พลังงานออกโรง โต้รัฐอุ้มเอกชน

13 ก.ย. 2562 | 03:10 น.

พลังงาน ร่อนหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน ยันทำตามรัฐธรรมนูญ รัฐมีกำลังผลิตไฟฟ้าตํ่ากว่า 51% ไม่กระทบความมั่นคงพลังงาน ชี้สายส่งยังเป็นของ 3 การไฟฟ้า และไม่มีนโยบายแปรรูปนำไปให้เอกชน

ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีคำวินิจฉัย เรื่อง ร้องเรียนเลขแดง ที่ 1030/2562 กรณีการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือพีดีพี โดยเปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า ทำให้สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดตํ่าลงกว่า 51% อันเป็นการขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 56 วรรคสอง และได้มีข้อเสนอแนะให้กระทรวงพลังงานพิจารณาทบทวนยุทธศาสตร์ และแผนพีดีพี เพื่อกำหนดแนวทางให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 51% ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลวินิจฉัยเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562 และดำเนินการให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 51% ภายในกำหนด 10 ปี นับจากปี 2562

ล่าสุดทางกระทรวงพลังงานได้มีหนังสือชี้แจงต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว โดยยืนยันว่ากระทรวงพลังงานได้ดำเนินนโยบายตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาโดยตลอดในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2562 ที่ผ่านมากระทรวงพลังงาน ได้ส่งหนังสือลงนามโดยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ไปยังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อชี้แจงกรณีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐที่ตํ่ากว่า 51% ซึ่งสาระสำคัญได้ระบุถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 56 วรรคสอง ได้กำหนดถ้อยคำและเจตนารมณ์ไว้เช่นเดียวกันกับมาตรา 84 (11) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ในการห้ามแปรรูปโครงสร้างและโครงข่ายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ โดยโครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานรัฐธรรมนูญได้ระบุตัวอย่างไว้ชัดเจนว่า เป็นเพียงรางหรือสถานีรถไฟ เสา สายส่ง หรือสถานีไฟฟ้า

ดังนั้น ในส่วนสายส่งและสถานีไฟฟ้าซึ่งถือเป็นโครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานที่มีความสำคัญด้านความมั่นคงที่ใช้การบริหารกิจการด้านไฟฟ้าที่เป็นของรัฐนั้น ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) จึงถือได้ว่ากระทรวงพลังงานได้ดำเนินการเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ขณะที่การกำกับดูแลให้เกิดความมั่นคงด้านไฟฟ้า อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 โดย กกพ. มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการประกอบการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายภายใต้กรอบนโยบายของรัฐ

นอกจากนี้ การดำเนินการและกำกับดูแลกิจการสาธารณูปโภคด้านพลังงานของกระทรวงพลังงาน ได้ดำเนินการในทำนองเดียวกันกับสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านอื่นๆ ของประเทศ เช่น การประปา การรถไฟ โทรคมนาคม

อีกทั้ง กระทรวงพลังงานได้กำหนดนโยบาย พัฒนาและการลงทุนด้านพลังงานของประเทศ ตลอดจนด้านไฟฟ้าในส่วนที่เป็นของรัฐ โดยไม่มีนโยบายที่จะนำไปสู่การแปรรูปให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนแต่อย่างใด

ส่วนประเด็นนโยบาย การวางแผนผลิตไฟฟ้าที่มีภาคส่วนต่างๆแสดงความคิดเห็น กระทรวงพลังงานพร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อนำมากำหนดการดำเนินการ โดยคำนึงถึงความมั่นคงด้านไฟฟ้าและอัตราค่าไฟฟ้าให้มีความเหมาะสม ไม่เป็นภาระต่อประชาชน

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3504 วันที่ 12-14 กันยายน 2562

พลังงานออกโรง  โต้รัฐอุ้มเอกชน