ไขปริศนาคดีข้าวหลุดฟ้อง ระวัง...มวยล้มต้มคนดู

06 ก.ย. 2562 | 10:22 น.

คอลัมน์อยู่บนภู ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3503 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 8-11 ก.ย.2562 โดย...กระบี่เดียวดาย

 

ไขปริศนาคดีข้าวหลุดฟ้อง

ระวัง...มวยล้มต้มคนดู

 

          เสียงประท้วง เสียงเตือน  จาก นิพนธ์ พัวพงศกร อดีตประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ผู้ชำนาญการเรื่องข้าวและเป็นพยานสำคัญในคดีจำนำข้าวที่เป็นมหากาพย์แห่งการทุจริตครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศครั้งหนึ่งว่าการฟ้องร้องเอาผิดกับผู้กระทำฉ้อฉลต่อโครงการมีการยกฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องไปหลายคดี เป็นสิ่งที่น่ารับฟัง

          วันที่ 6 กันยายนเป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ วนมาครบรอบขวบปีอีกครั้งหนึ่งและศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์คดีทุจริตข้าวรัฐต่อรัฐหรือจีทูจีในวันนี้พอดิบพอดี(อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยคัดเลือกองค์คณะจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตามกฎหมายใหม่)

          ย้อนไปดูการตรวจสอบสต๊อกข้าวคงเหลือในคลังกลางของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ตั้งแต่ปีการผลิต 2554/2555 จนถึงปีการผลิต 2556/2557 และมีการตั้งเรื่องฟ้องคดี จำนวน 987 คดี มีมูลค่าความเสียหาย 1.15 แสนล้านบาท แบ่งเป็นองค์การคลังสินค้า (อคส.) กว่า 9 หมื่นล้านบาท และองค์การตลาดเกษตรกร (อ.ต.ก.) กว่า 2.37 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 80% ของมูลค่าความเสียหาย โดย 20% ที่เหลือนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบ   

          “ส่วนใหญ่คดีที่ อ.ต.ก.และอคส.ฟ้องสู้ไม่ได้ ยกฟ้องไปเยอะ ผมคิดว่าเจตนาเพราะเจ้าหน้าที่บางคนไม่สุจริต การเมืองเข้ามาเห็นช่องหาเงิน แล้ว การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้ลงนามในคำสั่งตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว เรื่องการคุ้มครองการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในการดูแลของรัฐและการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด เพื่อจัดการขายให้เร็วที่สุด นั่นคือสิ่งที่ “ถูกต้อง” แต่ก็ยังจัดการไม่หมดส่วนข้าวที่เหลืออยู่ (ข้าวนอกบัญชี) จำนวน 8.3 หมื่นตัน จะเป็น เสี้ยนหนาม ในอนาคต” นิพนธ์ระบุ

          โครงการจำนำข้าวรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เริ่มรับจำนำข้าวปี 2554-2557 เป็นโครงการแทรกแซงตลาดข้าวไทยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยรัฐบาลใช้เงิน 9.85 แสนล้านบาทซื้อข้าว 54.4 ล้านตัน ขาดทุนทั้งสิ้น 5.4 แสนล้านบาท ภายหลังการตรวจสต๊อกข้าว พบว่าข้าวร้อยละ 80 ไม่ผ่านมาตรฐาน ถ้าตีราคาสต๊อกที่ 7,500 บาท จะขาดทุน 6.6 แสนล้านบาท ประเมินโดยทีดีอาร์ไอ

          ผู้บริหารอคส.ออกมาให้ความเห็นสวนทางนิพนธ์ คดีที่ฟ้องไปไม่ได้แพ้ ไม่ได้ยกฟ้อง ที่ศาลยกฟ้องจริงมีขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) 7 ดคี และ ของ อคส. จำนวน 2 คดี ซึ่งอาจสืบเนื่องจากการพิจารณาคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา จะมีการรับฟังผลคดีอาญาประกอบกันในการพิจารณาคดีแพ่ง

          “อัยการท่านหนึ่ง ไปประชุมก็บอกว่าท่านเป็นห่วงถ้าคดีอาญายกฟ้องจะมีผลต่อคดีแพ่งด้วย ก็เลยเป็นห่วง จึงเป็นที่มาของอาจารย์นิพนธ์เป็นห่วงคดีอาญายกฟ้องไปเรื่อยๆจะมีผลกับทางแพ่ง ผมก็ห่วง ผมก็ไปถามอัยการว่าในทางปฏิบัติที่ผ่านมาถ้าเป็นคดีจะฟ้องศาลจังหวัด ศาลยุติธรรมเขาจะรอฟังผลคดีอาญาทุกครั้ง แต่ในคดีปกครองไม่เคยมีประวัติศาสตร์ว่าจะรอฟังผลคดีอาญาเลย คดีอาญาจะฟ้องก็ฟ้องแต่คดีศาลปกครองก็ไม่เกี่ยว” พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ ว่าที่รักษาการ องค์การคลังสินค้า (อคส.) ระบุ

          ปัจจุบันคดีอาญาทั้งหมด ของ อคส.มีทั้ง 904 คดี มีแค่ 2 คดีที่ศาลยกฟ้อง ส่วนคดีอื่นๆ อยู่ที่อัยการประมาณ 50 เรื่อง ในส่วนของอัยการจะแยกเป็น 2 ส่วน กรณีข้าวหาย ก็สันนิษฐานว่า เจ้าหน้าที่ อคส.ที่เฝ้าคลังรู้เห็นเป็นใจ พวกนี้จะส่งไปที่ ป.ป.ช. บางส่วนก็ส่งไปที่ ป.ป.ท. ส่วนกว่า 800 เรื่องยังอยู่ในการดูแลของ ป.ป.ท.ว่าจะดำเนินการอย่างไร ส่วนคดีแพ่งฟ้องค่าเสียหายกว่า 3 แสนล้านบาท คดีทั้งหมด 246 คดี แบ่งเป็นเจ้าของคลัง 167 ราย ส่วนเซอร์เวย์ 79 ราย ทั้งหมด 246 ราย ค่าเสียหายพวกนี้กว่า 3 แสนล้านบาท แต่ศาลยังไม่ตัดสิน ตอนนี้เรื่องอยู่ศาลปกครองกลาง ยังไม่ได้พิจารณาและยืนยันมีพยานหลักฐานแน่นหนา

          อันที่จริงถ้าเป็นไปตาม อคส.ว่าคงไม่มีปัญหามากมายถึงขนาดนี้ ในส่วนคดีข้าวที่หลุดมาก ข้าวหาย ข้าวขาดบัญชี ข้าวผิดชนิด ข้าวไม่ครบ ส่วนใหญ่มาจากการตั้งต้นสำนวนในการสอบขั้นต้น หรือเรียกว่าตั้งโจทย์ผิด เมื่อถึงศาลก็หลุด

          อคส.เองต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา การเสนอพยานหลักฐานไม่แน่นหนารัดกุม หรือเรียกว่าการอ้างพยานที่ไม่รู้ความไปให้การ

          มีอีกหลายประเด็นที่ทั้งพนักงานสอบสวน อัยการ ไม่ได้ทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เช่น กรณีคุณภาพข้าวที่มีการยกอ้างว่าตรวจสอบคุณภาพไม่ถูกต้อง ทั้งที่การตรวจสอบกระทำไปตามมาตรฐานในการเก็บตัวอย่างแล้วประเมินผล

          ต้องยอมรับว่ากระบวนการทุจริตจำนำข้าวทั้งกระบวนการนั้นมีผู้มีส่วนร่วมจำนวนมากในทุกระดับ และระบบอุปถัมภ์ยังแฝงฝังรากลึก

          แต่หน่วยงานที่รับลูกคดีอย่างป.ป.ท.ก็มีเจ้าหน้าที่หลายคนที่ตั้งใจทำคดี แต่มีหลายคนที่ต้องทำความเข้าใจกระบวนการขั้นตอนให้ลึกซึ้ง

          สำคัญต้นทาง อย่างอคส. อ.ต.ก.ต้องมุ่งมั่นเข้มแข็งเสนอพยานหลักฐานที่ควรเสนอ ถ้าไปเสนออีกอย่างก็จบ คดีไปต่อไม่ได้ นํ้าหนักเบาหวิว

          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องจริงจังให้ความสำคัญกับคดีข้าวทั้งหมด อาจตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องนี้เป็นการเฉพาะเอาคนที่รู้เรื่องจริงมากำกับดูแล

          อย่าให้โครงการที่งบรั่วไหลมากที่สุดในประวัติศาสตร์.....เป็นมวยล้มต้มคนดู