ผู้ตรวจฯยื่นนายกฯเสนอครม.สั่งยกเลิกสาร“พาราควอต”

13 ก.ย. 2562 | 07:50 น.

 

ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งหนังสือถึงนายกฯ ให้นำเรื่องเข้า ครม. สั่งขึ้นบัญชีดำสารอันตรายพาราควอต 1 ม.ค.63 เล็งยื่นป.ป.ช.เอาผิดหัวหน้าหน่วยงานรัฐหากไม่ปฏิบัติตาม

วันนี้ (13 ก.ย.)  นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีลงในวันนี้ ขอให้นำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรม ออกประกาศเพื่อปรับระดับการควบคุมพาราควอตให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4  หรือห้ามนำเข้า หรือห้ามจำหน่าย ห้ามมีไว้ในครอบครอง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 เป็นต้นไป 

ทั้งนี้เนื่องจากเห็นว่า ปัญหาการใช้สารเคมีพาราควอตยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง มีการใช้อย่างเสรี โดยยังไม่มีมาตรการควบคุมการใช้ในภาคการเกษตรทำให้ผู้ใช้ขาดความระวัง หรือป้องกันการปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม เสี่ยงต่อชีวิตและร่างกายของผู้ใช้ ทั้งจากอุบัติเหตุและจากการสัมผัสสารเคมีปนเปื้อนทั่วไป ซึ่งผู้ตรวจฯ ได้มีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานดำเนินการปรับปรุงประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อยกเลิกการใช้พาราควอตให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่เดือนธันวาคม 2561 ที่ผู้ตรวจฯ ได้มีหนังสือแจ้งครั้งแรก ต่อมากระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายยังคงอนุญาตให้ใช้สารพาราควอตได้ ภายใต้มาตรการจำกัดการใช้ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจะมีผลบังคับวันที่ 20 ตุลาคมนี้ 

"ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผู้ตรวจฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2562 ตามกระบวนการของกฎหมายของผู้ตรวจการแผ่นดิน และขอให้กระทรวงอุตสาหกรรม และคณะกรรมการวัตถุอันตรายดำเนินการออกประกาศให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน แต่กระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่ายังไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินได้ เรื่องดังกล่าวจึงยังไม่อาจหาข้อยุติได้ ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงต้องดำเนินการตามกฎหมายเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ"

                                              ผู้ตรวจฯยื่นนายกฯเสนอครม.สั่งยกเลิกสาร“พาราควอต”

 

นายรักษเกชา ยังกล่าวด้วยว่า หนังสือของผู้ตรวจฯ ถึงนายกรัฐมนตรีจะมีรายละเอียดถึงความเป็นอันตราย ความเสี่ยงภัยที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน หากยังคงให้มีการใช้สารอันตรายดังกล่าวอยู่ และเน้นย้ำถึงหน้าที่ของรัฐที่จะต้องตระหนักถึงพิษร้ายของสารเคมี ที่ทำให้ประชาชนมีโอกาสเจ็บป่วยเรื้อรัง สูญเสียชีวิตและร่างกาย หรือการบริโภคผลผลิตทางการเกษตรหรือสัตว์น้ำจากแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรกรรมที่มีสารพิษตกค้าง หรือแม้กระทั่งการถ่ายทอดสารพิษตกค้างจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ รวมถึงกรณีตัวอย่างผู้ได้รับพิษของวัตถุอันตรายพาราควอตจนถึงแก่ชีวิตเกิดขึ้นแล้วในพื้นที่จังหวัดตาก 

 

อีกทั้ง กระทรวงสาธารณสุขยังได้มีความเห็นยืนยันอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนจากวัตถุอันตรายพาราควอต ส่งผลต่ออันตรายหลายระบบอวัยวะทั้งตา จมูก ปาก ผิวหนัง ปอด หัวใจ ตับ ไต สมอง และระบบประสาทส่วนกลาง หากได้รับในปริมาณมากส่งผลให้เกิดภาวะพังผืดในปอด หอบเหนื่อย ริมฝีปากสีคล้ำ ปอดบวมน้ำจนถึงเลือดออกในเนื้อเยื่อปอด ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ตับจะถูกทำลาย ทำให้เกิดอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ตับอักเสบได้  และถ้ามีการทำลายที่ไต จะทำให้สูญเสียความสมดุลของภาวะกรด ด่าง และน้ำในร่างกาย ทำให้เกิดมีสภาพเป็นกรดมากขึ้น เกิดน้ำคั่งในร่างกาย ปัสสาวะออกน้อยลง จนถึงไตวายเฉียบพลัน นำไปสู่การเสียชีวิต  
                                                          ผู้ตรวจฯยื่นนายกฯเสนอครม.สั่งยกเลิกสาร“พาราควอต”

 

ดังนั้น การปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินโดยกำหนดนโยบายระดับประเทศ เพื่อยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายพาราควอตย่อมเกิดประโยชน์ต่อประชาชน และเป็นการเริ่มต้นที่สำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภาซึ่งได้กำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนในเรื่องการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม โดยหน่วยงานของรัฐย่อมสามารถใช้ระยะเวลาช่วงเปลี่ยนผ่านพัฒนานวัตกรรมกำจัดวัชพืชที่มีประสิทธิภาพปลอดภัยต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้ทดแทนสารเคมีได้และในโอกาสเดียวกันนี้ยังได้ส่งหนังสือเร่งรัดให้รมว.อุตสาหกรรม และน.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินให้มีผลโดยเร็ว 

ทั้งนี้เมื่อนายกฯ ได้รับหนังสือแล้วก็คงจะนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตามมาตรา 33 วรรคหนึ่งของพ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็เขียนเปิดช่องไว้ว่า หากหน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการโดยไม่มีเหตุอันสมควรให้ถือว่าหัวหน้านี้ถูกหน่วยงานของรัฐนั้น จงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทำให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และให้ผู้ตรวจฯ แจ้งให้ป.ป.ช.ดำเนินการ โดยให้ถือรายงานของผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นสำนวนในการสอบสวน