800 รายยังไม่พอ สั่งบูมธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ

13 ก.ย. 2562 | 10:44 น.

“วีรศักดิ์” สั่งการกรมพัฒน์ บูมธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ หวั่นขาดแคลนโตไม่ทันความต้องการของตลาด ชี้ 800 รายในปัจจุบันยังไม่เพียงพอ ย้ำต้องได้มาตรฐานสากล พร้อมสร้างแรงจูงใจให้มีการลงทุนเพิ่ม รองรับความต้องการใช้บริการที่โตแบบก้าวกระโดดทั้งจากในและต่างประเทศ ช่วยดึงเม็ดเงินเข้าประเทศได้อีกมหาศาล

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า  จากการสำรวจพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ จำนวนทั้งสิ้น 800 ราย แบ่งเป็น นิติบุคคล จำนวน 341 ราย คิดเป็นสัดส่วน 42.63% ทุนจดทะเบียนรวม 2,136.39 ล้านบาท และบุคคลธรรมดา จำนวน 459 ราย คิดเป็นสัดส่วน 57.37% ในขณะที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างเต็มรูปแบบในอีก 1-2 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าในปี 2563 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปี ราว 13 ล้านคน และในปี 2573 จะมีผู้สูงอายุเกินกว่า 18 ล้านคน หรือ 27% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ (ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ซึ่งไม่เพียงเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่ทั่วโลกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็จะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกา และประเทศในกลุ่มนอร์ดิก เช่น ไอซ์แลนด์ และฟินแลนด์ เป็นต้น

 800 รายยังไม่พอ สั่งบูมธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ

ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนของจำนวนผู้สูงอายุในประเทศกับจำนวนธุรกิจดูแลผู้สูงอายุจะเห็นได้ว่าธุรกิจดูแลผู้สูงอายุยังคงขาดแคลนและโตไม่ทันตามความต้องการของตลาด จึงได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เร่งพัฒนาธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในประเทศให้มีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล พร้อมหาวิธีสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจเข้ามาลงทุนในธุรกิจดูแลผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยให้ได้รับการดูแลที่ดีขึ้น นอกเหนือจากรัฐสวัสดิการที่รัฐบาลได้จัดสรรให้ และถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้สูงอายุในการใช้ชีวิตหลังวัยเกษียณ ซึ่งปัจจุบันบุตรหลานมักจะเลือกใช้บริการธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในประเทศในการดูแลบุพการีหรือผู้สูงวัย ฉะนั้นธุรกิจดูแลผู้สูงอายุของประเทศไทยจึงมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

          “นอกจากนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีของไทยในการสร้างรายได้เข้าประเทศจากธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ที่ชาวต่างชาติมักจะเดินทางเข้ามาใช้ชีวิตช่วงบั้นปลายในประเทศไทย เนื่องจากไทยมีความพร้อมและมีความได้เปรียบหลายด้าน เช่น คนไทยมีหัวใจรักบริการ ค่าใช้จ่ายมีความสมเหตุผล มีสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่พักผ่อนที่หลากหลาย นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีสถานบริการทางการแพทย์และสถานบริการสุขภาพที่ครบครัน ซึ่งจากองค์ประกอบที่ครบถ้วนนี้ ทำให้ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุของไทยสามารถตอบโจทย์ผู้สูงอายุจากทั่วทุกมุมโลกได้ครบทุกมิติ”

 

 

 อย่างไรก็ดีการที่ประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในระดับภูมิภาคได้ จำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีความรู้และทักษะเฉพาะ ได้แก่ แพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยการพยาบาล นักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ และนักกิจกรรมบำบัด รวมทั้ง ต้องมีสถานบริการและการบริหารจัดการที่ได้มาตรฐานสากล ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะเข้ามาดูแลเรื่องมาตรฐานการบริหารจัดการฯ โดยเน้นการส่งเสริมพัฒนาให้มีมาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจ ประกอบด้วย 1.การสร้างองค์ความรู้ และเสริมสร้างศักยภาพด้านการบริหารจัดการ 2. พัฒนาธุรกิจบริการสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพตามแนวทางของรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA) 3. สร้างโอกาสทางการตลาดและเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจดูแลผู้สูงอายุที่มีศักยภาพกับตลาดผ่านแพลตฟอร์ม หรือช่องทางการตลาดของกลุ่ม Startup ที่เกี่ยวข้อง

 

         

 800 รายยังไม่พอ สั่งบูมธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุยังเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลากหลายประเภท เช่น บริการออกแบบที่พักอาศัย การท่องเที่ยว บริการความงาม โรงพยาบาล ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต โรงเรียนสอนบุคลากรดูแลผู้สูงวัย การค้าออนไลน์ การทำธุรกรรมออนไลน์ และการบริการหลังความตาย ฯลฯ เป็นต้น ดั้งนั้น การเติบโตของธุรกิจดูแลผู้สูงอายุจึงเป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจและสร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 5 รูปแบบ คือ 1) บ้านพักคนชรา (residential Home)  2) สถานบริการช่วยเหลือในการดำรงชีวิต (Assisted Living) 3) สถานบริบาล (Nursing Home) 4) สถานดูแลระยะยาวในโรงพยาบาล (Long-term Care Hospital) และ 5) สถานดูแลระยะสุดท้าย (Hospice Care)