ตามล่าขาใหญ่ ข้าว“เจียเม้ง” เจ้าหนี้4.4พันล้านสั่งลุย!

14 ก.ย. 2562 | 05:25 น.

คอลัมน์ข่าวห้ามเขียน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3505 หน้า 20 ระหว่างวันที่ 15-18 ก.ย.2562 โดย... พรานบุญ
 

ตามล่าขาใหญ่ 
ข้าว“เจียเม้ง” 
เจ้าหนี้4.4พันล้านสั่งลุย!

 

          มาตามสัญญา มาตามหัวใจเรียกหา เมื่อลมหนาวหวนมา ชาวนาต้องตื่นจากหลับไหล! เสียงสนั่นดังลั่นจากพงไพร เมื่อพ่อพรานฯบอกขานมาตั้งแต่สัปดาห์ก่อนว่า จะพาคุณผู้อ่านล่องไพรไปตามล่า“ขาใหญ่เจียเม้ง” ที่เกี่ยวพันกับการโกงจำนำข้าวที่สร้างความเสียหายอันมหาศาลร่วม 2 แสนล้านบาท
          เพราะในคำตัดสินของศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์แก้ ให้จำคุกบุญทรง เตริยาภิรมย์ จำเลยที่ 2 เพิ่มอีก 6 ปี จากโทษเดิม 42 ปี เป็นจำคุกทั้งสิ้น 48 ปี และศาลให้ลงโทษกลุ่มบริษัทโรงสี ได้แก่ ปกรณ์ ลีศิริกุล กรรมการบริษัท จำเลยที่ 26 และประพิศ มานะธัญญา กรรมการบริษัท เจียเม้ง จำกัด จำเลยที่ 28 คนละ 4 ปี พร้อมปรับคนละ 25,000 บาท 
          นอกจากนี้ ยังให้ปรับ บริษัท เค.เอ็ม.ซี. อินเตอร์ไรซ์ (2002) จำกัด จำเลยที่ 25 และบริษัท เจียเม้ง จำกัด จำเลยที่ 27 อีกรายละ 25,000 บาท โดยศาลระบุว่าพฤติการณ์ของกลุ่มโรงสี จำเลยที่ 23, 26, 28 นั้น เห็นสมควรให้รอลงอาญาไว้คนละ 3 ปี
นอกจากนี้ ยังให้กลุ่มโรงสีจำเลยที่ 22-23 ชดใช้เงิน 27 ล้านบาทให้กับกระทรวงการคลัง ส่วนจำเลยที่ 25-26 รวมกันชำระเงิน 15 ล้านบาท 
          ขณะเดียวกันศาลฎีกายังตัดสินให้จำเลยที่ 27-28 คือบริษัท เจียเม้งฯ กับเจ๊ประพิศ ให้ร่วมกันชดใช้เงิน 55 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปีนับแต่วันที่ได้มีการกำหนดในคำพิพากษานี้ตามที่อัยการสูงสุดโจทก์ยื่นอุทธรณ์ 
          บริษัท เจียเม้งฯ เป็นใคร!เป็นยักษ์ใหญ่แค่ไหน เจ๊ประพิศ มานะธัญญา เป็นใคร คนเขาสงสัยกันทั้งท้องทุ่ง ทำไมในชั้นฎีกาตอนแรกจึงหลุดแล้วทำไมตอนอุทธรณ์จึงติดคุก และต้องหาเงินมาชำระ 55 ล้านบาท!
          เจียเม้งนั้นถือเป็นขาใหญ่ในธุรกิจค้าข้าว โดยเฉพาะในพื้นที่โคราชภาคอีสาน แตกเผ่าเหล่ากอมาจาก บริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด ผู้ผลิต และจัดจำหน่ายข้าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้แบรนด์ “หงษ์ทอง”และหงษ์อื่นๆที่ขยายตลาดส่งออกได้มากกว่า50 ประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และหลายประเทศในยุโรปและเอเชีย มูลค่าการส่งออกปีละ 10,000 ล้านบาท ภายใต้การขับเคลื่อนของบริษัท เจียเม้งมาร์เก็ตติ้ง จำกัด เครือข่ายธุรกิจในกลุ่มใหญ่ไม่ใหญ่ดูเอาเอง...

          พรานฯทราบมาว่า ตั้งแต่เผชิญชะตากรรมบ่วงกรรมจำนำข้าว บริษัท เจียเม้งฯ ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ เพราะหนี้ท่วมหัวรวม 4,480 ล้านบาท มีเจ้าหนี้ 37 ราย เป็นสถาบันการเงิน 7 แห่ง เงินรวม 3,480 ล้านบาท มีเจ้าหนี้การค้าและหน่วยราชการ 30 ราย หนี้รวม 996.3 ล้านบาท 
          ปรากฏว่า เจ้าหนี้ 12 ราย รวมตัวกันยื่นคัดค้านแผนพื้นฟูกิจการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย, บจก.เอกอุดมค้าข้าว, มาโนชญ์ โสภณัตถกิจ, บจก.โกบอลโพรเคียวเม้นท์ พีทีวาย, บจก.โรงสีชัยวานิชวัฒนา, หจก.โรงสีท่าแหสมบูรณ์ทรัพย์, วิรัช ฐิติโภคา, หจก.ข้าวไทยรุ่งเรือง,สวิตา จามสุวรรณ,บรรจง ตั้งจิตรวัฒนากุล,กรมการค้าต่างประเทศ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย
เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการมีปัญหา แถมเจ๊ประพิศถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุก 4 ปี ถูกปรับทางแพ่งอีก 55 ล้านบาท เจียเม้ง และเจ๊ประพิศ จักทำฉันใด!
          พรานฯท่องไพรไปในแวดวงการเงินพบว่า ถึงตอนนี้บรรดาเจ้าหนี้วิ่งกันฝุ่นตลบสั่งการเจ้าหน้าที่ธนาคารทำการตรวจสอบสินทรัพย์หนี้สินเจียเม้ง-เจ๊ประพิศ บริษัทลูก บริษัทร่วม บัญชีจริง บัญชีแฝง อีกระลอก 
          พรานฯแอบได้ยินมาว่า ผู้ใหญ่สั่งเจ้าหน้าที่แบงก์มาว่า ยึดได้ยึด ร้องได้ร้อง อายัดได้ขออายัด! ไอ้หยา อนาคตเจี่ยเม้งสลบแน่ถ้าเป็นพรรค์นี้... 
          แล้วถึงตอนนี้ชีพจรบรรดาโรงสีและเจียเม้งนี่เป็นเช่นไร! 
          บริษัท เค.เอ็ม.ซี. อินเตอร์ไรซ์ (2002)ฯ จดทะเบียน 23 ก.ค. 23 ตั้งอยู่ที่ ต.บึงเนียม อ.เมือง จ.ขอนแก่น (ยังดำเนินกิจการอยู่) /ทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท /ประกอบธุรกิจ ตอนจดทะเบียน ประกอบกิจการโรงสีข้าว ขายส่งเมล็ดข้าวและพันธุ์พืช กรรมการ 1.ทีปกร ลีศิริกุล 2.วิจิตร ชาตะมีนา 3.ชัยกร ลีศิริกุล 
          งบการเงินปี 2560 สินทรัพย์รวม 613.9 ล้านบาท / หนี้สินรวม 574.5 ล้านบาท / รายได้รวม 934.4 ล้านบาท รายจ่ายรวม 927.9 ล้านบาท /ขาดทุน 22 ล้านบาท 
          บริษัท ชัยมงคลรุ่งเรืองการเกษตร จำกัด จดทะเบียน 9 พ.ย. 31 ตั้งอยู่ที่ ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท กรรรมการ 1.ทีปกร ลีศิริกุล 2.วิจิตร ชาตะมีนา 
          งบการเงิน ปี 2560 สินทรัพย์รวม 34.4 ล้านบาท /หนี้สินรวม 2.9 ล้านบาท / รายได้รวม 61.6 ล้านบาท / รายจ่ายรวม 64.7 ล้านบาท / ขาดทุน 7.9 ล้านบาท 
          บริษัท เจียเม้ง จำกัด จดทะเบียน 6 ก.ย. 36 ตั้งอยู่ที่ ต.หนองงูเหลือม อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท / ประกอบธุรกิจ การผลิตผลิตภัณฑ์อื่นๆจากธัญพืช (ข้าว) / กรรมการ ประพิศ มานะธัญญา 
          งบการเงินปี 2561  สินทรัพย์รวม 1.7 พันล้านบาท / หนี้สินรวม 5.1 พันล้านบาท / รายได้รวม 386 ล้านบาท (ปี2560 รายได้รวม 1.6 พันล้านบาท ) /รายจ่ายรวม 617 ล้านบาท / ขาดทุน 777.7 ล้านบาท

          อีเห็นแอบกระซิบพรานฯมาว่าถึงตอนนี้บรรดาโรงสีและกิจการทั้งหมดที่เข้าไปเกี่ยวพันกับคดีจำนำข้าว กำลังโดนบ่วงกรรมจำนำข้าวรัดคออย่างหนักหน่วง เงินในบัญชีมีปัญหา คนที่เคยค้าขายกันหันมามองด้วยความคลางแคลงใจ จะค้าจะขายทำไม่ง่ายเหมือนเดิม ธนาคารเจ้าหนี้สั่งหยุดบัญชีจิปาถะบันเทิง ตายละเหวย ตายละวา!
          เกษตรกรชาวนาอย่าเผลอไปทำการค้า การขายข้าวกับพวกนี้เชียวนา...นังบ่างออกโรงเตือน
          เพราะอะไรนะหรือ ไปดูคำตัดสินของศาลจะเห็นภาพ และคำตัดสินนั้นยืนตามความคิดเห้นส่วนตนของ“อภิรัตน์ ลัดพลี” 1 ในองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาเป๊ะ
          ท่านผู้พิพากษาอภิรัตน์ระบุว่า ...บริษัท เจียเม้ง จำกัด (จำเลยที่ 27) และประพิศ มานะธัญญา กรรมการบริษัท เจียเม้ง จำกัด (จำเลยที่ 28) กระทำการใช้แคชเชียร์เช็ควงเงิน 165 ล้านบาท สั่งจ่ายกรมการค้าต่างประเทศ ซื้อและได้รับมอบข้าว ซึ่งเป็นข้าวตามสัญญาฉบับที่ 1 และเก็บรักษาอยู่ในคลังสินค้าที่ จ.นครสวรรค์ โดยไม่ปรากฏว่า ได้รับมอบข้าวจากคลังสินค้าอื่นอีก
          ปัญหามีว่า จำเลยที่ 27-28 รู้หรือไม่ว่า มีการทุจริตนำข้าวตามสัญญาแบบจีทูจีดังกล่าวมาขายนั้น ในเรื่องนี้จำเลยให้การต่อสู้ว่า ติดต่อซื้อข้าวดังกล่าวจากบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด (จำเลยที่ 10) ผ่านนายนิมล ซึ่งเป็นการซื้อโดยสุจริตในราคาท้องตลาด ไม่ทราบว่า เป็นข้าวที่มาจากสัญญาขายแบบจีทูจี
          เห็นว่า จำเลยที่ 27-28 ประกอบกิจการค้าข้าวมานาน และเป็นผู้ค้าข้าวรายใหญ่ของประเทศ การซื้อข้าวดังกล่าวเป็นเวลาภายหลังที่มีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) เกี่ยวกับการทุจริตในการระบายข้าวแบบจีทูจี มีการถ่ายทอดทางวิทยุและโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับการทุจริตในการทำสัญญาจีทูจี อย่างต่อเนื่อง 
          จำเลยที่ 28 เป็นผู้ที่อยู่ในวงการค้าข้าวยิ่งมีโอกาสทราบมากกว่าประชาชนทั่วไปว่า บริษัท สยามอินดิก้าฯ และนายนิมล ถูกอภิปรายพาดพิงเกี่ยวข้องในขบวนการทุจริต นำข้าวที่มีการแอบอ้างทำสัญญาแบบจีทูจีมาขายแก่ผู้ประกอบการค้าข้าว แต่ยังคงติดต่อซื้อข้าวจากบริษัท สยามอินดิก้าฯ และนายนิมล และกลับสั่งจ่ายแคชเชียร์เช็คแก่กรมการค้าต่างประเทศซึ่งไม่ได้เป็นคู่สัญญา ทั้งเป็นการซื้อในราคาที่ต่ำกว่าตลาด 
          พฤติการณ์ดังกล่าว จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 27-28 รู้อยู่แล้วว่า มีการทุจริตนำข้าวตามสัญญาแบบจีทูจีมาขาย การที่จำเลย ร่วมกันซื้อข้าวและรับมอบข้าวบางส่วนจึงเป็นความผิดฐานสนับสนุนจำเลยที่ 1-2 และ 4-6
          นี่จึงเป็นที่มาของโทษคุก 4 ปี และหาเงินมาจ่าย 55 ล้านบาท ถ้าไม่มี โดนคุกแน่ๆ...ใครอย่าไปยุ่งเชียว กรรมติดจรวด!

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Big Story บ่วงกรรม จำนำข้าว