‘มูนเค้ก’ ทะยานพันล้าน บิ๊กเนมอัดกลยุทธ์ตลาดชิงแชร์

05 ก.ย. 2562 | 06:08 น.

จับตาตลาดขนมไหว้พระจันทร์ทะยานสู่พันล้านบาท สวนกระแสเศรษฐกิจชะลอตัว “เชียงการีลา” แบรนด์ดัง จัดเต็มส่งแพ็กเกจจิ้ง รสชาติใหม่ ปูพรมขายผ่านออฟไลน์-ออนไลน์ “เอสแอนด์พี” ชู Co-partner รังสรรค์นวัตกรรมรักษ์โลก ขณะที่ร้านอาหารดังพาเหรดขอเอี่ยว ดันตลาดโต 2%

‘มูนเค้ก’ ทะยานพันล้าน บิ๊กเนมอัดกลยุทธ์ตลาดชิงแชร์

ตัวเลขจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในปีที่ผ่านมา ระบุว่าตลาดขนมไหว้พระจันทร์หรือมูนเค้ก มีมูลค่ากว่า 930 ล้านบาทเติบโตเพิ่มขึ้น 3.3% ขณะที่ในปีนี้แม้ภาพรวมเศรษฐกิจและกำลังซื้อจะชะลอตัว แต่แนวโน้มในครึ่งปีหลังที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นจากชนชั้นกลาง ที่หันมาจับจ่ายซื้อของ รวมถึงขนมไหว้พระจันทร์ที่เป็นของกินของฝากในช่วงเทศกาล ส่งผลให้กลุ่มภัตตาคารจีนและแบรนด์ชั้นนำหันมารุกทำตลาด และเลือกใช้เป็นอีเวนต์หนึ่งในการสร้างสรรค์แคมเปญการขาย ปลุกให้ตลาดกลับมาคึกคักและคาดว่าจะกลับมาเติบโตได้ไม่ตํ่ากว่า 2%

‘มูนเค้ก’ ทะยานพันล้าน บิ๊กเนมอัดกลยุทธ์ตลาดชิงแชร์

นายบัญชา พจชมานะวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ภัตตาคารแกรนด์เชียงการีลา จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มการเติบโตของตลาดขนมไหว้พระจันทร์ในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ที่จะถึงในปีนี้ คาดการณ์ว่าจะเติบโตทรงตัวจากปีที่ผ่านมาหรืออาจจะเพิ่มขึ้นราว 1-2% ซึ่งนับว่าเป็นการเติบโตที่น่าพอใจเมื่อเทียบกับสภาพเศรษฐกิจกำลังซื้อในปัจจุบัน โดยในปีนี้บริษัทได้เปิดตัวขนมไหว้ใหม่ 2 ไส้ได้แก่ เปิดตัว 2 ไส้ใหม่ไส้งาดำไข่ กับไส้ถั่วแดงเก๋ากี้นํ้าผึ้ง ออกมารองรับในช่วงเทศกาลโดยมีการวางจำหน่ายตั้งแต่ช่วงที่ผ่านมา

‘มูนเค้ก’ ทะยานพันล้าน บิ๊กเนมอัดกลยุทธ์ตลาดชิงแชร์

“ขณะนี้ยอดสั่งซื้อเริ่มทยอยเข้ามา หลังจากที่เริ่มวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าแล้ว เพื่อรองรับความต้องการในช่วงเทศกาล ทั้งจากลูกค้าองค์กรโดยเฉพาะบริษัทใหญ่ที่ซื้อเป็นของขวัญของฝากในช่วงเทศกาล ขณะที่กลุ่มลูกค้าที่จะซื้อไหว้จะอยู่ในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนวันไหว้เท่านั้น”

‘มูนเค้ก’ ทะยานพันล้าน บิ๊กเนมอัดกลยุทธ์ตลาดชิงแชร์

สำหรับแผนการทำตลาดบริษัทจะให้ความสำคัญกับการสื่อสารแบรนด์ไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เป็นทั้งฐานลูกค้าเดิมและกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพื่อให้ขนมไหว้พระจันทร์ไม่เพียงได้รับความนิยมเฉพาะในช่วงเทศกาลเท่านั้น หากแต่หมายรวมถึงการเป็นของขวัญของฝากที่สำคัญอีกด้วย ควบคู่กับการปรับแพ็กเกจจิ้งให้ดูสวยงามเหมาะสม ในกล่องขนาดบรรจุ 4 ชิ้น และ 2 ชิ้น เพื่อให้มีความสวยงาม พร้อมกันนี้ยังมีแผนในการปรับปรุงแพ็กเกจจิ้ง ด้วยการนำถุงผ้าเข้ามาให้บริการลูกค้า เพื่อตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลก พร้อมทั้งให้ลูกค้าสามารถนำขนมไหว้พระจันทร์ของเราเป็นของขวัญของฝากได้อย่างดี เบื้องต้นขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลในการทำตลาด วัตถุดิบ ต้นทุน เพื่อให้มีขนาดที่เหมาะสมและไม่เป็นการผลักภาระเรื่องของต้นทุนแพ็กเกจจิ้งไปยังลูกค้า

‘มูนเค้ก’ ทะยานพันล้าน บิ๊กเนมอัดกลยุทธ์ตลาดชิงแชร์

“ต้องยอมรับว่าลูกค้ายังมีการจับจ่ายซื้อขนมไหว้พระจันทร์ในช่วงเทศกาลอยู่ แต่ทว่าลดจำนวนลงเช่นจากเดิมเคยซื้อ 2-3 กล่อง ก็ลดเหลือเพียง 1 กล่อง ซึ่งกลุ่มลูกค้าจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มได้แก่ กลุ่มที่ซื้อเป็นของขวัญของฝากในช่วงเทศกาล และกลุ่มคนที่ไปไหว้ ซึ่งในช่วงแรกกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาจะเป็นกลุ่มที่ซื้อเป็นของฝากมากกว่า ขณะที่กลุ่มคนที่ซื้อไปไหว้จะเริ่มคึกคักเพียง 1 สัปดาห์ก่อนถึงเทศกาลเท่านั้น ทำให้บริษัทต้องมีการปรับแพ็กเกจจิ้ง และสินค้าเพื่อให้เหมาะสมกับการซื้อเป็นของขวัญของฝากมากกว่า โดยในปีนี้บริษัทได้มีการปรับขึ้นราคาราว 3-5 บาทต่อชิ้น ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากราคาต้นทุนวัตถุดิบทั้ง ไข่ไก่ ทุเรียนกวน แป้งและค่าแรงที่ปรับขึ้นทำให้บริษัทมีต้นทุนเพิ่มขึ้นมาราว 10-15%”

‘มูนเค้ก’ ทะยานพันล้าน บิ๊กเนมอัดกลยุทธ์ตลาดชิงแชร์

พร้อมกันนี้ยังมีการขยายจุดจำหน่ายรูปแบบคีออส ไปยังช่องทางรีเทลต่างๆที่มีการจัดงานอีกด้วย พร้อมกันนี้ยังขยายช่องทางการจำหน่ายไปยังดีลิเวอรีมากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการ โดยในปีนี้ได้เตรียมพัฒนาแพลตฟอร์มดีลิเวอรี ออนไลน์ของบริษัทอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งในส่วนของการจัดส่งทางไปรษณีย์ และการบริการในพื้นที่ใกล้เคียง โดยคาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จในปีหน้า โดยวางเป้าหมายการเติบโตด้านยอดขายของขนมไหว้พระจันทร์ตลอดช่วงเทศกาล ไว้ที่ 1-2% ใกล้เคียงกับภาพรวมตลาด แบ่งเป็นยอดขายจากแบรนด์เชียงการีลา 40% และรับจ้างผลิต 60%

‘มูนเค้ก’ ทะยานพันล้าน บิ๊กเนมอัดกลยุทธ์ตลาดชิงแชร์

 

ขณะที่นางเกษสุดา ไรวา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไหว้พระจันทร์ปีนี้บริษัทได้พัฒนาไส้ของขนมไหว้พระจันทร์กว่า 17 ไส้ออกมารองรับความต้องการของลูกค้า ที่มีหลายขนาดไม่ว่าจะเป็น 80 กรัม 150 กรัม และ 170 กรัม รวมกว่า 22 รายการ พร้อมทั้งเปิดตัว 4 รสชาติใหม่ ได้แก่ ไส้ส้มช็อกโกแลตลาวา ไส้เบอรี่ผสมอาซาอิเบอรี่ ไส้อินทผาลัมธัญพืช ไส้พุทราและชามะลิ นอกจากนี้ ยังมีไส้ชากุหลาบสตรอว์เบอร์รี่ ไส้มัตฉะเรดบีน และไส้มันม่วง ออกมารองรับความต้องการของคนรุ่นใหม่ ให้หันมานิยมรับประทานขนมไหว้พระจันทร์มากขึ้น โดยประเมินว่าปีนี้แนวโน้มในตลาดช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์จะมีความคึกคักอย่างต่อเนื่อง

‘มูนเค้ก’ ทะยานพันล้าน บิ๊กเนมอัดกลยุทธ์ตลาดชิงแชร์

ทั้งนี้นอกจากรสชาติใหม่แล้ว บริษัทยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาดีไซน์บรรจุภัณฑ์ให้มีความสวยงาม และทันสมัย เพื่อเจาะกลุ่มคนที่ต้องการให้เป็นของขวัญของฝาก พร้อมกันนี้ยังมีการจับมือกับ เอสซีจี ในการออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์เซตลิมิเต็ด อิดิชัน “เซตโคมไฟใต้แสงจันทร์” เพื่อให้นำกลับมาใช้งานได้ใหม่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Shining Moonlight” ออกมารองรับแนวโน้มเทรนด์รักษ์โลกที่กำลังเติบโต

อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากผู้เล่นรายหลักในตลาดแล้วยังมีอีกหลายแบรนด์ที่ต่างเปิดเกมรุกตลาดในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ที่จะถึงนี้ ไม่ว่าจะเป็น ห้องอาหารจีน “หม่าน ฟู่ หยวน” ที่มาพร้อมกับจุดเด่นความเป็นขนมไหว้พระจันทร์สูตรต้นตำรับจากสิงคโปร์ 2 รสชาติ ขนมไหว้พระจันทร์ ไส้ถั่วแดงญี่ปุ่น และ ไส้เม็ดบัวเค็ม แบรนด์ “เกียว โรล เอ็น” ที่เน้นสอดรับไลฟ์สไตล์ฐานลูกค้าคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของแบรนด์โดยการ เปิดตัวรสชาติใหม่ “ยูซึ คัสตาร์ด ลาวา” แบรนด์ “สตาร์บัคส์” ที่นอกจากนี้จะเปิดตัว 4 รสชาติใหม่ กาแฟสตาร์บัคส์ ชาเขียวสตาร์บัคส์และถั่วแดง, ทุเรียนหมอนทอง และช็อกโกแลตมินต์,ชากุหลาบและเบอร์รี่ มันม่วง,อัลมอนด์ ชาโฮจิฉะ และมอคค่า แล้วยังเสิร์ฟเมนูเครื่องดื่มที่รับประทานคู่กับขนมไหว้พระจันทร์โดยเฉพาะออกมา ด้วยต้องการให้ซึมซับเข้าสู่วัฒนธรรมการรับประทาน 

หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3502 ระหว่างวันที่ 5 - 7  กันยายน 2562