นิคมฯ 7 แห่งค้างท่อ รอจัดตั้งเขตส่งเสริมฯ ดึงทุน 3.46 แสนล้าน

07 ก.ย. 2562 | 01:00 น.

 

อีอีซี เผยยังมีนิคมฯ 7 แห่ง ขอจัดตั้งเป็นเขตส่งเสริมพิเศษ รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายรวมพื้นที่เกือบ 6 พันไร่ ดึงเงินลงทุนได้ 3.46 แสนล้านบาท คาดจัดทำรายละเอียดส่งให้พิจารณาได้ภายในปีนี้ หลังตีกลับให้ไปศึกษาจัดทำผังการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่

การจัดตั้งเขตส่งเสริมพิเศษเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ที่ผ่านมาได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว 21 เขต ครอบคลุมพื้นที่ราว 8.67 หมื่นไร่ เป็นพื้นที่รองรับการลงทุนใหม่ประมาณ 2.86 หมื่นไร่ ประมาณการลงทุนที่จะเกิดขึ้นราว 1.3 ล้านล้านบาท

นอกเหนือจากนี้ ยังมีนิคมอุตสาหกรรมอีกหลายพื้นที่ อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียด เพื่อจะยกระดับนิคม เป็นเขตส่งเสริมพิเศษฯ เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามพ...เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอให้ไว้

 

นิคมฯ 7 แห่งค้างท่อ  รอจัดตั้งเขตส่งเสริมฯ  ดึงทุน 3.46 แสนล้าน


 

 

นางสาวทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการสายงานพัฒนาพื้นที่และชุมชน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่ง กำลังขอยกระดับพื้นที่เป็นเขตส่งเสริมเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมพื้นที่ราว 2.06 หมื่นไร่ คิดเป็นพื้นที่รองรับการลงทุนใหม่ประมาณ 5,942 ไร่ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนที่จะเกิดขึ้นราว 3.46 แสนล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาทั้ง 7 แห่งนี้ ได้เคยยื่นเรื่องขอจัดตั้งเขตส่งเสริมมาที่สกพอ.แล้ว แต่ทางคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ยังไม่อนุมัติให้

ทั้งนี้ เนื่องจากในคู่มือการจัดตั้งหรือขยายเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ที่ออกมาใหม่เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 มีการกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไข และวิธีการขั้นตอนการพิจารณาคำขอเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ ต่างจากคำขอจัดตั้งก่อนหน้านี้ จึงทำให้นิคมที่ขอจัดตั้งมาต้องกลับไปจัดทำรายละเอียดขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะการจัดทำผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตส่งเสริมฯและแผนที่แนวเขต เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาและต้องมีไว้แนบท้ายประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย

 

อย่างไรก็ตาม การประกาศพื้นที่เขตส่งเสริมพิเศษฯเพิ่มเติมนี้ คาดว่าทางผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม น่าจะทำรายละเอียดโครงการยกระดับนิคมฯเป็นเขตส่งเสริมฯแล้วเสร็จได้ภายในปีนี้ และนำเสนอกลับมา เพื่อที่กพอ.จะพิจารณาอนุมัติจัดตั้งต่อไป ซึ่งหากจัดตั้งเป็นเขตส่งเสริมพิเศษได้ จะทำให้มีพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนใหม่เพิ่มขึ้น เมื่อรวมกับของเดิมที่ประกาศจัดตั้งไปแล้ว 3.64 หมื่นไร่ สามารถรองรับการลงทุนได้ไม่ตํ่ากว่า 5 ปี

นอกจากนี้ ยังมีโครงการของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะใช้พื้นที่อาคารของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เนื้อที่ 2.4 ไร่ ขอจัดเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกิจการพิเศษ ด้านการแพทย์จีโนมิกส์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุน และสร้างความรู้ทางการแพทย์จีโนมิกส์ ที่จำเป็นให้แก่ประเทศ นำไปสู่การรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึงในระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งขณะนี้ได้ส่งผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการให้สกพอ.พิจารณาเบื้องต้นแล้ว โดยระยะแรกจะใช้พื้นที่ราว 1,700 ตารางเมตร จะมีเงินลงทุนเครื่องมือทางด้านเทคนิคเพื่อนำไปสู่การให้บริการโดยเอกชนประมาณ 1,250 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปี (ปี 2563-2567)

 

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3502 วันที่ 5-7 กันยายน 2562

นิคมฯ 7 แห่งค้างท่อ  รอจัดตั้งเขตส่งเสริมฯ  ดึงทุน 3.46 แสนล้าน