อาเซียนบรรลุข้อตกลง ซื้อขายไฟฟ้าผ่านประเทศที่ 3

05 ก.ย. 2562 | 09:54 น.

ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน บรรลุข้อตกลงความร่วมมือด้านการซื้อขายไฟฟ้า โครงการซื้อ-ขายไฟฟ้าแบบพหุภาคี สปป.ลาว - ไทย – มาเลเซีย ในระยะที่ 2 ช่วยส่งเสริมการขยายการซื้อ-ขายไฟฟ้า แบบพหุภาคีไปยังประเทศอื่น ๆ พร้อมผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีที่ส่งเสริมให้พลังงานทดแทนสามารถซื้อขายในสายส่งไฟฟ้าอาเซียนได้เพิ่มขึ้น

 

นายสนธิรัตน์ สนธิจิระวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 37 หรือ AMEM และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้มีข้อสรุปหรือบรรลุเป้าหมายในการประชุมร่วมกัน โดยที่ประชุมได้ติดตามและรับทราบถึงผลลัพธ์ของการประชุม AMEM ครั้งที่ 36 เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2561 ซี่งจัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ ทั้งนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายหลักในการผลักดันให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความมั่นคงและยั่งยืนทางด้านพลังงาน รวมทั้งได้ร่วมกันหารือเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน หรือ ASEAN Plan of Action for Energy Cooperation 2016 – 2025 (APAEC)

 

ขณะที่การผลักดันความร่วมมือด้านการซื้อขายไฟฟ้า ที่ประชุมได้เห็นชอบกับโครงการซื้อ-ขายไฟฟ้าแบบพหุภาคี สปป.ลาว - ไทย – มาเลเซีย ในระยะที่ 2 เพื่อที่จะเพิ่มเพดานปริมาณการซื้อขายไฟฟ้า LTM-PIP ให้ได้ 300  เมกะวัตต์  รวมถึงยอมรับผลการศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ของการซื้อ-ขายไฟฟ้าแบบพหุภาคี พบว่า จะช่วยเพิ่มความสมดุลของระบบสายส่งไฟฟ้า และจะส่งเสริมรายได้แก่ประเทศทางผ่าน อีกทั้งการศึกษาวิจัยนี้ ยังช่วยส่งเสริมการขยายการซื้อ-ขายไฟฟ้า แบบพหุภาคีไปยังประเทศอื่น ๆ ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการก่อตั้งเป็นศูนย์กำกับดูแลการซื้อ-ขายไฟฟ้าแบบพหุภาคีต่อไป

อาเซียนบรรลุข้อตกลง ซื้อขายไฟฟ้าผ่านประเทศที่ 3

                                   นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์

นอกจากนี้ การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในภาคไฟฟ้า ที่ประชุมได้รับทราบถึงความสามารถในการแลกเปลี่ยนซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาค รวมทั้งการผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีที่ส่งเสริมให้พลังงานทดแทนสามารถซื้อขายในสายส่งไฟฟ้าอาเซียนได้เพิ่มขึ้น อีกทั้ง ได้ยินดีและยอมรับการลงนามใน MOU ระหว่าง ASEAN Center of Energy และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งการลงนามใน MOU นี้จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพมากขึ้น ช่วยพัฒนาศักยภาพของบุคลากร และส่งเสริมให้เกิดการก่อตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาเครือข่ายเชื้อเพลิงชีวภาพในภูมิภาคอาเซียน  โดยที่ประชุมได้แสดงความยินดีและชื่นชมกรณีศึกษาเกี่ยวกับการใช้พลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ

 

ส่วนผลการลดความเข้มการใช้พลังงานในอาเซียน รัฐมนตรีพลังงานอาเซียนได้รับทราบความก้าวหน้าของการลดค่าความเข้มของการใช้พลังงาน 24.4% เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2548 ซึ่งมีกิจกรรมภายใต้แผนการลดการใช้พลังงานของภูมิภาค อาทิ การจัดทำมาตรฐานขั้นต่ำอาเซียนของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า อาทิ หลอดไฟ และเครื่องปรับอากาศ

อาเซียนบรรลุข้อตกลง ซื้อขายไฟฟ้าผ่านประเทศที่ 3

 

นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า สำหรับการประชุม AMEM+3 ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 16 เป็นการประชุมของรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานร่วมกับประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี โดยยืนยันว่าอาเซียนกำลังเดินหน้าสู่การบรรลุเป้าหมายความมั่นคงด้านพลังงานที่ดียิ่งขึ้น มีความน่าเชื่อถือทางด้านเศรษฐกิจ และความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมในด้านพลังงาน อีกทั้งยังได้แสดงเจตจำนงในการสนับสนุนความร่วมมือ ASEAN กับประเทศคู่เจรจาบวก 3 และได้เตรียมพร้อมสำหรับการต่อยอดแผน APAEC ระยะที่ 2 สำหรับปี 2564-2568 ซึ่งจะเริ่มใช้ในปี 2563

 

ส่วนการประชุม East Asia Summit Energy Ministers Meeting (EAS EMM) ที่ประชุมยอมรับในความคืบหน้าของการดำเนินกิจกรรมผ่านการทำงาน 3 ความร่วมมือทางด้านพลังงาน คือ 1.การทำงานเกี่ยวกับพลังงานที่ยั่งยืนและการอนุรักษ์พลังงาน 2.การทำงานเกี่ยวกับพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อการคมนาคมและอื่นวัตถุประสงค์อื่น ๆ และ 3. การทำงานเกี่ยวกับ RAPG  ซึ่งที่ประชุมมีความคาดหวังที่จะร่วมมือในด้านการศึกษาวิจัย การพัฒนาและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีคาร์บอนรีไซเคิล อีกทั้งยังมีการเน้นย้ำให้มีการระดมทุนเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานที่หลากหลาย และเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ด้านพลังงานที่มั่นคงและยั่งยืน

อาเซียนบรรลุข้อตกลง ซื้อขายไฟฟ้าผ่านประเทศที่ 3

 

นอกจากนี้ ได้มีการประชุมร่วมกับทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ หรือ IEA และ ทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ หรือ IRENA ซึ่งมีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยที่ประชุมได้รับทราบถึงความต้องการการใช้พลังงานที่มีเพิ่มมากขึ้น และความท้าทายในช่วงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของโลก อีกทั้ง ได้หารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับการผลักดันการซื้อขายพลังงานในภูมิภาค การแปลงพลังงานทดแทนเข้าสู่ระบบไฟฟ้า และบทบาทของพลังงานทดแทน

 

ทั้งนี้ รัฐมนตรีพลังงานอาเซียนได้แสดงความขอบคุณต่อ IEA และ IRENA ที่ได้สนับสนุนอาเซียนในการจัดการกับปัญหาทางด้านพลังงานและเทคโนโลยี รวมทั้งการสนับสนุนการพัฒนาความร่วมมือด้านพลังงาน

 

อีกทั้ง ได้มีพิธีการมอบรางวัล ASEAN Energy Awards โดยรัฐมนตรีอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ และรัฐมนตรีของประเทศคู่เจรจาเป็นผู้มอบรางวัลในแต่ละสาขาให้แก่ผู้รับรางวัล ซึ่งปีนี้มีทั้งหมด 98 รางวัล โดยแบ่งเป็น 5 สาขาดังนี้ 1.สาขาถ่านหินสะอาด 2.สาขาอนุรักษ์พลังงาน 3.สาขาพลังงานทดแทน 4.สาขาการบริหารจัดการด้านพลังงาน และ 5.รางวัลประเภทบุคคลดีเด่นด้านพลังงาน