ผลพวง อีไอเอ-เก็งตลาดผิด  10 ปีหยุดขาย 29 โครงการ

09 ก.ย. 2562 | 23:35 น.

ส่องตลาดคอนโดมิเนียม ช่วง 10 ปีสะดุดปัญหาต้องหยุดการขาย 29 โครงการ ผลจากรายงานอีไอเอ ประเมินตลาดผิดพลาด ยอดขายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย นายกสมาคมอาคารชุดชี้กฎระเบียบใหม่ๆเพิ่ม กระบวนการทำรายงานใช้เวลา 7 เดือน

รอบปีนี้เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นกับตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพมหานคร กับ 2 โครงการของ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ เริ่มจากบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ผู้นำตลาดคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้า ประกาศพับโครงการไอดีโอ คิว พหล-สะพานควาย พร้อมคืนเงินลูกค้ากลุ่มที่จองซื้อช่วงพรีเซลส์ทั้งหมด ทั้งที่ออกตัวว่าเป็นโครงการไฮไลต์ของย่านนี้ ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ติดสถานีบีทีเอส-สะพานควาย หลังเปิดขายไประยะหนึ่งก็ตัดสินใจเลิกขาย พร้อมปรับรูปแบบโครงการใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ซื้อ ซึ่งคาดการณ์จะเปิดตัวครั้งใหม่ต้นปี 2563

อีกรายล่าสุดบริษัท บีทีเอส แสนสิริ โฮลดิ้ง ไนน์ทีน จำกัด เจ้าของโครงการเดอะไลน์ สาทร เจอคำสั่งศาลปกครองระงับการก่อสร้าง เป็นการชั่วคราว เนื่องจากถูกร้องเรียนรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นเท็จ สำหรับโครงการนี้มีลูกค้าสนใจซื้อล้นหลาม พรีเซลส์วันเดียวขายเกลี้ยง 327 ยูนิต มูลค่าโครงการ 4 พันล้านบาท ทำให้ทางบริษัทต้องเร่งเดินหน้าขอความเป็นธรรมต่อศาล

ผลพวง อีไอเอ-เก็งตลาดผิด  10 ปีหยุดขาย 29 โครงการ

แหล่งข่าวจากในวงการอสังหาริมทรัพย์เปิดเผยว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีโครงการคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯที่ต้องหยุดการขายมีทั้งหมด 29 โครงการ จากหลากหลายปัญหาแตกต่างกัน มีรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ไม่ผ่าน หรือทำยอดขายพรีเซลไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อโครงการ ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็ก แต่มีกรณีพิเศษ โครงการแดน ลิฟวิ่ง ของบริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ส์ จำกัด เพราะบริษัทมีความเกี่ยวพันกับกลุ่มบริษัท สยามอินดิก้าฯ ที่เจอคำสั่งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีมติยึดและอายัดทรัพย์

 

 

นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่าปัจจุบันรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ยังคงเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการดำเนินโครงการอสังหาริมทรัพย์ ส่วนใหญ่ที่ประสบก็คือเมื่อรายงานเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) บางครั้งจะมีเรื่องที่ต้องไปศึกษาเพิ่ม ซึ่งบริษัทก็ต้องปรับแก้ กระทบการทำงานระบบใช้เวลาเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ยังมีกฎระเบียบใหม่ๆเกิดขึ้นในการประชุม และประกาศใช้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว อย่างเช่นล่าสุดการพัฒนาอาคารสูงต้องมีรายงานเรื่องผลกระทบจากความเร็วลมเพิ่มเติม แต่ที่ปรึกษาซึ่งมีความเชี่ยวชาญทำแบบจำลองความเร็วลมในประเทศไทยมีค่อนข้างน้อย ต้องรอคิวนานและค่าใช้จ่ายสูง ทำให้ระยะเวลาการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมนานขึ้นอีกกระทบต่อต้นทุนการดำเนินงานของผู้ประกอบการ ซึ่งที่สุดก็ถูกส่งต่อไปยังผู้ซื้อ

อาภา  อรรถบูรณ์วงศ์

 

 

“กรอบระยะเวลาการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) นับแต่รับรายงานจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ กว่า 100 วัน หากนับรวมระยะเวลาที่เอกชนต้องทำการประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ ก็ใช้เวลาประมาณ 7 เดือนถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าต้องปรับแก้ก็อาจจะนานขึ้น

นายกสมาคมอาคารชุดไทยยํ้าว่าปัจจุบันไม่มีโครงการคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ที่หยุดการขาย แม้จะมีปัญหารายงาน EIA และภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทุกรายยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง แต่โครงการใหม่ๆ อาจจะชะลอการเปิดตัวไป สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาด

หน้า 25-26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,503 วันที่ 8-11 กันยายน 2562

                   ผลพวง อีไอเอ-เก็งตลาดผิด  10 ปีหยุดขาย 29 โครงการ