันกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งก่อนหน้านั้น โดยสิ่งสำคัญก็คือ AI ได้ผลักดันให้เกิดผลกระทบต่อการจ้างงานที่ไม่ใช่การสร้างงานให้กับผู้มีทักษะต่ำ แต่เป็นการแทนที่งานด้วยเครื่องจักรที่ชาญฉลาดมากขึ้น โดยต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญมากขึ้นและมาแทนแรงงานทักษะต่ำ

    ผลกระทบที่เกิดขึ้นของ AI มีตั้งแต่การทำให้เกิดข้อมูลปริมาณมากขึ้นอย่างมหาศาล เกิดพลังแห่งการคำนวณและการประมวลผลที่มีประสิทธิภาพสูงมากขึ้น และเกิดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆขึ้นมากมายเกี่ยวกับการเรียนรู้เชิงลึก (deep learning) ซึ่งหากพิจารณาการพัฒนา AI ในช่วงเวลาต่างๆ สามารถแบ่งคลื่นแห่งการพัฒนา AI ได้เป็น 4 ช่วง ได้แก่:

    ในการพัฒนาในช่วงคลื่นสองลูกแรก ก็คือ Internet AI และ business AI ที่กำลังก่อร่างสร้างโลกดิจิทัล และโลกแห่งธุรกิจของมนุษย์เราขึ้นมาใหม่ ซึ่งหากมีข้อมูลมากพอก็จะทำให้เกิดความแม่นยำในการทำ AI ได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น

   ในช่วงคลื่นลูกที่สาม คือ Perception AI ซึ่งทำให้โลกทางกายภาพกลายเป็นโลกดิจิทัล และเรียนรู้ที่จะมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบ มีความเข้าใจ และมองเห็นโลกรอบๆ ตัวเราได้ง่ายยิ่งขึ้น

    คลื่นลูกสุดท้าย ที่มีผลกระทบมากที่สุด ก็คือ Autonomous AI อย่างเช่น รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง โดรนอัตโนมัติ และหุ่นยนต์อัจฉริยะ เป็นต้น

   การศึกษาเกี่ยวกับประเทศจีน โดยเฉพาะการมองเข้าไปในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของจีน จะช่วยให้เราเข้าใจแนวทาง ความคิด และแรงบันดาลใจของคนจีน ซึ่งนั่นจะทำให้สามารถเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้นว่าจีนกำลังกลายเป็นมหาอำนาจในด้าน AI ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งแรงผลักดันจากความสำเร็จของ AlphaGo ในปี 2016 ทำให้จีนได้เริ่มวางแผนที่จะเป็นผู้นำด้าน AI โดยหัวใจสำคัญที่สุดของจีนก็คือ การเปลี่ยนแปลงในระดับโลกที่ขับเคลื่อนในการเปลี่ยนแปลงสองช่วง ได้แก่ 1) การเปลี่ยนแปลงจากยุคของการค้นพบไปสู่ยุคของการดำเนินการ และ 2) การเปลี่ยนแปลงจากยุคของความเชี่ยวชาญไปสู่ยุคของข้อมูล โดยสหรัฐอเมริกาได้ครอบงำยุคของความเชี่ยวชาญ แต่จีนยังคงยืนหยัดในยุคแห่งการดำเนินการ 

   จุดแข็งของจีนก็คือ ผู้ประกอบการที่พร้อมเข้าสู่สนามรบทางการค้า ปริมาณข้อมูลที่หาที่เปรียบมิได้ และสภาพแวดล้อมของนโยบายที่สนับสนุน ต่างก็เป็นเหตุผลผลักดันให้จีนเป็นผู้นำด้าน AI ได้ไม่ยาก ซึ่งเราเรียนรู้ว่าบริษัทสตาร์ทอัพของจีนล้วนมีวัฒนธรรมทางความคิดในการลอกเลียนแบบ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากรูปแบบธุรกิจของชาวอเมริกัน และจากนั้นก็เริ่มทำการแข่งขันอย่างดุเดือดเพื่อนำมาปรับใช้และปรับให้เหมาะสมสำหรับชาวจีน ซึ่งวัฒนธรรมการลอกเลียนแบบนี่แหละ ที่ทำให้สนามรบแห่งนี้สามารถสร้างผู้ประกอบการในระดับโลกขึ้นมาได้  

 

   การประสบความสำเร็จในการก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดของจีน ทำให้ทุกคนสามารถจ่ายเงินทุกอย่างผ่านโทรศัพท์มือถือได้ ซึ่ง Mobile Payment และกิจกรรมทุกๆอย่างบนมือถือนี้เองที่เป็นตัวสร้างข้อมูลอันมหาศาล และข้อมูลมหาศาลนี้เองที่เป็นตัวผลักดันการพัฒนา AI ให้กับจีน อย่างเช่น WeChat ที่เป็นแอปพลิเคชั่นที่ครบวงจร ที่ทำให้ Tencent อาจเป็นระบบนิเวศข้อมูลที่สมบูรณ์แบบที่สุดของบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหมดของจีน  

    นอกเหนือจากผู้ประกอบการและข้อมูลแล้ว จีนยังมีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อนโยบาย โดยพวกเขาใช้ผู้ประกอบการและนวัตกรรมจำนวนมาก และมีการส่งเสริมระบบนิเวศของธุรกิจสตาร์ทอัพโดยการสนับสนุนด้านนวัตกรรม รัฐบาลจีนพยายามที่จะผลักดันการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานทางเศรษฐกิจของพวกเขา โดยเปลี่ยนจากการเติบโตที่อาศัยภาคการผลิตไปสู่การเติบโตที่อาศัยนวัตกรรม 

    โดยหลักการรัฐบาลจีนจะให้ความสำคัญกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ โดยจะทำการสำรวจ แต่ไม่ได้เป็นการชะลอการใช้งานเทคโนโลยี ดังนั้นวัฒนธรรมทางการเมืองที่มีประโยชน์กับเทคโนโลยีของจีน จะสามารถปูทางไปสู่การปรับใช้นวัตกรรมที่เปลี่ยนเกมไปสู่ชัยชนะได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

    ซึ่งในทศวรรษที่ผ่านมาผู้ประกอบการระดับโลกของจีนจะใช้การเรียนรู้อย่างลึกซึ้งกับปัญหาต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการปรับใช้ AI ในเกือบทุกอุตสาหกรรม ซึ่งยุทธศาสตร์ AI ของจีนไม่เพียงแต่การพัฒนาในประเทศเท่านั้น แต่ยังมีการสร้างความร่วมมือในการพัฒนา AI กับ Silicon Valley และมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสมกับท้องถิ่น (localization) มากขึ้น ซึ่ง AI มีความชาญฉลาดในการปรับเปลี่ยนดังกล่าวมากกว่าการให้บริการอินเทอร์เน็ตในยุคก่อนหน้านี้มาก 

    ความแตกต่างระหว่างผลิตภัณฑ์ที่ชาวจีนชื่นชอบกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมาตรฐานระดับโลกทุกประเภท จะกลายเป็นช่องทางที่คู่แข่งในประเทศจีนสามารถเอาชนะคู่แข่งในระดับโลกได้  นอกจากนี้บริษัทในสหรัฐอเมริกาและจีนยังใช้วิธีการที่แตกต่างกันมากในตลาดโลก ในขณะที่ยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาพยายามที่จะเอาชนะตลาดเหล่านี้ด้วยตนเอง แต่จีนกำลังเริ่มธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศตนเอง แนวทางของจีนที่ใช้วิธีการสร้างความร่วมมือมากกว่าการเอาชนะ อาจพิสูจน์ได้ว่าเหมาะสมกับยุคโลกาภิวัตน์ทางเทคโนโลยี ที่ต้องใช้ทั้งผู้เชี่ยวชาญและการรวบรวมข้อมูลในท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเองในอินเดียที่จำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการเดินถนนของคนในบังกาลอร์เท่านั้น 

    ตำแหน่งผู้นำด้าน AI ของประเทศจีนจะเปลี่ยนดุลอำนาจของโลก ซึ่งจุดที่น่าสนใจคือแอปพลิเคชั่นในโลกแห่งความเป็นจริงของ AI จะทำให้เกิดผลผลิตที่เพิ่มขึ้นในระดับที่มองไม่เห็นนับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งจากการศึกษาของ PWC ได้คาดการณ์ว่าแอปพลิเคชั่นในโลกแห่งความจริงเหล่านี้ จะทำให้ GDP ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 14% หรือประมาณ 15.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2030 โดยคาดว่าจีนจะมี GDP เพิ่มขึ้น 7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และอเมริกาเหนือจะมี GDP เพิ่มขึ้น 3.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ  

    ภัยคุกคามที่แท้จริงที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ก็คือความสับสนวุ่นวายทางสังคมขนาดใหญ่ และการล่มสลายทางการเมืองอันเนื่องมาจากการว่างงานที่มีเพิ่มมากขึ้นและความไม่เท่าเทียมในสังคม อันเนื่องมาจากไม่สามารถปรับรูปแบบการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน AI จึงทำให้หลายประเทศอาจประสพปัญหาด้านแรงงานที่ไม่สามารถทำงานได้กับโลกใหม่ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ตำแหน่งงานหายไปจากโลก แต่หมายความถึงตำแหน่งงานใหม่มากมายที่เกิดขึ้นไม่สามารถมีคนเข้าไปทำได้เพราะ skill ไม่ถึง ซึ่งในยุคอุตสาหกรรมนี้ทำให้เรามองว่าบทบาทและสถานภาพหลักทางสังคมของมนุษย์ ก็คือการที่มนุษย์สามารถทำงานที่มีประสิทธิผลและได้รับค่าจ้าง แต่ในยุคที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่นั้น จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงในความคิด วัฒนธรรม และค่านิยมของมนุษย์ โดยการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมสามารถเกิดขึ้นได้จากนโยบายที่ทันสมัยของรัฐบาล

มหาอำนาจ AI