ระวัง! สัญญาณเตือนเศรษฐกิจมะกันถดถอยกะพริบยกแผง

03 ก.ย. 2562 | 00:22 น.

เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ เพิ่งออกมายืนยันว่า สถานะทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯยังคงแข็งแกร่งและห่างไกลจากคำว่าเศรษฐกิจถดถอย (recession) ซึ่งโดยทางเทคนิคแล้วก็วัดกันจากการที่เศรษฐกิจหดตัวสองไตรมาสติดต่อกัน แต่ตอนนี้ความหวั่นวิตกเกี่ยวกับเรื่องการถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา มหาอำนาจที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ได้กลับมาอีกครั้งหนึ่งแล้ว

ระวัง! สัญญาณเตือนเศรษฐกิจมะกันถดถอยกะพริบยกแผง

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเปิดฉากทำสงครามการค้าอย่างเต็มอัตราศึกได้เริ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา โดยทั้งสองฝ่ายตั้งกำแพงภาษีใส่กันสูงขึ้น ส่งผลกระทบการนำเข้า-ส่งออกสินค้านับพันรายการครอบคลุมตั้งแต่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฮเทค ของใช้ใกล้ตัวอย่างเสื้อผ้า รองเท้า ของเล่น ไปจนถึงผักผลไม้ ธัญพืช สินค้าการเกษตร และแม้กระทั่งน้ำมันดิบ ทำให้เชื่อว่าความเสียหายจะสั่นคลอนจีดีพีของสหรัฐฯไม่มากก็น้อย แต่นอกเหนือจากนี้แล้ว นักวิเคราะห์เตือนว่า ยังมีดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจถดถอยตัวอื่นๆที่กำลังส่งสัญญาณไฟแดงกะพริบเตือนกันแทบยกแผง ดัชนีหรือตัวชี้วัดเหล่านี้สะท้อนการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งมีอะไรบ้างนั้น ซีเอ็นบีซี สื่อใหญ่ของสหรัฐฯ รวบรวมเอาไว้ดังนี้ 

 

+ตลาดพันธบัตร

หลังจากที่เกิดปรากฏการณ์ inverted yield curve ซึ่งหมายถึงการที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุการไถ่ถอน 10 ปีหล่นมาอยู่ในระดับต่ำกว่าผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี หลายครั้งด้วยกันนับตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคมเป็นต้นมา ความกังวลในเรื่องเศรษฐกิจถดถอยก็มีมากขึ้น เพราะในอดีตที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้มักจะเกิดขึ้นก่อนที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะขาลงหรือเศรษฐกิจถดถอย จึงเป็นตัวชี้วัดที่น่าเชื่อถือ เท่าที่เคยมีการบันทึกสถิติมาพบว่า สหรัฐฯเคยเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่มีสัญญาณของปรากฎการณ์ดังกล่าวในตลาดพันธบัตรเกิดขึ้นนำมาก่อนถึง 7 ครั้งด้วยกัน ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว หลังจากที่เกิดภาวะ inverted yield curve ในตลาดพันธบัตร เศรษฐกิจถดถอยก็มักจะเกิดขึ้นตามมาภายในเวลาประมาณ 22 เดือน    

 

 

+จีดีพี

จีดีพี หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของสหรัฐฯกำลังเติบโตในอัตราที่แผ่วลง กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯรายงานว่า จีดีพีในไตรมาส2 ของปีนี้ ขยายตัวลดลงจาก 3% ในไตรมาสแรก มาอยู่ที่ระดับเพียง 2% ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตของจีดีพีในอัตราต่ำที่สุดของสหรัฐฯนับตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี  2561


 

+ผลกำไรของบริษัทเอกชน

ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ประมาณการว่า ดัชนีหุ้น S&P 500 ของสหรัฐฯจะมีการเติบโตของผลกำไรโดยเฉลี่ยที่ระดับประมาณ 7.6% ในปีนี้ (2562) แต่ปัจจุบัน ตัวเลขประมาณการดังกล่าวปรับลดลงมามาก โดยลงมาอยู่ที่ระดับ 2.3% เท่านั้น  

 

ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทั้งนักวิเคราะห์จากโกลด์แมนแซคส์ และซิตี้กรุ๊ป พร้อมใจกันปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของผลกำไรของหุ้นในดัชนี S&P 500 ลงมาโดยให้เหตุผลว่านอกจากเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงแล้ว สงครามการค้ายังเป็นอีกปัจจัยลบ ประกอบกับค่าเงินที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลง

ระวัง! สัญญาณเตือนเศรษฐกิจมะกันถดถอยกะพริบยกแผง

+ภาวะหดตัวในภาคอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐฯมีการขยายตัวในอัตราที่ลดน้อยลง โดยในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ หรือ PMI (purchasing managers’ index) ของสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับ 49.9 ลดลงจากระดับ 50.4 ในเดือนกรกฎาคม และนับเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบเกือบๆ 10 ปี(นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2552)

 

การที่ค่าดัชนี PMI ต่ำกว่าระดับ 50.0 นั้น ถือว่าเป็นสัญญาณการหดตัวของภาคการผลิต  เจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เคยออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับการแผ่วลงของเศรษฐกิจที่สะท้อนจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ขยายตัวน้อยลงในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา  โดยระบุว่าสงครามการค้าและเศรษฐกิจโลกโดยรวมที่มีแนวโน้มชะลอตัวเป็นปัจจัยลบที่บั่นทอนความมั่นใจของบริษัทเอกชนและส่งผลต่อการวางแผนการลงทุน

 

ระวัง! สัญญาณเตือนเศรษฐกิจมะกันถดถอยกะพริบยกแผง

+ดัชนีในภาคการขนส่งสินค้า

ดัชนีการขนส่งสินค้าของสหรัฐฯ หรือ The Cass Freight Index แนวโน้มอ่อนแรงลงเช่นกัน โดยในเดือนก.ค. ดัชนีดังกล่าวลดลง 5.9% หลังจากที่เคยลดลงมาแล้ว 5.3% และ 6% ในเดือนมิ.ย. และพ.ค.ตามลำดับ ดัชนีการขนส่งสินค้าที่สะท้อนการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเมื่อสองเดือนที่ผ่านมา ขณะนี้กำลังส่งสัญญาณเตือนภาวะเศรษฐกิจหดตัวอาจเกิดขึ้นในอนาคต  ปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นทำให้คาดว่า จีดีพีของสหรัฐฯอาจติดลบในช่วงสิ้นปีนี้


 

ระวัง! สัญญาณเตือนเศรษฐกิจมะกันถดถอยกะพริบยกแผง

+ราคาทองแดง

ราคาทองแดงถูกนำมาใช้เป็นตัวชี้วัดสถานะความแข็งแรงทางเศรษฐกิจได้ เนื่องจากทองแดงเป็นโลหะที่ใช้มากในอุตสาหกรรมการก่อสร้างทั้งอาคารที่พักอาศัยและอาคารเชิงพาณิชย์ ในรอบ 6 เดือนแรกของปีนี้ ราคาทองแดงปรับลดลงมาแล้วมากกว่า 13%

 

+ราคาทองคำ

นับตั้งแต่ที่สหรัฐฯและจีนยกระดับมาตการตอบโต้ทางการค้าในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ราคาทองคำพุ่งทะยานขึ้นไปมากกว่า 20% แล้ว เนื่องจากในยามที่เกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ นักลงทุนก็มักจะหันไปหาพันธบัตรรัฐบาลและทองคำ เป็นที่พึ่งที่ปลอดภัยสำหรับการลงทุน

 

+ดัชนี EPU

ดัชนีความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจ หรือ ดัชนี EPU (Economic Policy Uncertainty Index) ถูกใช้เป็นตัวชี้วัดหรือบ่งบอกถึงความกังวลที่เกี่ยวข้องกับนโยบายต่างๆของภาครัฐ ซึ่งในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่า ดัชนี EPU ของทั่วโลกขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 342 ซึ่งถือว่าเป็นค่าดัชนีที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีการจดบันทึกมา  

 

+การใช้จ่ายของภาคธุรกิจ

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯชี้ว่า ตัวเลขการลงทุนโดยรวมของภาคเอกชนภายในประเทศลดลง 5.5% ในช่วงไตรมาส2 ของปีนี้ ถือเป็นสถานะที่ย่ำแย่ที่สุดในแง่การลงทุนภายในประเทศนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2558 เป็นต้นมา กล่าวได้ว่า นอกเหนือจากการได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการลดภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ในปี 2560 แล้ว หลังจากนั้นมาก็ไม่มีอะไรเป็นสิ่งเร้าที่ทำให้บริษัทเอกชนสหรัฐฯอยากจะใช้จ่ายหรือขยายการลงทุนมากนักท่ามกลางบริบทของความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ