เปิดไฮไลต์ถก รมต.เศรษฐกิจอาเซียน-RCEP

05 ก.ย. 2562 | 03:28 น.

“จุรินทร์” นำทัพประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจการค้าทั้งอาเซียน อาร์เซ็ป และประเทศคู่เจรจา 6 วัน เน้นบรรลุข้อตกลงการค้าระหว่างกัน พร้อมลงนามข้อตกลง2ฉบับ คือMRA หวังช่วยลดต้นทุนการทำธูรกิจในอุตสาหกรรมรถยนต์ และพิธีสารการระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียนฉบับปรังปรุง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสำคัญในประเทศไทย 3 กลุ่มสำคัญระหว่างวันที่ 5-10 กันยายน 2562 ประกอบด้วย การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Ministers : AEM) ครั้งที่ 51 การประชุมรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป (RCEP) ครั้งที่ 7 และการประชุมระหว่างรัฐมนตรีการค้าอาเซียน 10 ประเทศ กับรัฐมนตรีการค้าของประเทศคู่เจรจา 10 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ แคนาดา และรัสเซีย (แบบแยกรายประเทศ) รวมทั้งการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่กรุงเทพฯ โดยซึ่งตนจะเป็นประธานการประชุมระดับรัฐมนตรีทั้งอาเซียนและอาร์เซ็ป

เปิดไฮไลต์ถก  รมต.เศรษฐกิจอาเซียน-RCEP

ทั้งนี้ในวันที่ 5 กันยายน 2562 จะมีการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนตั้งแต่เวลา 19.00-21.00 น.ก่อนจะเข้าสู่พิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ในเวลา 9.00 น.วันที่ 6 กันยายน 2562 ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย จะเดินทางไปเป็นประธานพิธีเปิด จากนั้นตนจะนั่งเป็นประธานการประชุมตลอดทั้ง 5 วัน สาระที่สำคัญ คือ กำหนดการของวันที่ 7-8 กันยายน 2562 เป็นประธานการประชุมอาร์เซ็ป ที่ไทยพยายามที่จะให้การเจรจาหุ้นส่วนเศรษฐกิจกลุ่มนี้หาข้อสรุปให้ได้มากที่สุดเพื่อจะนำไปสู่การประชุมครั้งสุดท้ายในเดือนพฤศจิกายน 2562 และตั้งเป้าหมายว่าจะให้การเจรจานี้เป็นที่ยุตินำไปสู่การลงนามในปีหน้า ซึ่งถ้าเป็นไปตามเป้าหมายและมีผลบังคับใช้ จะทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์มากคือมีตลาดการค้าเพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศที่ประชากรรวมกัน 50% ของโลกคือ 3,500 ล้านคน

สำหรับการประชุม AEM หรือรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ ถือเป็นการประชุมที่สำคัญโดยการประชุมที่สำคัญคือ  เช่น การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ระหว่างวันที่ 5-6 กันยายน 2562 ซึ่งรัฐมนตรีอาเซียน 10 ประเทศ จะร่วมกันหารือสรุปความก้าวหน้าและความสำเร็จการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียนนับตั้งแต่ไทยรับหน้าที่ประธานอาเซียน เพื่อเสนอต่อที่ประชุมผู้นำอาเซียนต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ที่กรุงเทพฯ ,การประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ป 16 ประเทศ ระหว่างวันที่ 7-8 กันยายน 2562 เพื่อติดตามความคืบหน้าการเจรจา RCEP และปลดล็อคประเด็นติดขัดที่ยังเหลืออยู่ เพื่อกรุยทางให้ผู้นำประกาศสรุปผลการเจรจาในช่วงการประชุมสุดยอดอาร์เซ็ปในเดือนพฤศจิกายนนี้   และการประชุมระหว่างรัฐมนตรีการค้าอาเซียน 10 ประเทศกับรัฐมนตรีการค้าของประเทศคู่เจรจา 10 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ แคนาดา และรัสเซีย (แบบแยกรายประเทศ) ระหว่างวันที่ 9-10 กันยายน 2562 ซึ่งจะเป็นโอกาสที่อาเซียนจะได้หารือพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับประเทศเหล่านี้ และเตรียมการก่อนที่ผู้นำอาเซียนจะพบกับผู้นำของคู่เจรจา 10 ประเทศ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ที่กรุงเทพฯ

เปิดไฮไลต์ถก  รมต.เศรษฐกิจอาเซียน-RCEP

ทั้งนี้ในการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะร่วมกันลงนามเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่ 1. ข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) ผลการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานความปลอดภัยของยานยนต์และชิ้นส่วนของอาเซียน ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาและลดต้นทุนการทำธุรกิจของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะถ้ายานยนต์และชิ้นส่วนผ่านการตรวจสอบรับรองของหน่วยงานทดสอบมาตรฐานในประเทศสมาชิกอาเซียนหนึ่งแล้ว เมื่อส่งออกไปยังสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ก็ไม่ต้องตรวจสอบซ้ำ เพราะถือว่าได้ยอมรับผลการตรวจสอบนั้นแล้ว และ 2. พิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียนฉบับปรับปรุง เพื่อให้กลไกระงับข้อพิพาทของอาเซียนทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งเป็นไปตามหลักการและกระบวนการระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับอาเซียนหากมีปัญหาหรือข้อพิพาทระหว่างอาเซียน เนื่องจากการใช้มาตรการทางการค้าของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อาเซียนก็จะมีกลไกการหารือแก้ไขข้อพิพาทกันเอง โดยไม่ต้องพึ่งการตัดสินขององค์กรนอกอาเซียน ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ถือเป็นความสำเร็จของไทยในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่อาเซียนใช้เวลาเจรจาหาข้อสรุปกันอยู่นานเกือบสิบปี ซึ่งสำเร็จได้ในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียนปีนี้

เปิดไฮไลต์ถก  รมต.เศรษฐกิจอาเซียน-RCEP

ทั้งนี้ อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 (ม.ค. - มิ.ย.) มีมูลค่าการค้ารวม 53,557ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 31,316ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 22,240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเกินดุล 9,076 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจุบันการส่งออกของไทยไปอาเซียน คิดเป็นสัดส่วน 26%ของการส่งออกทั้งหมดของไทย