“เอกชนตุรกี - โตโยต้า”  พบ “สมคิด” ลุยลงทุนในไทย

04 ก.ย. 2562 | 09:39 น.

ทำเนียบหัวกะไดไม่แห้ง “เอกชนตุรกี - โตโยต้า” ยกทีมใหญ่เข้าพบ “รองนายกฯสมคิด” ยืนยันลุยลงทุนในประเทศไทย

 

วันนี้(4ก.ย.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มีคณะนักธุรกิจเข้าพบ 2 คณะ โดยเริ่มจากเวลา 11.00 น. เป็นคณะผู้บริหารระดับสูงของบริษัทและสื่อมวลชนชั้นนำตุรกี และเวลา 13.30 น. นาย Susumu Matsuda ประธาน Toyota Motor Asia Pacific Pte., Ltd. เข้าพบที่ห้องรับรอง 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

 

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงนี้มีแขกมาพบจำนวนมากเฉพาะวันนี้ก็ 2 รายแล้ว เป็นบริษัทใหญ่ของตุรกี แต่เดิมตุรกีไม่ค่อยมาลงทุนในไทยเท่าไร แต่เมื่อเช้าท่านทูตตุรกีประจำประเทศไทยได้พามา ประกอบด้วยหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมพลังงาน การก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐาน เขาก็มีความสนใจที่จะมาลงทุนในประเทศไทยและขอให้ทางบีโอไอและอีอีซีแนะนำพาร์ทเนอร์ให้กับพวกเขาเพื่อมาลงทุนในประเทศไทย จึงถามว่าทำไมสนใจมาลงทุนในประเทศไทย เพราะในอดีตเขามองว่าประเทศไทยเป็นแค่ประเทศที่ส่งไปให้เขา เขาบอกว่าไทยกำลังเป็นศูนย์กลางของการลงทุนเพื่อที่จะลงทุนผลิตเพื่อส่งออกประเทศข้างเคียง เป็นสิ่งที่ดีที่เราจะพยายามรักษาภาพลักษณ์เหล่านี้เอาไว้

“เอกชนตุรกี - โตโยต้า”  พบ “สมคิด” ลุยลงทุนในไทย

ส่วนการพบกับผู้บริหารโตโยต้าฯ นายสมคิด กล่าวว่า ผู้ที่นำกลุ่มโตโยต้ามาวันนี้เป็นรองประธานที่ดูแลทางด้านเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดจีน ตลาดอาเซียนเขามาเพื่อมาบอกกับเราว่าเขายืนยันว่าประเทศจะเป็นฮับที่สำคัญที่สุดของเขาในภูมิภาคแถบนี้ แล้วก็ขณะนี้เขาพยายามทำทุกวิถีทางที่จะให้มีการพัฒนาและผลิตในเรื่องของรถอีวี ให้เร็วที่สุดในอนาคตข้างหน้า การผลิตไฮบริดของเขาขณะนี้จะช่วยสร้างความประหยัดกับการสร้างแบตเตอรี่และอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในรถอีวีในอนาคตข้างหน้า ฉะนั้นเขาก็รับปากว่าจะพัฒนาสิ่งเหล่านี้ไปให้เร็วที่สุด

 

“ผมก็ได้เสนอเขาบอกว่านอกจากในการลงทุนสิ่งเหล่านี้แล้ว อยากให้องค์กรขนาดใหญ่อย่างโตโยต้ามีส่วนร่วมในการผลิตบุคลากรให้เรา ไม่ใช่เฉพาะแค่มานั่งรอวิศวกรที่จบจากมหาวิทยาลัย หากว่าองค์กรขนาดใหญ่แบบนี้สามารถช่วยประเทศไทยในการฝึกและสั่งสอนและสร้างคนของเขาขึ้นมา ถ้าผลิตสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาได้บีโอไอมีมาตรการซัพพอร์ทอยู่แล้ว ฉะนั้นบริษัทเหล่านี้ผมจะดึงมาให้มากที่สุดนะครับ”

 

นายสมคิด กล่าวว่า เมื่อวันก่อนทางกูเกิลก็เหมือนกันเขาประกาศที่จะสร้างอะคาเดมี หรือ กูเกิลอะคาเดมี ที่จะสร้างดิจิทัลฮิวแมนรีสอร์ซโดยที่จะมีสถานีที่เมืองไทย รวมทั้งหัวเหว่ยก็จะมาสร้างอะคาเดมีการผลิตบุคลากรที่ EEC

 

“แนวโน้มเหล่านี้เป็นสิ่งที่บีโอไอกำลังรีแพคเกจใหม่เพื่อให้การจูงใจที่จะดึงให้พวกเขาเหล่านี้มาช่วยพัฒนาและสร้างบุคลากรให้เกิดขึ้น เพราะข้อจำกัดของเราที่เราสู้ประเทศข้างเคียงอย่างเวียดนามเราสู้ลำบากเพราะว่าเรื่องบุคลากรเรามีไม่เพียงพอในเรื่องของวิศวกรและช่าง ฉะนั้นเราต้องเร่งสร้างสิ่งเหล่านี้ให้ทันกับเหตุการณ์ ให้เอกชนมาช่วยกับมหาวิทยาลัยของเราด้วย” นายสมคิด กล่าว

“เอกชนตุรกี - โตโยต้า”  พบ “สมคิด” ลุยลงทุนในไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ได้รายงานผลการหารือระหว่างคณะนักธุรกิจและสื่อมวลชนสาธารณรัฐตุรกี กับนายสมคิดว่า รองนายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับคณะนักธุรกิจและสื่อมวลชนตุรกี เห็นว่าการเดินทางเยือนไทยในครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ดีในการรับทราบนโยบายด้านเศรษฐกิจและการลงทุนของไทย ตลอดจนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และโครงการการลงทุนขนาดใหญ่ของไทย หวังว่าจะมีการลงทุนจากตุรกีในไทยเพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต โอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำนโยบายของไทยที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยเฉพาะโครงการ EEC ที่มุ่งผลักดันไทยสู่เศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่มีการสร้างมูลค่าเพิ่ม และขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมได้อย่างสมบูรณ์

 

ด้านคณะนักธุรกิจตุรกี กล่าวว่า บริษัทฯ ที่เดินทางมาในครั้งนี้เป็นบริษัทที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC โดยทุกบริษัทพร้อมร่วมมือและขยายการลงทุนในประเทศไทยในสาขาที่ตนเองเชี่ยวชาญ และหวังว่า การมาเยือนไทยในครั้งนี้ จะนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ซึ่งตุรกีเห็นว่า ภูมิภาคเอเชียเป็นภูมิภาคแห่งการเติบโตและการลงทุน ในตอนท้าย รองนายกรัฐมนตรีย้ำว่า แม้เศรษฐกิจโลกในขณะนี้จะเผชิญความท้าทาย แต่เป็นโอกาสที่ดีที่จะเข้ามาลงทุน เพื่ออนาคต โดยประเทศไทยมีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ ที่เป็นศูนย์กลางและฐานการผลิต การค้าการลงทุน อีกทั้งเป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (CLMVT) กับอาเซียน

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับบริษัทตุรกีที่เข้าพบนายสมคิดวันนี้มีทั้งหมด 5 บริษัท ได้แก่ 1. บริษัท Roketsans เป็นหนึ่งในสองบริษัทชั้นนำของตุรกีที่ติดอันดับ 100 บริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ของโลก (Defense News Top 100) โดยบริษัท Roketsans อยู่ลำดับที่ 89 มีรายได้ 522.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (บริษัท ASELSAN อยู่ลำดับที่ 52 มีรายได้ 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) 2.บริษัท Rönesans Group ลงทุนด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน/อุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ ด้านสุขภาพ โดยเป็นบริษัทก่อสร้างใหญ่อันดับ 9 ของยุโรป และอยู่ลำดับที่ 36 ในรายการ “Top 250 International Contractors 2018 List” โดยมีรายได้ 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2560)

“เอกชนตุรกี - โตโยต้า”  พบ “สมคิด” ลุยลงทุนในไทย

3. บริษัท Kareks Energy ส่งออกและพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกและเคมีภัณฑ์มากว่า 20 ปี ทำธุรกิจกับจีน เกาหลีใต้ รัสเซีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุโรปตะวันออก และกลุ่มประเทศ C.I.S. (Commonwealth of Independent States 4. บริษัท Akfen Holding ลงทุนในหลากหลายสาขา อาทิ ท่าเรือ (ท่าเรือ Mersin ทางตอนใต้ของตุรกีเป็นหนึ่งในท่าเรือที่สำคัญที่สุดของตุรกี) พลังงาน พลังงานทดแทน อสังหาริมทรัพย์ เหมืองแร่ และก่อสร้าง และ 5. บริษัท Bozankaya เป็นบริษัทชั้นนำในการผลิตยานพาหนะไฟฟ้า (รถ tram/รถเมล์) ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูง ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ชนะการประมูลการผลิตรถไฟฟ้าสายสีเขียวในประเทศไทยมูลค่า 40 ล้านยูโร (ปี 2559)

“เอกชนตุรกี - โตโยต้า”  พบ “สมคิด” ลุยลงทุนในไทย

เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลรายงานอีกว่า  ส่วนที่ นายซูซูมุ มัตสึดะ (Mr. Susumu Matsuda) ประธาน Toyota Motor Asia Pacific Pte., Ltd. นำผู้บริหารในเครือโตโยต้าประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เข้าพบ นายสมคิด นั้น รองนายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับประธานโตโยต้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และคณะผู้บริหารในเครือโตโยต้าประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พร้อมขอบคุณที่โตโยต้ามีนโยบายส่งเสริมไทยเป็นศูนย์กลางการส่งออกในภูมิภาคอาเซียน โดยรัฐบาลไทยให้ความสำคัญ เปิดเสรีเพื่อการลงทุนจากต่างประเทศ พร้อมเน้นย้ำถึงความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีเห็นว่า บริษัทโตโยต้าฯ เป็นหนึ่งในผู้ลงทุนที่เป็นเพื่อนเก่าของไทย เชื่อมั่นว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ประเภทยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle, xEV) จะเติบโตเร็วมากในภูมิภาค ทั้งนี้ เชื่อว่าปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญ นักธุรกิจต้องประเมินยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมเพราะเป็นประเด็นที่โลกให้ความสนใจ

 

ประธานโตโยต้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ขอบคุณรัฐบาลที่ให้ความช่วยเหลือ และสนับสนุนการดำเนินงานของโตโยต้าด้วยดีตลอดมา บริษัท โตโยต้าฯ ยืนยันว่าจะตั้งศูนย์กลางการผลิตที่ไทย ประเทศไทยเป็นหลักในภูมิภาค ในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (xEV) ทุกประเภท ซึ่งบริษัทฯ มีศักยภาพในทุกด้าน และพร้อมใช้ไทยเป็นศูนย์ส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน อย่างไรก็ดี ประเทศไทยสามารถเป็นผู้ผลิตที่ให้ความสำคัญกับ 3R คือ Reduce (ลดการใช้) Reuse (ใช้ซ้ำ) และ Recycle (นำกลับมาใช้ใหม่) ประธานโตโยต้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicle–HEV) ซึ่งมีชิ้นส่วนสำคัญ ได้แก่ 1) แบตเตอรี่ Traction Motor 2) ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS) และ 3) ระบบควบคุมการขับขี่ (DCU) โดยขอให้รัฐบาลพิจารณาแก้ปัญหาในเรื่องต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่ เนื่องจากยานยนต์ไฟฟ้าต้องติดตั้งแบตเตอรี่จำนวนมาก ทั้งนี้ บริษัทฯ จะต้องวางแผน และพิจารณาเลือกประเภทยานยนต์ไฟฟ้าที่เหมาะสมกับไทยและภูมิภาคต่อไป

  “เอกชนตุรกี - โตโยต้า”  พบ “สมคิด” ลุยลงทุนในไทย

โอกาสนี้ บริษัทโตโยต้าฯ ยินดีที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการผลิตยานยนต์ในประเทศไทย เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีประสงค์ให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่อง Smart Farming ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญ และทางโตโยต้าได้ทำการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ความรู้ และพัฒนาการเกษตรกรรมในประเทศไทย

 

รองนายกรัฐมนตรีได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการพัฒนาการศึกษาในประเทศไทย ซึ่ง BOI มีมาตรการสนับสนุนด้านการศึกษา จึงเสนอให้โตโยต้าร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในไทยจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้และพัฒนาบุคลากรในไทย เพื่อผลิตวิศวกร โดยจะเป็นอีกช่องทางที่จะพัฒนาบุคคลากรที่มีความผูกพันกับประเทศญี่ปุ่น และอาจจัดตั้งเป็นศูนย์กลางให้กับบุลากรในประเทศ CLMV เช่นเดียวกับที่มีบริษัทใหญ่ ๆ หลายแห่ง ได้พิจารณาเปิด Academy ในไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC แล้ว

“เอกชนตุรกี - โตโยต้า”  พบ “สมคิด” ลุยลงทุนในไทย