กกร.รับจีดีพีหลุดเป้า 2.9-3.3%

04 ก.ย. 2562 | 09:17 น.

กกร.จ่อปรับจีดีพีใหม่  รับโตหลุดเป้า 2.9-3.3%  เหตุเผชิญปัจจัยกดดันทั้งในและต่างประเทศ พร้อมเรียกร้องภาครัฐ งัดมาตรการดูแลค่าเงินบาทแข็งค่า หลังแข็งเทียบจีน 10% กระทบความสามารถส่งออก ท่องเที่ยวและลงทุน

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคม ธนาคารไทย(TBA)และกรรมการผู้จัดการ ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด(มหาชน)เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)มองว่า  แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือยังอยู่ท่ามกลางปัจจัยกดดัน จากแนวโน้มเศรษฐกิจเดือนกรกฎาคม ซึ่งถือเป็นเดือนแรกของครึ่งปีหลัง แรงส่งเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะที่อ่อนแอต่อเนื่อง สะท้อนการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องหากไม่รวมทองคำ ส่งผลต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม การบริโภคภาคเอกชนแผ่วลงต่อเนื่อง

กกร.รับจีดีพีหลุดเป้า 2.9-3.3%

ดังนั้นจากแนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีแรก ที่อาจมีผลต่ออัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ(จีดีพี)ไทยให้ต่ำกว่ากรอบประมาณการเดิมที่ 2.9-3.3%  กกร.จึงจะทบทวนปรับประมาณการจีดีพีในเดือนตุลาคมอีกครั้ง ส่วนหนึ่งกังวลจากปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทที่แข็งค่ากว่าค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคและมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง จึงอยากให้ทางการออกมาตรการเพื่อดูแลการแข็งค่าของเงินบาทโดยเร็ว เพราะหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป จะกระทบต่อส่งออกให้ลดลงตามไปด้วย โดยประมาณการส่งออกปีนี้ไว้ที่ติดลบ 1-1%

ทั้งนี้ หากดูจากทิศทางค่าเงินบาทพบว่า ยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง และแข็งค่าที่สุดในภูมิภาค โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน บาทแข็งค่าแล้ว 10% เมื่อเทียบกับจีน แข็งค่า 14% เมื่อเทียบกับเกาหลี 14% และหากดูเวียดนามค่าเงินทรงตัวในระดับปกติ ดังนั้นหากปล่อยไว้ ขณะที่คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยลง จะยิ่งมีผลต่อบาทให้แข็งค่า และจะมีผลกระทบต่อการส่งออก การท่องเที่ยว และดึงนักทุนเข้ามาลงทุนมากขึ้น จึงอยากให้ภาครัฐ ออกมาตรการเพื่อดูแลการแข็งค่าของค่าเงินบาทโดยเร็ว หรือใช้โอกาสบาทแข็งในการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) มากขึ้น

กกร.รับจีดีพีหลุดเป้า 2.9-3.3%

“กกร.เป็นห่วงต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ยังขาดปัจจัยหนุน และมีโอกาสมากขึ้นที่ปีนี้ทั้งปี  เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ โดยมองว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 1.25% เพื่อชะลอการไหลเข้าของทุนต่างชาติอาจไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องลดแรงกดดันต่อการแข็งค่าเงินบาทได้ทั้งหมด เพราะการแข็งค่าของเงินบาทขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น พื้นฐานเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง เห็นได้จากดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังเกินดุล ทำให้มีเงินเข้ามาลงทุนต่อเนื่อง ดังนั้น กกร. จะติดตามและทบทวนประมาณการเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ อีกครั้งในเดือนหน้า”

กกร.รับจีดีพีหลุดเป้า 2.9-3.3%

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้จะเห็นว่า เงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องและแข็งค่าค่อนข้างมากเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยแข็งค่าขึ้น 14% เมื่อเทียบค่าเงินวอนของเกาหลีและเงินหยวนของจีน ขณะที่ค่าเงินด่องของเวียดนามทรงตัว ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า ต้องกลับไปเร่งศึกษาหาข้อมูลที่ชัดเจนถึงปัญหาและแนวทางแก้ปัญหา เพื่อรีบนำกลับมาเสนอรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) พิจารณาเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการผ่อนคลายการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งไม่เพียงจะแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น แต่ต้องเตรียมรับมือกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีจะลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกในครั้งถัดไป เท่ากับจะยิ่งทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า และส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทแข็งค่ามากขึ้นอีก สุดท้ายก็จะส่งผลกระต่อการส่งออกรวมถึงการท่องเที่ยวของไทยไปด้วย โดยมองว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องพูดคุยถึงแนวทางรับมือ