“สมคิด”เร่งเครื่อง!!! เปิดกลยุทธ์ดึงทุนหนีเทรดวอร์

07 ก.ย. 2562 | 23:00 น.

   6 ก.ค.2562 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ จุดปะทุ “สงครามการค้า” ด้วยการประกาศพิกัดอัตราภาษีศุลกากรใหม่ เพื่อเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 34,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในอัตรา 25% ขณะที่จีนสวนหมัดตอบโต้ด้วยการประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯด้วยอัตราภาษีและมูลค่าเดียวกัน นับเป็นจุดเริ่มต้นของการระเบิดศึกจนยืดเยื้อสะเทือนโลกมาถึงบัดนี้

   เมื่อช้างชนช้างเปิดศึกลากยาว ทุกประเทศที่เป็นซัพพายเชน  ผลิตสินค้ากึ่งสำเร็จรูป หรือผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อป้อนไปยังสองประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ จำต้องวิ่งกันฝุ่นตลบเพื่อหาทางออกปรับทิศวิ่งหาตลาดส่งออกใหม่  เช่นเดียวกับหันหัวเรือย้ายฐานผลิต  

   เห็นชัดๆ ชิ้นส่วน หรือสินค้ากึ่งสำเร็จรูปที่ไทยส่งเข้าไปขายยังจีน เพื่อที่จีนจะได้นำไปผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปส่งออกไปยังสหรัฐฯอีกทอด ได้รับผลกระทบแล้ว สถิติการส่งออกจากไทยไปจีนในช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ติดลบแล้ว 8%   

-จับตาโลกเคลื่อนย้ายการลงทุน

   ที่น่าจับตายิ่งกว่านั้น  ทั่วโลกกำลังเกิดการเคลื่อนย้ายการลงทุน ส่วนหนึ่งด้วยสาเหตุจากปัญหาพิษเทรดวอร์จีน-สหรัฐฯ โรงงานที่อยู่ในระบบซัพพายเชนทั้งหลายที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ต่างประเมินสถานการณ์แล้วว่าต้องย้ายฐานการผลิต เพื่อไม่ให้บาดเจ็บหนักไปกว่านี้ หลังจีน-สหรัฐฯสาดมาตรการทางภาษีใส่กันมาเป็นระยะ

   สำหรับประเทศไทยใน“วิกฤต”ย่อมมี “โอกาส” หากหันมาดู สินค้าไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯกลับพุ่งขึ้น 11-12% สวนทางกับสินค้าที่ส่งออกไปจีนในช่วงเวลาเดียวกัน  เช่นเดียวกับโอกาสที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มองเห็นชิ้นปลามันรออยู่ตรงหน้า!!!  คือการวิ่งรับโอกาสจากการเคลื่อนย้ายทุนทั้งโลก หนีผลกระทบจากเทรดวอร์ครั้งนี้  รวมถึงวิ่งกระจายความเสี่ยงไม่ปักฐานในประเทศใดประเทศหนึ่ง ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกซบเซา

   นี่คือจุดเริ่มต้นที่นายสมคิด  ออกมาคิกออฟ สั่งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ไปทำการบ้านคิดแพคเกจดึงดูดการลงทุนให้มากที่สุดและให้เร็วที่สุด จนเป็นที่มาของมาตรการ Thailand Plus   

-คลอดแพคเกจเร่งรัดการลงทุน

   6 ก.ย.2562 การประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) จึงกดปุ่มเห็นชอบแพคเกจเร่งรัดการลงทุนและรองรับการย้ายฐานการผลิตจากผลกระทบของสงครามการค้า ประกาศดันมาตรการThailand Plus  ประกอบด้วย  7 ด้าน ไล่เรียงตั้งแต่ด้านสิทธิประโยชน์ กำหนดมาตรการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อเร่งรัดการลงทุน โดยลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50 %เป็นเวลา 5 ปี เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ สำหรับโครงการที่มีเงินลงทุนจริงอย่างน้อย 1,000 ล้านบาท ภายในปี 2564 โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปี 2563

   ด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินการของหน่วยงาน ให้จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและประสานงานการลงทุน ในลักษณะ One Stop Service โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยแก้ไขปัญหาและอุปสรรคแก่นักลงทุน รวมทั้งให้บีโอไอสามารถอนุมัติโครงการในกลุ่มกิจการที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลทุกขนาดการลงทุนเพื่อตอบสนองนักลงทุนที่ต้องการย้ายฐานโดยเร็ว

   การพิจารณามีการยืดหยุ่นกติกาเดิมมากขึ้น  โดยกิจการใดที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล หรืออยู่ในกิจการกลุ่มB บอร์ดบีโอไอจะมอบอำนาจให้สำนักงานพิจารณาเพราะไม่มีเรื่องภาษีเงินได้  ส่วนกิจการใดที่ได้รับภาษีเงินได้หรืออยู่ในกิจการกลุ่มA ให้ยึดตามเกณฑ์พิจารณาเดิมคือแบ่งการพิจารณาตามเงินลงทุน (ถ้าโครงการลงทุนเกิน 2,000 ล้านบาท บอร์ดใหญ่บีโอไอเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ, ถ้าโครงการลงทุนมากกว่า 200 ล้านบาทแต่เกิน 2,000 ล้านบาทให้พิจาณาโดยอนุกรรมการพิจารณาโครงการ ,ถ้าโครงการลงทุนต่ำกว่า 200 ล้านบาท ให้เป็นอำนาจการพิจารณาโดยสำนักงานบีโอไอ)

   ด้านบุคลากร มีการกำหนดมาตรการการคลังเพื่อสนับสนุนการฝึกอบรมแรงงาน โดยให้ผู้ประกอบการนำเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมที่เข้าข่าย Advanced Technology ไปหักลดหย่อนเพิ่มขึ้นระหว่างปี 2562 – 2563 รวมทั้งให้มีมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจ้างงานบุคลากรทักษะสูงในสาขาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมขั้นสูง โดยสามารถนำค่าจ้างไปหักค่าใช้จ่ายได้ ระหว่างปี 2562 – 2563

   สำหรับโครงการลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมและยังมีสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้อยู่ บีโอไอจะอนุญาตให้นำค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรมที่เข้าข่ายเป็น Advanced Technology ไปคำนวณรวมเป็นวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เป็น 200 % รวมทั้งให้บีโอไอและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกันนำเสนอแนวทางและรูปแบบการนำเงินกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯ มาใช้สนับสนุนการจัดตั้งสถาบันการศึกษาศักยภาพสูง

ด้านความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เร่งปรับปรุงบัญชีแนบท้ายตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 และกฎหมายที่เป็นอุปสรรคและข้อจำกัดต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

   นอกจากนี้ยังขอให้บีโอไอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดเชื่อมโยงข้อมูล เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน เช่น กรมศุลกากร กรมสรรพากร กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมที่ดิน เป็นต้น รวมทั้งให้มีการปรับปรุงกฎระเบียบเรื่องวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญสูง

   ด้านการจัดหาและพัฒนาพื้นที่ที่เหมาะสม  มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เตรียมจัดหาและพัฒนาพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อรองรับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติแต่ละประเทศเป็นการเฉพาะ เช่น เกาหลี จีน ไต้หวัน เป็นต้น   เนื่องจากที่ผ่านมาทุนดังกล่าวมีความประสงค์ลงทุนในพื้นที่โซนเดียวกัน สัญชาติเดียวกัน จึงมีการมอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)ไปดูเป็นการเฉพาะ

   เร่งสรุปการฟื้นการเจรจาความตกลงการค้า  ให้กระทรวงพาณิชย์เร่งสรุปผลการศึกษาและกระบวนการต่างๆให้ได้ข้อสรุปเรื่องการฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าไทย–อียู และการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (CPTPP) ภายในปี 2562 รวมทั้งมอบให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณแก่กระทรวงพาณิชย์ สำหรับกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าด้วย

   กำหนดมาตรการเพิ่มเติมลงทุนระบบอัตโนมัติ  โดยให้กระทรวงการคลังกำหนดมาตรการเพิ่มเติม ให้หักเงินลงทุนด้านระบบอัตโนมัติได้เพิ่มขึ้น ระหว่างปี 2562 – 2563 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ ที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่อุปทานในประเทศไทย ซึ่งในส่วนนี้ก่อนหน้านั้นกระทรวงการคลังมีมาตรการเร่งรัดการลงทุนให้นำการลงทุนด้านเครื่องจักรทั้งหมดซึ่งรวมเครื่องจักรที่มีระบบอัตโนมัติด้วย มาหักกับกรมสรรพากรได้ 1.5 เท่า  แต่ของใหม่บีโอไอเสนอให้หักเพิ่มเป็น 2 เท่าเฉพาะเครื่องจักรที่มีระบบอัตโนมัติ

ยกตัวอย่างเช่น  ถ้าลงทุนด้านเครื่องจักรที่มีระบบอัตโนมัติ 100 ล้านบาท สามารถนำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายก่อนคำนวนภาษีได้เป็นมูลค่า 200 ล้านบาท  ซึ่งการกำหนดมาตรการในส่วนนี้ ต้องทำตามขั้นตอนปกติของกระทรวงการคลัง คือจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาเสนอ ครม. แล้วส่ง สนง.กฤษฎีกาตรวจก่อนทูลเกล้าฯต่อไป

   การออกมาตรการ Thailand Plus ครั้งนี้ รัฐบาลตั้งใจจัดให้ เป็นโอกาสครั้งสำคัญในการดึงดูดการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่ต้องการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยมากขึ้น  โดยเฉพาะจากประเทศเป้าหมายอย่าง จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลี  

   “รัฐบาล ต้องเดินแผนเชิงรุกเพราะเวลานี้คู่แข่งอย่างเวียดนามหายใจรดต้นคอเราอยู่ และมาตรการทั้งหมดเข้าใจว่าต้องการความเร่งด่วน ก่อนที่ทุนต่างชาติจะหันไปโฟกัสที่อื่นหมด” นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวและตอกย้ำว่าภาคเอกชนเห็นด้วยกับมาตรการเร่งด่วนดังกล่าวนี้

   ดูภาพรวมแล้ว  ทีมเศรษฐกิจที่มีทัพหน้ายี่ห้อ “สมคิด” ต้องคิดเร็วทำเร็ว  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรีบออกมาสตาร์ดเครื่องยนต์แรงๆ  เพื่อดึงทุนทางตรงจากต่างประเทศ(FDI)เข้ามา  ก่อนที่ทุนจะหันหัวเรือไปตอกเสาเข็มที่อื่นแทน  โดยเฉพาะเวียดนามคู่แข่งสำคัญของไทย ที่มีไม้เด็ดเหนือกว่าหลายด้าน  ตั้งแต่มีการเจรจาเอฟทีเอกับ 12 ประเทศหลัก  มีเอฟทีเอกับยุโรป  ทำให้การส่งสินค้าของเวียดนามเข้าสู่ประเทศในกลุ่มอียูจะได้รับประโยชน์ทางภาษีเหนือประเทศอื่น

   อีกทั้งเวียดนามยังเป็นฐานการผลิตที่มีแรงงานในวัยทำงานรองรับจำนวนมาก  มีค่าแรงเฉลี่ยอยู่ที่ 100 บาทต่อวัน และมีตลาดขนาดใหญ่กว่าไทยด้วยประชากรกว่า 90 ล้านคน ในขณะที่ประเทศไทยถูกตัดสิทธิ์จีเอสพีจากยุโรปหมดทุกรายการแล้ว     และมีค่าแรงงานขั้นต่ำเฉลี่ยที่ 300 บาทต่อวัน(บางบริษัทจ่ายสูงกว่านี้) อีกทั้งด้วยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย จึงเป็นประเด็นที่นำมาซึ่งความท้าทายในหลายมิติ

คอลัมน์ : Let Me Think
โดย       : TATA007

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครม.เศรษฐกิจ คลอดแพคเกจ 7 ด้านเร่งรัดลงทุน

 

“สมคิด”เร่งเครื่อง!!!  เปิดกลยุทธ์ดึงทุนหนีเทรดวอร์