ต้อน 5 หมื่นรายจ่ายค่านํ้า   

06 ก.ย. 2562 | 03:30 น.

 

สทนช.ขีดเส้นภายใน ก.พ.ปี 63 รู้เรื่องแน่ ผลศึกษาจัดระเบียบภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมกว่า 5 หมื่นแห่งทั่วประเทศต้องจ่ายค่านํ้าสาธารณะใน 22 ลุ่มนํ้าทั่วประเทศ  ลุ้นเร็วๆ นี้ทราบอัตราการจัดเก็บที่ชัดเจน      

ตามที่ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติทรัพยากรนํ้า พ.ศ. 2561 ในราชกิจจานุเกษา เล่มที่ 135 ตอนที่ 112 ก หน้าที่ 44-48 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2561  โดยพ.ร.บ.หรือกฎหมายนี้จะใช้บังคับเมื่อพ้น 30 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ยกเว้นบทบัญญัติในหมวด 4 การจัดสรรนํ้าและการใช้นํ้า และมาตรา 104 เกี่ยวกับการออกกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตการใช้นํ้าประเภทที่ 2 (ใช้เพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาและกิจการอื่น) และการใช้นํ้าประเภทที่ 3 (เพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้นํ้าปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มนํ้า) ให้ใช้บังคับเมื่อประกาศใช้กฎหมายไปแล้ว 2 ปี โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการศึกษาก่อนการจัดเก็บตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2562-กุมภาพันธ์ 2563 รวม 270 วัน

 

ต้อน 5 หมื่นรายจ่ายค่านํ้า    

 

แหล่งข่าวจากอดีตกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นํ้า เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากข้อมูลที่ตรวจสอบธุรกิจเอกชนที่อยู่ในข่ายต้องจ่ายค่านํ้าสำหรับการใช้นํ้าประเภทที่ 2 และ 3 พบมีโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 1 หมื่นแห่ง และโรงแรมที่จดทะเบียนกว่า 2 หมื่นแห่ง และไม่จดทะเบียนกว่า 1 หมื่นแห่ง รวมแล้วกว่า 4 หมื่นแห่ง ที่อยู่ในข่ายต้องจ่ายค่านํ้าสาธารณะ ยังไม่นับรวมถึงร้านอาหาร ดังนั้นต้องให้เวลา สำนักงานทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ(สทนช.) ไปศึกษาการเก็บค่านํ้าแต่ละลุ่มนํ้าว่า ควรจะเก็บอัตราเท่าไร เช่นเดียวกันกับการจัดเก็บค่านํ้าของกรมชลประทาน และกรมทรัพยากรนํ้าบาดาลที่ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน ส่วนเงินที่เก็บค่านํ้า เบื้องต้น จะส่งเข้าคลังกลางและอีกส่วนหนึ่งมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อใช้เป็นค่าบำรุงรักษาลุ่มนํ้าในแต่ละปี

นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า กฎหมายนี้จะใช้เวลา 2 ปี ในการทำการศึกษากำหนดคำนิยามกลุ่มของผู้ใช้นํ้าในแต่ละประเภท ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานไหน แล้วจะเก็บค่านํ้าหรือไม่ เก็บอัตราเท่าใด จากปัจจุบันการแบ่งขอบเขตลุ่มนํ้าใหม่จะมี 22 ลุ่มนํ้าหลัก 353 ลุ่มนํ้าสาขา จากเดิม 25 ลุ่มนํ้าหลัก 254 ลุ่มนํ้าสาขา ประกอบด้วย ลุ่มนํ้าสาละวิน ลุ่มนํ้าโขงเหนือ ลุ่มนํ้าโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มนํ้าชี ลุ่มนํ้ามูล ลุ่มนํ้าปิง ลุ่มนํ้าวัง ลุ่มนํ้ายม ลุ่มนํ้าน่าน ลุ่มนํ้าเจ้าพระยา ลุ่มนํ้าสะแกกรัง ลุ่มนํ้าป่าสัก ลุ่มนํ้าท่าจีน ลุ่มนํ้าแม่กลอง ลุ่มนํ้าบางปะกง ลุ่มนํ้าโตนเลสาป ลุ่มนํ้าชายฝั่งทะเลตะวันออก ลุ่มนํ้าเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ลุ่มนํ้าภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน ลุ่มนํ้าทะเลสาบสงขลา ลุ่มนํ้าภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง และลุ่มนํ้าภาคใต้ฝั่งตะวันตก

ต้อน 5 หมื่นรายจ่ายค่านํ้า    

                                                          สำเริง แสงภู่วงค์

 

 

“เมื่อได้ผลการศึกษา ยกตัวอย่างกลุ่มผู้ใช้นํ้าทำนาในเขตชลประทานอาจจะต้องมาขึ้นทะเบียนเป็นผู้ใช้นํ้าด้วย แต่ไม่ต้องขออนุญาตการใช้ ส่วนพวกสูบนํ้าทำนา ประปา/โรงแรม/รีสอร์ต จะต้องให้ไปขึ้นทะเบียนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มนี้จะต้องเสียค่านํ้า จากเดิมที่ไม่เคยจ่ายเลย ต้องรอผลการศึกษาออกมาก่อนว่าการจัดเก็บค่านํ้าที่เหมาะสมควรจะอยู่ในอัตราเท่าใด เพราะจากเดิมมีผู้ประกอบการบางรายเคยจ่ายในพื้นที่กรมชลประทาน อัตราลูกบาศก์เมตรละ 50 สตางค์ แต่ไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายค่านํ้า เป็นแค่ค่าบริหารจัดการเขื่อนที่ได้สร้างไว้ ซึ่งเดิมผู้ใช้นํ้าที่สูบนํ้าจากแหล่งสาธารณะไปใช้ไม่เสียค่านํ้า แต่วันนี้จะต้องสร้างกติกาใหม่ให้มีการเก็บเท่าเทียมกันเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรนํ้าให้มีความยั่งยืน”

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,502 วันที่ 5-7 กันยายน 2562

ต้อน 5 หมื่นรายจ่ายค่านํ้า