Journey D  แอร์เอเชีย ‘ให้’ ที่มากกว่าแค่ ‘ให้’

14 ก.ย. 2562 | 05:30 น.

การตอบแทนคืนสู่สังคมของแอร์เอเชีย ประเทศไทย มีการปรับตัวมาเรื่อยๆ จากทำหน้าที่เป็น “ผู้ให้” ด้วยการบริจาค และมอบโอกาสให้กับน้องๆ ด้วยการ “พาน้องท่องฟ้า” ไปพบเห็นกับสิ่งใหม่ๆ รวมไปถึงการสนับสนุนศิลปินแห่งชาติ ให้ได้บินฟรีตลอดชีวิต โดยการร่วมมือกับกระทรวงวัฒนธรรม พาหมอไปรักษาผู้ป่วย โครงการยุวฑูตวัฒนธรรม และยังมีอีกหลายๆ โครงการ

Journey D  แอร์เอเชีย ‘ให้’ ที่มากกว่าแค่ ‘ให้’

“ทอปัด สุบรรณรักษ์” ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด บอกว่า การตอบแทนคืนกลับสู่สังคมของแอร์เอเชีย พัฒนามาเรื่อยๆ ด้วยการทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจมากขึ้น โดยเริ่มต้นด้วยการยึดแนวทาง Creating Shared Value หรือ CSV ที่มีการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจ ให้สอดคล้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ตั้งแต่ 5-6 ปีที่แล้ว โดยทำงานร่วมกับ Local Alike องค์กรธุรกิจเพื่อสังคม (SE) ที่ช่วยเลือกชุมชนโฮมสเตย์ ทำโครงการห้องเรียนนางฟ้า ที่มีแอร์โฮสเตส และพนักงานของแอร์เอเชีย ไปช่วยสอนภาษาอังกฤษในชุมชนต่างๆ

จากการปรับเปลี่ยนในครั้งนั้น  “ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” ซีอีโอ แอร์เอเชีย บอกว่า เราควรให้อะไรกับสังคมได้มากกว่านี้ เพราะเรามีความสามารถด้านอื่นๆ อีกเยอะ...จากนั้น ทีมงานจึงได้ร่วมคิดกับ Local Alike สร้างโครงการ The Journey of Development (Journey D) หรือ เส้นทางการเดินทางดีๆขึ้น จากจำนวนการท่องเที่ยวในชุมชนที่มีอยู่กว่า 100 ชุมชนในประเทศ จะเลือกอย่างไรว่าพื้นที่ไหน แอร์เอเชีย ควรเข้าไปช่วยอะไร หรือทำงานร่วมกันได้อย่างไร จากเส้นทางการบิน และกำลังในการทำงานที่แอร์เอเชียมีอยู่ ซึ่งที่สุดก็เลือกมาได้คือ ผาหมี เชียงราย, โคกโนน บุรีรัมย์, เกาะกลาง กระบี่ และพรหมโลก นครศรีธรรมราช

Journey D  แอร์เอเชีย ‘ให้’ ที่มากกว่าแค่ ‘ให้’

แนวคิด Journey D แพลตฟอร์ม คือ การพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนให้แข็งแรงขึ้น โดยแอร์ เอเชีย เข้าไปช่วยเสริมและเป็นตัวเชื่อม ดูว่าชุมชนต้องการอะไร แล้วออกแบบโปรแกรมพัฒนามาตรฐานการท่องเที่ยวร่วมกันกับชุมชน มีการเชิญคนเก่งๆ หรือหน่วยงานต่างๆ เข้ามาในแพลตฟอร์ม แล้วทำงานร่วมกัน พัฒนาการท่องเที่ยวในชุมชน ให้เป็นออฟชันที่ดีของนักท่องเที่ยว ด้วยมาตรฐาน คือ ต้องสะอาด ปลอดภัย บริการดี อาหารมีมาตรฐาน การต้อนรับนักท่องเที่ยวต้องดี และมีวิธีการจัดโปรแกรมการท่องเที่ยว ซึ่งทั้งหมดจะต้องสร้างเป็นช่องทางสร้างรายได้ใหม่ๆ ให้กับชุมชน และยังใช้แอร์เอเชีย เป็นช่องทางการขายสินค้าชุมชน ที่มี ท็อป- พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร เข้าไปช่วยดูว่า มีสินค้าอะไรที่เหมาะกับการขายบ้าง และต้องมีการออกแบบปรับปรุงอย่างไร สินค้าจึงจะเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งเริ่มขายมาแล้วตั้งแต่ต้นปี 2562 อาทิ ที่คาดผม

Journey D  แอร์เอเชีย ‘ให้’ ที่มากกว่าแค่ ‘ให้’

Journey D  แอร์เอเชีย ‘ให้’ ที่มากกว่าแค่ ‘ให้’

ปีนี้ โมเดลของ Journey D เริ่มแข็งแรง จึงมีการขยายไปยังแหล่งท่องเที่ยวชุมชนใหม่ๆ อาทิ เทศบาลตำบลบ้านโป่ง ที่เชียงใหม่, เขมราฐ ที่อุบลราชธานี และชุมชนในภูเก็ต รวม 6 ชุมชน โดย 4 ชุมชนแรก จากการเก็บสถิติ และสัมภาษณ์ ชุมชนที่ผาหมี เชียงราย และที่เกาะกลาง กระบี่ กำลังเติบโตไปได้ดี มีการเกิดขึ้นของโฮมสเตย์ใหม่ๆ ร้านกาแฟเล็กๆ และอื่นๆ แสดงให้เห็นว่า มีนักท่องเที่ยว และรายได้เข้าสู่ชุมชน ด้วยความรู้และเครือข่ายที่แอร์เอเชียช่วยเชื่อมต่อ และกันยายนนี้ จะมีการอบรมมายด์เซต เพื่อสร้างแฮปปี้ แอมบาสซาเดอร์ โดยการนำโค้ช จิมมี่ ไปช่วย เทรนด์

 

หน้า 24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,504 วันที่ 12 - 14 กันยายน พ.ศ. 2562

Journey D  แอร์เอเชีย ‘ให้’ ที่มากกว่าแค่ ‘ให้’