สึนามิซัดไปรษณีย์ไทย ทุนข้ามชาติรุกไม่หยุด

08 ก.ย. 2562 | 01:57 น.

 

“อย่าไปกลัว” นั่นคือคำให้สัมภาษณ์ของ นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือ ปณท ที่ให้สัมภาษณ์กับฐานเศรษฐกิจ

แต่ทว่าในตอนนี้ไม่กลัวไม่ได้แล้วเพราะกลุ่มทุนข้ามชาติเข้ามาบุกตลาดในประเทศไทยทั้ง เคอรี่ เอ็กซ์เพรส, เบสท์ เอ็กซ์เพรส, แฟลช เอ็กซ์เพรส, ลาล่ามูฟ, เอสซีจี เอ็กซ์เพรส และรายล่าสุดคือ J&T Express

 

ทุนข้ามชาติเร่งขยายสาขา

ที่สำคัญแต่ละรายประกาศจะขยายสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ โดยแฟลช เอ็กซ์เพรส  ขยายสาขาจำนวน  1,700  สาขา, เบสท์ เอกซ์เพรส ในเครือ BEST INC โดยมีอาลีบาบาร่วมถือหุ้น ตั้งเป้าขยายจุดให้บริการจำนวน 2,200 สาขาทั่วประเทศ และ J&T Express เปิดอีก 1,000 สาขาภายในสิ้นปีนี้

เหตุผลที่บรรดายักษ์ข้ามชาติเข้ามาลงทุนธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศไทย เป็นเพราะการเติบโตของอี-คอมเมิร์ซในปีที่ ผ่านมา มีมูลค่าไม่ตํ่ากว่า 3.2 ล้านล้านบาท และในปีนี้คาดว่าจะเติบโตประมาณ 8-10%

แต่ละรายมีกลยุทธ์ที่แตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่จะชูจุดขายความรวดเร็วส่งถึงปลายทาง และให้บริการแบบไม่มีวันหยุด ที่สำคัญมีเทคโนโลยีที่ลํ้าสมัยเหนือชั้นและไฮเทคกว่าไปรษณีย์ไทยเสียด้วยซํ้า


 

 

การขยายสาขาเข้ามาของกลุ่มทุนเหล่านี้ส่งผลต่อ ไปรษณีย์ไทย อย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้จากเคยผูกขาดรายเดียว

 

เร่งปรับองค์กร

นั่นจึงเป็นที่มาที่ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สั่งการให้ไปรษณีย์ไทย ศึกษาการรีแบรนด์ ปรับภาพลักษณ์องค์กรใหม่ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติภายในองค์กรแบบทุกมิติ ทั้งนี้การสื่อสารที่ชัดเจนต่อเนื่อง รวมถึงอาจมีการเปลี่ยนวิสัยทัศน์หรือเปลี่ยนวิธีคิด เพื่อให้คนในองค์กรร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างสำเร็จ

ข้อมูลที่ผมรับรู้มา คือรายได้ไปรษณีย์ลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่คู่แข่งภาคเอกชน รายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่านั้น ทั้งๆ ที่ไปรษณีย์ มีจุดเด่นมากมาย เครือข่ายทั่วประเทศ บุรุษไปรษณีย์ รู้จักทุกหมู่บ้าน  เพราะฉะนั้นรายได้ที่ลดลง มันต้องมีอะไรที่ผิดพลาด และต้องปรับปรุงแก้ไข  เพื่อทำให้รายได้ไปรษณีย์เพิ่มขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่า พนักงานทุกคน ไม่ต้องการเห็นรายได้ลดลง ดังนั้นทุกฝ่ายต้องช่วยกัน เพื่อให้ไปรษณีย์มีรายได้เพิ่มขึ้น

 

สึนามิซัดไปรษณีย์ไทย  ทุนข้ามชาติรุกไม่หยุด

 

ไปรษณีย์เร่งปรับธุรกิจ

นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจของไปรษณีย์ไทยแบ่งเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. บริการไปรษณียภัณฑ์ (Mail Service) 2. บริการขนส่งและโลจิสติกส์ (Express and Logistics Service) 3. บริการระหว่างประเทศ (International Service) และ 4. บริการค้าปลีกและการเงิน (Retail and Financial Service) รวมทั้งได้กล่าวถึงนโยบายการดำเนินกิจการไปรษณีย์ในอนาคต และการสนับสนุนวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนประเทศ

ธุรกิจ e-Commerce เติบโตอย่างก้าวกระโดดทำให้การแข่งขันทางธุรกิจโลจิสติกส์มีความรุนแรงมากขึ้น ไปรษณีย์ไทย จึงปรับการดำเนินงาน เช่นการเพิ่มบริการเก็บเงินที่อยู่ผู้รับ (COD) การขยายเวลาให้บริการถึง 20.00 . ในเขตเมือง และถึง 23.00 . ในย่านธุรกิจ และให้บริการ 24 ชั่วโมง ในสนามบินสุวรรณภูมิ ศูนย์ไปรษณีย์ด่วนพิเศษกรุงเทพฯ และไปรษณีย์เดอะสตรีท และเพิ่มมูลค่ากลุ่มบริการเดิม รวมถึงเพิ่มกลุ่มบริการใหม่ เช่น การสร้างรายได้จากข้อมูล การร่วมทุนกับพันธมิตร เช่น บริการ bank@post ที่จับมือกับธนาคารในการฝาก-ถอน-โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารผ่านช่องทางไปรษณีย์ การเพิ่มบริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Wallet@post)”

เรียกได้ว่าเป็นสึนามิซัดเข้ามาถาโถมใส่ ไปรษณีย์ไทย ระลอกแล้วระลอกเล่า

 

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3503 วันที่ 8-11 กันยายน 2562

สึนามิซัดไปรษณีย์ไทย  ทุนข้ามชาติรุกไม่หยุด