Dual Currency Bond ตราสารหนี้สองสกุล

04 ก.ย. 2562 | 04:10 น.

บทความโดย : สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ( ThaiBMA )

 

โดยปกติตราสารหนี้ทั่วไปจะกำหนดเป็นสกุลเงินเดียว เช่น สกุลเงินบาท หรือดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ Dual currency bond หรือตราสารหนี้สองสกุล ที่กำหนดมูลค่าของเงินต้นและดอกเบี้ยในสกุลเงินที่แตกต่างกัน โดยตราสารหนี้ชนิดนี้เกิดขึ้นครั้งแรกจากผู้ออกในประเทศสหรัฐฯ และยุโรปในช่วงปลายทศวรรษ 1980 นักลงทุนส่วนใหญ่ก็เป็นบริษัทประกันในประเทศญี่ปุ่น นอกจากการมีเงินสองสกุลเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว Dual Currency Bond ยังมีอะไรที่น่าสนใจมากกว่านั้นครับ!

คุณสมบัติหลักของตราสารหนี้สองสกุล ประกอบด้วย

•    สกุลเงินของเงินต้นและคูปองหน้าตั๋วแตกต่างกัน โดยเงินต้นกำหนดเป็นสกุลเงินของประเทศผู้ออก ส่วนคูปองหน้าตั๋วกำหนดเป็นสกุลเงินเดียวกันกับประเทศนักลงทุน เช่น ผู้ออกมาจากสหรัฐฯ เงินต้นอยู่ในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เมื่อมาขายให้แก่นักลงทุนไทย ดอกเบี้ยคูปองจึงจ่ายเป็นเงินบาท หรือจะสลับกันก็ได้ หรือ ทั้งผู้ออกและนักลงทุนจะเป็นประเทศเดียวกันแต่กำหนดให้เงินต้นและคูปองหน้าตั๋วเป็นคนละสกุลเงินก็ได้ ส่วนอายุจะมากกว่า 1 ปีขึ้นไป เป็นตราสารหนี้ระยะยาว

•    ดอกเบี้ยคูปอง มักกำหนดให้จ่ายในสกุลเงินที่มีค่าน้อยกว่าหรืออัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า แต่สำหรับอัตราดอกเบี้ยจะสูงกว่าตราสารหนี้ทั่วไปเพื่อชดเชยความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน

 Dual Currency Bond ตราสารหนี้สองสกุล

คุณสมบัติที่กล่าวมาจะถูกกำหนดตั้งแต่วันที่ออกตราสาร ทั้งผู้ออกและนักลงทุนจะคาดการณ์กระแสเงินสดได้ตั้งแต่ต้น แต่อย่างไรก็ดี เมื่อมีอัตราแลกเปลี่ยนมาเกี่ยวข้อง ย่อมต้องมีความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่นักลงทุนต้องนำมาคำนึงถึงด้วย ตัวอย่างเช่น นักลงทุนไทยซื้อ Dual Currency Bond ที่มีเงินต้น 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ณ อัตราแลกเปลี่ยน 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อครบกำหนดชำระก็จะได้รับเงินต้นคืน 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งหากในวันนั้น เงินบาทแข็งค่าเป็น 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเปลี่ยนเป็นเงินบาทนักลงทุนจะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่ในทางตรงกันข้าม หากเงินบาทอ่อนค่ามาอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ นักลงทุนจะกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น

ตราสารหนี้ประเภทนี้เหมาะกับผู้ออกที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเงินตราต่างประเทศ โดยสามารถใช้เป็นเครื่องมือบริหารกระแสเงินสดให้สอดคล้องกับรายรับรายจ่ายตามสกุลเงินนั้นๆ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ด้านนักลงทุนก็เช่นกัน ควรเป็นผู้ที่มีสินทรัพย์และหนี้สินที่เกี่ยวข้องกับเงินตราต่างประเทศและสามารถรับความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินได้ นอกเหนือจากประโยชน์เชิงธุรกิจทั่วไปแล้ว ตัวอย่างของแนวคิดการประยุกต์ใช้ที่น่าสนใจ ซึ่งจะสามารถช่วยลดความยุ่งยากเรื่องการโอนเงินระหว่างประเทศได้ เช่น มีคนอินเดียจำนวนมากเดินทางเข้าไปทำงานในสหรัฐฯ และมีรายได้สูง กลุ่มคนดังกล่าวโอนเงินกลับเข้ามาให้แก่ญาติพี่น้องที่อินเดียเป็นประจำ ดังนั้นหากนำแนวคิดตราสารหนี้สองสกุลมาประยุกต์ใช้ โดยผู้ออกจะระดมทุนด้วยสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ จากนักลงทุนอินเดียที่ทำงานในสหรัฐฯ เมื่อถึงเวลาจ่ายดอกเบี้ยคูปองสามารถจ่ายเป็นสกุลเงินอินเดียรูปีให้แก่ผู้รับผลประโยชน์ในประเทศอินเดียตามที่นักลงทุนได้ระบุไว้ ทั้งนี้ แนวคิดดังกล่าวยังเป็นเพียงทฤษฎี

สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการออกตราสารหนี้สองสกุล เพราะยังไม่มีกฏเกณฑ์และตลาดรองรับ อย่างไรก็ตามในอนาคต หากมีการออกหลักเกณฑ์และสภาพตลาดเอื้ออำนวย เราอาจเห็นบริษัททั้งไทยและต่างชาติหันมาออกและใช้ประโยชน์จากตราสารหนี้ชนิดนี้ในแง่การขยายธุรกิจระหว่างประเทศก็เป็นได้