การเปิดอภิปรายทั่วไป ปมการถวายสัตย์ ควรหรือมิบังควรอย่างไร?

05 ก.ย. 2562 | 06:30 น.

คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3502 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 5-7 ก.ย. 2562  โดย...บากบั่น บุญเลิศ

การเปิดอภิปรายทั่วไป
ปมการถวายสัตย์
ควรหรือมิบังควรอย่างไร?



          กรณีเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ก่อนเข้ารับหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ที่นำกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 ณ พระที่นั่งอัมพรสถานนั้น ได้ผ่านพ้นไปร่วมจะ 2 เดือนแล้ว แต่บรรดาพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เฉพาะอย่างยิ่งนายปิยบุตร แสงกนกกุลเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ที่หยิบยกเอาประเด็นการกล่าวคำถวายสัตย์ที่การกล่าวอาจมีข้อความไม่ครบถ้วนบางส่วนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาอภิปรายโจมตีนายกรัฐมนตรีในสภาและพยายามขยายผลให้เป็นปัญหาและประเด็นทางการเมือง ทำลายเครดิต ความน่าเชื่อถือและความชอบธรรมของรัฐบาล กระทั่งกล่าวหาว่า รัฐบาลเป็นโมฆะไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยอวดอ้างว่าตนเป็นคนแรกที่เปิดประเด็นนี้ ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ ปรากฏคลิปเผยแพร่อยู่โดยทั่วไปในสังคมโซเชียล แทบจะทุกห้องไลน์กลุ่มต่างๆ มาก่อน
          กรณีดังกล่าว เป็นที่ทราบโดยทั่วไปอยู่แล้วว่า มิได้มีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นความผิดแต่ประการใด และเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงรับคำปฏิญาณจากคณะรัฐมนตรี มีพระราชดำรัสตอบและให้กำลังใจแล้ว พิธีการถวายสัตย์ปฏิญาณย่อมถือว่าเสร็จสิ้น ทั้งเมื่อได้ทรงมีพระราชวินิจฉัยโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำรัส พร้อมลายพระหัตถ์แก่คณะรัฐมนตรีแล้ว ย่อมแสดงสัญญาณให้ปวงชนชาวไทยเห็นว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณได้ผ่านพ้นพิธีไปแล้วโดยชอบ แต่ก็ปรากฏว่า ส.ส.ฝ่ายค้านในสภายังไม่ยอมจบและไม่เข้าใจ

การเปิดอภิปรายทั่วไป ปมการถวายสัตย์ ควรหรือมิบังควรอย่างไร?
          เริ่มแรกก็ตั้งเป็นกระทู้ถาม เมื่อยังไม่มีการถามและตอบกระทู้นี้ในสภา ด้วยเหตุที่ผู้ตอบกระทู้ยังติดราชการ ไม่พร้อมหรือไม่อยากตอบปัญหาที่ไม่สมควรจะต้องตอบ ฝ่ายค้านก็พยายามรุกไล่บดขยี้ ต้องการจะให้นายกรัฐมนตรีมาตอบให้ได้ เมื่อเห็นว่าแค่การตั้งกระทู้คงไม่สำเร็จ และยากที่จะไล่ต้อนให้นายกฯ จนมุมได้ จึงคิดอ่านสุมหัวกันยื่นเป็นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 เพื่อจะหาทางให้นายกฯ และคณะรัฐมนตรี มาตอบคำถามเรื่องปมการถวายสัตย์ปฏิญาณให้ได้ว่างั้นเถอะ

          เพียงแต่เพื่อไม่ให้น่าเกลียดว่าจงใจจะถามเรื่องนี้เรื่องเดียว ในญัตติจึงพ่วงคำถามเรื่องการแถลงนโยบายรัฐบาล ที่ไม่มีการระบุถึงที่มาของงบประมาณ ทั้งที่เรื่องแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา จบสิ้นไปเรียบร้อยแล้ว มีการระบุเรื่องนี้ไว้ท้ายในเอกสารคำแถลงนโยบายของรัฐบาลแล้ว
          มีปัญหาและประเด็นน่าพิจารณาอย่างยิ่งว่า การกระทำของฝ่ายค้านกรณีนี้ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่? เป็นการกระทำที่บังควรหรือมิบังควรหรือไม่? ประการใด เป็นเรื่องควรศึกษาและพิจารณาอย่างยิ่ง
          ประการแรก คือ เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้ฝ่ายนิติบัญญัติทำหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ด้วยการเปิดอภิปรายทั่วไปนั้น ได้กำหนดไว้ 2 แบบคือ (1.) การอภิปรายทั่วไปแบบมีการลงมติ ซึ่งมีด้วยกัน 2 วิธี คือ เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี หรือเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล (2.) การอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ โดยทั้ง 2 แบบล้วนมีเจตนารมณ์ให้ฝ่ายนิติบัญญัติ มีอำนาจควบคุมตรวจสอบฝ่ายบริหาร เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินทั้งสิ้น
          โดยเฉพาะกรณีตามมาตรา 152 ที่ฝ่ายค้านนำมาเป็นข้ออ้างในการยื่นญัตติอภิปรายทั่วไป เกี่ยวกับปมการถวายสัตย์ของคณะรัฐมนตรีคราวนี้ กลับมิใช่การเปิดอภิปรายในเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินแต่อย่างใด และฝ่ายค้านจะซักถามหรือแนะนำรัฐบาลเรื่องอะไร เพราะการถวายสัตย์ปฏิญาณของคณะรัฐมนตรี มีความถูกต้องสมบูรณ์ตามประเพณีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้วหรือไม่ ทรงเป็นเรื่องพระบรมราชวินิจฉัย หรือโดยอำนาจพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น มิใช่อำนาจพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด
          และหากสภาผู้แทนราษฎร จะอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ก็กระทำได้เพียงเพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี ในเรื่องเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น และในอดีตที่ผ่านมาเคยมีการเปิดอภิปรายตามรัฐธรรมนูญเช่นนี้ 10 ครั้ง ในรัฐบาลจากอดีตที่ผ่านมา ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลทั้งสิ้น 
          เช่น รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ก็เป็นเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง 28 สิงหาคม 2540, ยุครัฐบาลทักษิณ ก็เป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจนและการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้, สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของพวกเสื้อแดง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ในทำนองเดียวกัน จึงไม่เคยมีครั้งใดที่สภาเปิดอภิปรายทั่วไปในปมเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณ ที่เป็นงานในทางพิธีกรรมตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น หาได้เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินแต่อย่างใด จึงมีปัญหาว่า เป็นการเปิดอภิปรายที่สอดคล้องต้องด้วยเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่

          ประการที่ 2 ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งคือ เมื่อมีการทักท้วงเกี่ยวกับการถวายสัตย์ของคณะรัฐมนตรีแล้ว ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชดำรัส พร้อมลายพระหัตถ์แก่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี โดยมีงานพิธีเข้ารับพระราชดำรัส ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล อันเป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรี ได้ขอพระบรมราชานุญาต 
          เช่นนี้แล้ว ปวงชนชาวไทยผู้จงรักภักดีทุกคน ย่อมทราบดีว่า กรณีเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ของคณะรัฐมนตรี ได้ผ่านพ้นไปโดยชอบแล้ว กรณีจึงไม่มีเหตุอันใดที่ฝ่ายค้านจะต้องอภิปรายหรือซักถาม แม้ซักถามนายกรัฐมนตรีก็ไม่จำเป็นใดๆ ต้องตอบฝ่ายค้านอีกแล้ว คงตอบได้เพียงว่าทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์แล้ว หากท่านใดเห็นว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก็ขอให้เป็นอำนาจพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย เมื่อศาลพิจารณาวินิจฉัยอย่างไรก็เป็นที่สุด ทุกคนก็ต้องเคารพศาลและถือเป็นยุติ จึงไม่มีประเด็นซักถามหรือข้อแนะนำใดๆ ที่รัฐบาลต้องดำเนินการใดอีก
          ดังนั้นสิ่งที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล และฝ่ายค้านทั้งหลาย กำลังดำเนินการอยู่นี้ จึงพึงได้สังวรณ์และควรทบทวนบทบาทการกระทำของตนเอง หากมีความจงรักภักดีและยึดมั่นต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจริงการตีมึนและยังออกมาให้สัมภาษณ์โดยมิได้สำนึกและรับรู้ใดๆต่อสัญญาณดังกล่าวหาได้เกิดประโยชน์ใดๆกับบ้านเมือง และความอยู่ดีกินดีของประชาชนแต่อย่างใดไม่ คงได้แค่ความมันและความสะใจของฝ่ายค้านเท่านั้น และตอกยํ้าข้อสงสัยของประชาชน เรื่องทัศนคติของคนในพรรคอนาคตใหม่ ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อีกด้วย
          ทั้งหมดจึงมีคำถามว่า การกระทำทั้งหลายของฝ่ายค้านในเรื่องนี้ เป็นการกระทำที่บังควรหรือมิบังควร หรือไม่ อย่างไร สมควรอย่างยิ่งที่ฝ่ายค้านควรได้สำนึก หรือจะต้องให้ประชาชน ผู้จงรักภักดีทั้งหลายต้องออกมาสั่งสอน