บิ๊กอสังหาฯ ยื่น 3 ข้อเสนอ ขอรัฐผ่าทางตันตลาด

14 ก.ย. 2562 | 03:10 น.

หลังจากรัฐบาล โดยนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ส่งสัญญาณจ่อเรียก 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ พร้อมผู้ประกอบการและภาคธนาคาร เข้าพูดคุย ถกทางออก ปลดล็อกกำลังซื้อฝืด หามาตรการกระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัย ล่าสุด บิ๊กอสังหาฯ ระบุ 3 โจทย์ใหญ่ ทางตันผู้ประกอบการ ขอรัฐแก้ไข 

 

นายอธิป พีชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยภาพรวมตลาดอสังหาฯในปี 2562 คาดว่าจะอยู่ในระดับ0-ติดลบ10 จากปัจจุบันที่ติดลบที่ 5%  จากสภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งมาจากผลพ่วงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน  ส่งผลต่อกำลังซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับธนาคารพาณิชย์มีความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อที่เข้มงวดมากกว่าปกติ  ทำให้ปัจจุบันการขายโครงการต่างๆมีการขายที่ช้าขึ้นและยอดขายไม่เป็นไปตามที่ผู้ประกอบการคาดการณ์ไว้ และส่งผลมาถึงการตัดสินใจของผู้ประกอบการหลายรายเลื่อนการเปิดโครงการใหม่ในปี 2562 ไปเป็นปี 2563 แทน
 
ส่วนกรณี รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม เฟสแรก  3 แสนล้านบาท โดยส่วนหนึ่งออกวงเงินกู้สินเชื่อดอกเบี้่ยต่ำ 5 หมื่นล้านบาทผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์ฯ (ธอส.)นั้น ส่วนตัว มองว่าไม่เป็นประโยชน์ เพราะส่วนใหญ่มีการกู้ไม่ผ่าน  เพราะธนาคารและสถาบันการเงินมีเรื่อง KPI ของรัฐกดดันอยู่ ทำให้ธนาคารของรัฐไม่กล้าปล่อยสินเชื่อมากนัก 

" ควรให้แบงก์รัฐมาถ่วงดุล เพื่อปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำมาแข่งกับแบงก์เอกชน และทำให้แบงก์รัฐปล่อยกู้ได้ง่ายขึ้น ประชาชนก็จะเข้าถึงสินเชื่อบ้านได้มากขึ้น  อย่างไรก็ตาม หากปัจจัยภายนอกดีขึ้น ค่าเงินบาทอ่อนลง รัภาคธุรกิจส่งออกและท่องเที่ยวคงฟื้นตัวไม่เกินไตรมาส4 คาดภาพรวมเศรษฐกิจและอสังหาฯจะดีขึ้นมาบ้าง”นายอธิป กล่าว
 
นอกจากนี้ นายอธิป ยังกล่าวถึง การที่ภาครัฐเตรียมเชิญตัวแทนจาก 3 สมาคมอสังหาฯริมทรัพย์ไปร่วมปรึกษาหารือเพื่อเรียกความเชื่อมั่น และกระตุ้นตลาดอสังหาฯให้ฟื้นตัว ว่าคาดรัฐบาลอาจจะเชิญผู้ประกอกบการไปหารือเรื่องต่างๆ โดยเรื่องที่ต้องการให้มีการพิจารณาใหญ่ 3 ประการนั้น ได้แก่

1. ขอให้มีการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆสำหรับผู้ประกอบการ เพราะที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน การขออนุญาตต่างๆ เพื่อก่อสร้างโครงการจากหน่วยงานภาครัฐ ประสบปัญหามาโดยตลอด จึงต้องการให้ภาครัฐ ลดขั้นตอนการดำเนินงาน และลดจำนวนเอกสารลง รวมไปถึงลดระยะเวลาการพิจารณาให้เร็วขึ้น หลังจากบางส่วนถูกเก็บไว้นานเกินไป จนเมื่อนำมาตรวจสอบ กลับพบว่าต้องดำเนินการใหม่ตั้งแต่ต้น 
 
2.การขออนุญาตจัดทำรายการการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จาก สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพราะที่ผ่านมามีผู้ประกอบการบางบริษัท ไม่ได้มีการจัดทำ EIA จริง กลายเป็นโครงการไม่มีคุณภาพ  หลังจากมีบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการเป็นที่ปรึกษา EIA เพียง 10 รายเท่านั้น ส่งผลทำให้ราคาการจัดทำ EIA ปัจจุบันมีราคา พุ่งไปถึง 3 ล้านบาท/เล่ม/โครงการ จากอดีตในราคา 2 -3 แสนบาท/เล่ม/โครงการเท่านั้น  เช่นเดียวกับแนวทางการปฏิบัติของกรรมการ ซึ่งที่ผ่านมาไม่ค่อยมีมาตรฐานเท่าที่ควร จึงอยากให้รัฐกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจนกว่านี้
 
และ 3.กฎหมายลูกภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เสนอให้ควรองค์กรหรือภาคต่างๆที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้เห็นร่างดังกล่าวก่อนที่ประกาศใช้ด้วย เพื่อความเป็นธรรมต่อการบังคับใช้ 

บิ๊กอสังหาฯ ยื่น 3 ข้อเสนอ ขอรัฐผ่าทางตันตลาด