หนี้ครัวเรือนสูง  ‘วิรไท’รับ  รั้งเศรษฐกิจไทย

05 ก.ย. 2562 | 23:30 น.

       

 

 

 

 

 

วิรไทรับหนี้ครัวเรือนไทยสูง เป็นจุดเปราะบาง ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย ยันธปท.ไม่นิ่งนอนใจ เร่งสางปัญหาหนี้ผ่าน 3 เรื่องหลัก เน้นกำกับแบงก์ไม่ส่งเสริมคนเป็นหนี้ ลั่นไม่ถอยมาตรการ DSR แต่กำลังศึกษารอบด้านไม่ให้เกิดช่องโหว่ จ่อให้แบงก์รายงานไตรมาส 4 เชื่อช่วยแก้ปัญหาต้นทาง

จากรายงานภาวะสังคมล่าสุดของ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์พบว่า ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยไตรมาส 1/2562 สูงถึง 12.97 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้นถึง 6.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 6.0% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งถือว่าสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชียรองจากเกาหลีใต้ และยังสูงเป็นอันดับ 11 ของโลกจาก 74 ประเทศ

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ถือเป็นจุดเปราะบางสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย เพราะครัวเรือนที่มีหนี้สูง จะไม่มีเงินออม หากมีค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เช่น รักษาพยาบาลหรือเปลี่ยนงาน จะทำให้หนี้เหล่านี้กลายเป็นหนี้เสีย และในแง่ประเทศจะกลายเป็นภาระรัฐบาลที่ต้องเข้ามาดูแล ทำให้หนี้สาธารณะของประเทศสูงขึ้น

หนี้ครัวเรือนสูง  ‘วิรไท’รับ  รั้งเศรษฐกิจไทย

หนี้ครัวเรือนที่สูง จะกลายเป็นภาระฉุดรั้งเศรษฐกิจ เพราะแม้ว่าตัวเลขรายได้ดีขึ้น การจ้างงานยังดี แต่จะเห็นว่า การบริโภคในประเทศไม่ดีขึ้นตาม ธปท.จึงขอข้อมูลปัญหาหนี้ครัวเรือนจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) ข้อมูลสถาบัน การเงิน รวมถึงข้อมูลพฤติกรรมการใช้เงินของคนรุ่นใหม่

ทั้งนี้ธปท.ได้แก้ไขต่อเนื่องผ่าน 3 เรื่องหลักคือ 1.กำกับธนาคารพาณิชย์ไม่ให้ส่งเสริมให้คนเป็นหนี้ ทั้งมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย(LTV) และสินเชื่อจำนำทะเบียน และปัจจุบันกำลังดูเรื่องสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้(Debt Service Ratio)หรือ DSR ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาต้นทางผ่านการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ(Responsible Lending)โดยมีสถาบันการเงินเข้าร่วม 15 แห่งและจะเห็นว่ามี 2-3 แห่งที่หยุดการกระตุ้นสินเชื่อผ่านแคมเปญ 0% นาน 6 เดือน

หนี้ครัวเรือนสูง  ‘วิรไท’รับ  รั้งเศรษฐกิจไทย

วิรไท  สันติประภพ

 

 

 

 

 

อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ออกมายังเป็นการมองแบบรายผลิตภัณฑ์สิ่งที่เห็นคือ ชะลอโปรดักต์หนึ่งแต่ไปโผล่อีกโปรดักต์หนึ่ง ดังนั้นธปท.จึงมีแนวคิดจะไม่ออกเกณฑ์ดูแลเป็นรายโปรดักต์แต่จะดูแบบองค์รวม เพราะหากมี DSR สูงมากๆ จะไม่มีเงินเหลือไปใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจากข้อมูลพบว่ากลุ่มที่มีรายได้ตํ่ากว่า 3หมื่นบาทต่อเดือน มีประมาณ 50% ที่มี DSR สูงอยู่ที่ 70% หรือมีรายได้ 3 หมื่นบาท มีหนี้ 2.1 หมื่นบาท ทำให้มีเงินเหลือใช้เพียง 9,000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพในชีวิตประจำวัน

ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ จะคุมรายได้เฉพาะรายโปรดักต์ เช่น สินเชื่อรถยนต์ คิดว่า มีหลักประกันสามารถยึดรถมาขายทอดตลาด โดยไม่มองลูกหนี้แบบองค์รวม แต่ไปจูงใจให้คนเป็นหนี้ ดังนั้น ธปท.จึงจะทำเรื่อง DSR ซึ่งธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ก็ใช้เกณฑ์ DSR อยู่แล้ว แต่มีวิธีคิด คำนวณและการรายงานแตกต่าง ซึ่งช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ธปท.ได้ทำงานร่วมกับสมาคมธนาคารไทย(TBA)เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และให้ธนาคารพาณิชย์เริ่มส่งรายงานที่เหมือนกันเข้ามาในไตรมาส 4 นี้จากนี้จะมีขั้นตอนการกำหนดนิยาม การรายงาน เพื่อไม่ให้มีช่องโหว่ในการปฏิบัติ

 “ธปท.ไม่ได้ถอยหรือเลื่อนมาตรการ DSR ตามที่มีการสื่อสารกันออกไป แต่เราทำทุกอย่าง จะต้องมีขั้นตอน เพื่อไม่ให้มีช่องโหว่ เพราะเราจะทำเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ข้อมูลจะต้องเชิงลึกมากๆ เพื่อให้ตรงเป้าหมายและวัตถุ ประสงค์การทำ เช่น มาตรการ LTV ที่เน้นการดูแลสัญญาที่ 2 มาตรการดูแลเงินไหลเข้า ซึ่งจะต้องดูเป้าที่จะทำ เหมือนที่เราทำเรื่องการให้บริการลูกค้าอย่างมีธรรมาภิบาล หรือ Market Conduct ในอดีตคนไม่อยากเดินเข้าสาขา เพราะจะเจอพนักงานขายประกัน เราจึงเข้าไปดูทั้งระบบ ทั้งในส่วนของนโยบายธุรกิจ ผลตอบแทน และพนักงาน ไม่ได้ทำแบบโปลิศจับขโมย และมีการเปิดเผยข้อมูลว่า ใครโดนปรับ ใครถูกปรับเรื่องอะไร เพื่อให้เกิดผลต่อเนื่องและยั่งยืน หรือการแข่งขันเกินความพอดี ซึ่งมีอยู่ในหลายมิติ ทั้งด้านราคา การไม่เอาเปรียบลูกค้า ซึ่งทุกธนาคารจะต้องรับโจทย์นี้ไป ธปท.พยายามจะทำเรื่องนี้ โดยที่ผ่านมา เมื่อดอกเบี้ยนโยบายปรับลดในส่วนของธนาคารพาณิชย์ได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยสินเชื่อรายใหญ่ สะท้อนถึงความตระหนักถึงปัญหาร่วมกัน

 

 

 

 

 

ส่วนเรื่องที่ 2.ลูกหนี้ที่ติดกับดักหนี้จะออกจากวงจรหนี้  ธปท.และธนาคารพาณิชย์ได้ทำผ่านโครงการคลินิกแก้หนี้ โดยให้บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิทฯ (SAM) เป็นตัวกลางในการแก้ปัญหาหนี้ โดยที่ผ่านมา มีลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้วกว่า 2,000 รายจึงขยายความร่วมมือไปยังสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non Bank) ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้สามารถเข้าไปแก้หนี้ในปริมาณที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งมีลูกหนี้หลายคนที่มีหนี้ในระดับแสนบาท สามารถผ่อนชำระจนสามารถหลุดจากการเป็นหนี้ภายใน 1 ปี

และเรื่องที่ 3.การให้ความรู้ทางการเงินใน 2 กลุ่มคือ กลุ่มอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสถานะทางการเงินไม่ค่อยดี โดยเริ่มทำผ่านโครงการFin ดี We can do” มีโรงเรียนเข้าร่วมจำนวนมาก ในการวางแผนแก้ปัญหาทางการเงินต่างๆ และกลุ่มเพิ่งเริ่มต้นทำงาน จะทำงานร่วมกับนายจ้าง โดยพยายามสร้างต้นแบบ และนำไปขยายผลไปสู่ความร่วมมือมากขึ้น

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,501 วันที่ 5-7 กันยายน 2562

               หนี้ครัวเรือนสูง  ‘วิรไท’รับ  รั้งเศรษฐกิจไทย