‘ศักดิ์สยาม’ เร่งประมูลรถไฟไทย-จีน แสนล้าน ภายในสิ้นปี

03 ก.ย. 2562 | 03:52 น.

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน ครั้งที่ 5/2562

‘ศักดิ์สยาม’ เร่งประมูลรถไฟไทย-จีน แสนล้าน ภายในสิ้นปี

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน ครั้งที่ 5/2562 โดยมี นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่ง ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2562 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม

โดยที่ประชุม ได้รับทราบความก้าวหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา)  และมอบ รฟท. ดำเนินการ ดังนี้

   1. ประสานสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เกี่ยวกับร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน  เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก่อน รฟท. ดำเนินการเวนคืนที่ดินและจัดกรรมสิทธ์ต่อไป และขอความอนุเคราะห์กองทัพบกในการจัดตั้งสำนักงานและการใช้พื้นที่สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วงอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

  2. เร่งพิจารณาผลการประกวดราคา ให้มีความสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ  พ.ศ. 2560

  3. เร่งประกาศประกวดราคาสัญญา 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อยภายในเดือนกันยายน 2562 และดำเนินการเอกสารประกวดราคา สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองภายในเดือนกันยายน 2562

  4. ตั้งคณะกรรมการเจรจากับฝ่ายจีนเพื่อให้ได้ข้อยุติของสัญญา 2.3 (สัญญาระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งขบวนรถและการฝึกอบรมบุคลากร) ก่อนเสนอสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างฉบับสุดท้าย และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

  5. ดำเนินการทบทวนและเสนอเรื่องการปรับกรอบวงเงินสัญญา 2.3 เสนอกระทรวงคมนาคมโดยเร็ว

เพื่อให้สามารถดำเนินการก่อสร้างและเปิดให้บริการในปี 2566 ตามแผนงานที่กำหนดไว้

 

ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบปรับปรุงร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ภายใต้คณะกรรมการฯ จำนวน 4 คณะ ได้แก่

1.คณะอนุกรรมการจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อกำกับการดำเนินโครงการ รถไฟความเร็วสูง

2.คณะอนุกรรมการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางและ จัดทำแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง 3.คณะอนุกรรมการปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ เพื่อทำหน้าที่ เป็นระบบสนับสนุนผู้โดยสารให้กับระบบรถไฟความเร็วสูง 4.คณะอนุกรรมการพัฒนาพื้นที่และเมืองตามแนวเส้นทางโครงการ รถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการนำเสนอร่างคำสั่งแต่งตั้งเพื่อลงนามในคำสั่งแต่งตั้งต่อไป

นอกจากนี้ที่ประชุมได้ติดตามการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2562 อนุมัติงบกลาง วงเงิน 751 ล้านบาท ให้ รฟท. ดำเนินการจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดงานโยธา ระยะที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย ระยะเวลาศึกษา 19 เดือน ซึ่งปัจจุบัน รฟท. อยู่ระหว่างดำเนินการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาฯ โดยมีแผนกำหนดลงนามในสัญญาภายในเดือนกันยายน 2562 สำหรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ เพื่อเชื่อมโยงด้านรถไฟระหว่างไทย-ลาว-จีน ที่มีการประชุมและลงนามความร่วมมือระหว่างกัน เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา จะมีกำหนดการประชุมทั้งสามฝ่ายเพื่อหารือในรายะเอียดในการดำเนินงานต่อไป