กระทุ้ง”ศักดิ์สยาม” แก้ข้อพิพาททางด่วน-โฮปเวลล์

12 ก.ย. 2562 | 12:15 น.

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ยื่นหนังสือขอให้รัฐบาลและรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมดำเนินการแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างรัฐวิสาหกิจกับบริษัทเอกชนที่รับสัมปทาน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบให้ นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายองอาจ ฉัตรชัยพลรัตน์ โฆษกประจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รับหนังสือจากสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ซึ่งมีผู้แทนจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.) และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) เข้ายื่นหนังสือขอให้รัฐบาลและรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมดำเนินการแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างรัฐวิสาหกิจกับบริษัทเอกชนที่รับสัมปทาน วันที่ 12 กันยายน 2562 กระทรวงคมนาคม

สร.กทพ. ได้เสนอให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ต่อสู้คดีในกรณีข้อพาทระหว่าง กทพ. กับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด หรือ NECL ซึ่งมีการฟ้องร้องคำเนินคดีในศาลปกครอง 19 คดี โดยทั้งสองบริษัทฟ้อง กทพ. 15 คดี และ กทพ. ฟ้องบริษัท 2 คดี โดยมี 1 คดี ที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้ กทพ. แพ้คดี และจ่ายค่าเสียหายตามคำฟ้องให้แก่ NECL เป็นมูลค่าประมาณ 4,300 ล้านบาท ส่วนอีก 16 คดี อยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการเนื่องจากการต่อสัญญาสัมปทานให้แก่บริษัทเอกชนในโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (รวมถึงส่วน D) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน ปากเกร็ด โดยแลกกับการยุติกับข้อพิพาทที่ศาลยังไม่ได้พิพากษา ซึ่ง สร.กทพ. เห็นว่าไม่เป็นธรรมต่อ กทพ. ทำให้รัฐเสียประโยชน์ และควรดำเนินการให้ถึงที่สุดตามกระบวนการ

ขณะที่ สร.รฟท. ได้เสนอว่า กรณีที่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ฟ้องการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่บอกเลิกสัญญาโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานครโดยมิชอบต่อศาลปกครอง และเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2562 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ รฟท. จ่ายค่าเสียหายให้ บริษัทโฮปเวลล์ฯ จำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้ชำระภายใน 180 วัน

ทั้งนี้ สร.รฟท. เห็นว่ายังมีประเด็นและข้อเท็จจริงใหม่ที่ รฟท. และกระทรวงฯ ยังไม่นำเสนอเพื่อขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ คือความเสียหายและการสูญเสียโอกาสอันเนื่องมาจากโครงการฯ ดำเนินการไม่แล้วเสร็จ รวมทั้งการสูญเสียโอกาสในการพัฒนาที่ดินของ รฟท. ในพื้นที่ตามสัญญาโครงการฯ อันเนื่องมาจากข้อพิพาทดังกล่าว ซึ่ง สร.รฟท. เห็นว่า บริษัท โฮปเวลล์ฯ ต้องชดใช้ค่าเสียหายและการสูญเสียโอกาสเหล่านี้ด้วย

ทั้งนี้ สรส. ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเร่งดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว และในอนาคตควรพิจารณาทบทวนนโยบายในโครงการต่าง ๆ ของราชการ หน่วยงานของรัฐที่ให้เอกชนร่วมลงทุนหรือให้สัมปทานว่ามีความจำเป็นมากน้อยเพียงไหนเมื่อเทียบเคียงผลประโยชน์และปัญหาที่จะตามมากับการที่รัฐมาดำเนินโครงการเอง ในการนี้ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รับข้อเสนอจาก สรส. เพื่อนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมต่อไป