กสอ. ใช้นวัตกรรมยกระดับอุตฯเกษตร/อาหารเมืองเหนือ

07 ก.ย. 2562 | 05:00 น.

กสอ. ขานรับนโยบายเกษตรอุตสาหกรรม ยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารเมืองเหนือ เสริมแกร่งการแปรรูปอาหารด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีตอบโจทย์ความต้องการตลาด

กสอ. ใช้นวัตกรรมยกระดับอุตฯเกษตร/อาหารเมืองเหนือ

นายภาสกร  ชัยรัตน์  รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า  กรมฯเล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค โดยมีเป้าหมายที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารอนาคตแห่งอาเซียน ควบคู่กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ประกอบด้วย 4 แนวทาง คือ 1.การสร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ (Food Warriors) เพื่อยกระดับคุณภาพวัตถุดิบสู่เกษตรอุตสาหกรรม   

,2.การสร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต (Future Food Innovation) สู่การผลิตเชิงพาณิชย์ โดยสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทย โดยเฉพาะการสร้างศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 หรือ ศูนย์ ITC 4.0 และ Center of food Excellent (CoFE)  ,3.การสร้างโอกาสทางธุรกิจ (New Marketing Platform) ทั้งในและต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มที่เหมาะสมกับผู้ผลิตทุกระดับให้อุตสาหกรรมอาหารไทยให้มีบทบาทในตลาดโลก โดยการเชื่อมโยงสู่ภาคการผลิต การค้าสู่สากล รวมถึงการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง และเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์อาหารกับการท่องเที่ยว ผ่านหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV)

และ4.การสร้างปัจจัยพื้นฐานเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรม (Enabling) เป็นมาตรการสร้างปัจจัยเอื้อสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยและลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ ควบคู่กับการสร้างความโปร่งใส รับผิดชอบต่อสาธารณะ และการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน 

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2563 กสอ.มีแผนงานสำคัญในการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ด้วยกิจกรรม Smart Food สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์อาหารโดยใช้นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ยกระดับพัฒนาสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารเมืองเหนือ เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดภายใต้โครงการเสริมสร้างนวัตกรรมการผลิตอาหารอัจฉริยะในอุตสาหกรรมอาหาร (Northern Thailand Food Valley to Smart Industry 4.0) โดยมี บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่มีผลิตเครื่องเทศคุณภาพสูงสำหรับอุตสาหกรรม มาร่วมให้คำปรึกษาแนะนำ 

บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด มีประสบการณ์ด้านการผลิตเครื่องเทศ เครื่องปรุงรสคุณภาพสูงสำหรับอุตสาหกรรมมานานกว่า 20 ปี ด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และบุคลากรที่ปรึกษาที่มีความรู้ความสามารถ จึงเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารทั้งรายเล็กและรายใหญ่ให้สามารถพัฒนาสินค้าและรสชาติใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี” 

กสอ. ใช้นวัตกรรมยกระดับอุตฯเกษตร/อาหารเมืองเหนือ

นายภาสกร  กล่าวต่อไปว่า  อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อประเทศไทย เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคเกษตรและสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาให้กับเศรษฐกิจฐานราก โดยในอดีตไทยเป็นผู้ส่งออกอุตสาหกรรมอาหารรายสำคัญ แต่ปัจจุบันสถานการณ์การแข่งขันที่สูงขึ้น รูปแบบอาหาร การบริโภค มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไป เช่น การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเป็นสังคมเมืองที่ต้องดำเนินชีวิตอย่างเร่งรีบ ต้องการความสะดวกสบายและรวดเร็ว รวมถึงต้องมีมาตรฐานความปลอดภัย

นายสมิต  ทวีเลิศนิธิ  กรรมการผู้จัดการ  บริษัท  นิธิฟู้ดส์  จำกัด  กล่าวว่า  จากประสบการณ์ในการผลิตเครื่องเทศและเครื่องปรุงรสมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 และได้เห็นปัญหาของอุตสาหกรรมอาหาร การพัฒนาสินค้าอาหารและรสชาติใหม่ ๆ ของบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง มักมีอุปสรรค ทั้งด้านทรัพยากร เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ และบุคลากรที่ขาดประสบการณ์ในการพัฒนารสชาติอาหารที่มีความซับซ้อน ทำให้ไม่สามารถควบคุมคุณภาพหรือใช้เวลานานจนไม่สามารถขยายตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กสอ. ใช้นวัตกรรมยกระดับอุตฯเกษตร/อาหารเมืองเหนือ

อย่างไรก็ดี บริษัท นิธิฟู้ดส์ จึงจัดตั้งสถาบันวิจัยรสชาติอาหารขึ้น ช่วยเหลือผู้ประกอบการให้พัฒนารสชาติผลิตภัณฑ์อาหารของตนเองได้ โดยใช้ระยะเวลาอันสั้น รวดเร็วต่อการทำตลาด เหมาะกับสินค้าเฉพาะของแต่ละอุตสาหกรรม อีกทั้งยังสามารถผลิตสินค้าให้ได้จากโรงงานผลิตผงปรุงรสของบริษัท โดยสินค้าสามารถผลิตได้ตั้งแต่ปริมาณ 5 – 200 กิโลกรัม ทำให้มีความยืดหยุ่น ลดความเสี่ยงในการลงทุนของผู้ประกอบการ เพิ่มโอกาสในการทำตลาดสินค้ารสชาติใหม่ยิ่งขึ้น โดยสินค้าเครื่องปรุงรสที่ได้มีรสชาติตามที่ลูกค้าต้องการ มีความปลอดภัยในการบริโภคด้วยการควบคุมคุณภาพการผลิตตามมาตรฐานสากล สามารถส่งออกได้ทุกภูมิภาคทั่วโลก สามารถตอบโจทย์ของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

สถาบันวิจัยรสชาติอาหาร บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด ให้บริการ Outsource งานวิทยาศาสตร์ด้านการปรุงรสชาติแก่ผู้ประกอบการ โดยที่ผู้ประกอบการไม่ต้องลงทุนจ้างนักวิทยาศาสตร์หรือสร้างกระบวนการผลิตเอง หรือเรียกอย่างทันสมัยว่า Food Science As A Service โดยเป็นการให้บริการวิจัยและพัฒนารสชาติอาหารและผลิตเครื่องปรุงรสอย่างครบวงจร (One Stop Service) เปิดให้บริการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 มีผู้มาใช้บริการแล้วมากกว่า 150 ผู้ประกอบการ และประสบความสำเร็จไปแล้วกว่า 30 โครงการ เช่น ซุปก๋วยเตี๋ยวแบบผงของผู้ประกอบการร้านอาหารแฟรนไชส์ เพื่อความสะดวกในการขนส่งและการจัดเก็บผงแกงสำเร็จรูป เพื่อยืดอายุการเก็บผลิตภัณฑ์ให้นานขึ้นในอุณหภูมิปกติโดยคุณภาพไม่เปลี่ยน ผลิตภัณฑ์จากดอกเกลือผสมเครื่องเทศ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ดอกเกลือที่มีราคาถูก รวมถึงการนำอาหารเมืองเหนือมาแปรรูปเป็นผงโรยขนมรสชาติต่าง ๆ อาทิ ผงโรยขนมรสน้ำพริกหนุ่ม รสไส้อั่ว รสข้าวซอย เป็นต้น