‘ธนสรร’จ่อคว้า ผลิตข้าวเหนียว ป้อนร้านธงฟ้า

03 ก.ย. 2562 | 07:00 น.

“ธนสรร ไรซ์” ตัวเต็งผลิตข้าวเหนียว 3 แสนถุงป้อนร้านธงฟ้าทั่วประเทศ อธิบดีค้าภายในสายตรงทาบทาม แย้มอาจให้รายเดียวผลิต ชง “จุรินทร์” ของบกว่า 10 ล้านดำเนินการ โรงสีลุ้นราคาข้าวดิ่งหรือไปต่อ

จากราคาข้าวเหนียวทำสถิติราคาสูงสุดในรอบกว่า 10 ปี โดยราคาข้าวสารเหนียวในตลาดเวลานี้เฉลี่ยที่ 40-50 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ขณะที่ราคาข้าวเปลือกเหนียวที่ชาวนา ขายได้เฉลี่ยที่ 1.45-2.1 หมื่นบาทต่อตัน (ตามค่าความชื้น) สูงสุดเป็นประวัติการณ์สร้างรอยยิ้มให้กับชาวนา แต่อีกด้านราคาข้าวเหนียวที่แพงขึ้นกระทบผู้บริโภคเดือดร้อน ล่าสุดกรมการค้าภายในเตรียมให้เอกชนผลิตข้าวสารเหนียวบรรจุถุงขนาด 2 กิโลกรัม (กก.) และ 5 กก.เป้าหมาย 2-3 แสนถุงมีแผนวางจำหน่ายผ่านร้านธงฟ้ากว่า 4 หมื่นแห่งทั่วประเทศ รวมถึงกระจายในห้างค้าปลีกในราคากก.ละ 35 บาทนั้น

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ได้ประสานกับกลุ่มผู้ประกอบการโรงสีไว้ 2-3 รายในการผลิตข้าวถุงป้อนให้กับโครงการ รวมถึงประสานกับสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทยให้ช่วยอีกแรงหากโรงสีไม่สามารถรับได้ทั้งหมด เบื้องต้นทางกรมได้ทำหนังสือถึงนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายก รัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เพื่อเซ็นอนุมัติของบจากสำนักงบประมาณเพื่อใช้ในการบริหารจัดการโครงการในเบื้องต้นกว่า 10 ล้านบาท

“มีความเป็นไปได้ที่อาจพิจารณาเอกชนรายเดียวให้เป็นผู้ดำเนินโครงการนี้หากเขารับไหว และเสนอราคาตํ่าสุด โดยมีเงื่อนไขเขาต้องจัดหาข้าวให้เราด้วย จากเวลานี้ทางกรมได้ข้าวราคาพิเศษจำนวนหนึ่งมาจากผู้ประกอบการโรงสีที่ได้ขอความร่วมมือไปไว้ผลิตโดยได้มาราคา ตํ่ากว่า 45 บาทต่อกิโลกรัมจากเวลานี้ต้นทุนวัตถุดิบข้าวสารเหนียวตก 45-46 บาทต่อกิโลกรัม”

ส่วนในทางปฏิบัติโครงการข้าวถุงครั้งนี้ เอกชนต้องเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องการจัดหาข้าว การผลิตถุง และบรรจุถุง การขนส่ง และกระจายข้าวที่ต้องไปคอนแทร็กต์กับเครือข่ายในการจัดส่งสินค้า โดยทางกรมจะให้พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศเป็นผู้ตรวจรับสินค้าที่ปลายทาง หากข้าวขายไม่หมดเอกชนต้องรับภาระในส่วนนี้ด้วย ส่วนค่าบริหารจัดการทางกรมจะจ่ายให้เอกชนภายหลัง คาดข้าวถุงล็อตแรกจะกระจายสู่ตลาดได้ในปลายสัปดาห์แรกของเดือนกันยายนนี้ ซึ่งจะดูผลตลอดทั้งเดือนกันยายนว่าความเดือดร้อนผู้บริโภคลดลงหรือไม่ หากคลี่คลายจะหยุดเร็ว หากยังไม่คลี่คลายก็จะทำต่อ แต่ยํ้าว่าจะทำชั่วคราว เพื่อไม่ให้กระทบราคาข้าวเปลือกที่ชาวนาขายได้ โครงการนี้ยอมรับว่ารัฐขาดทุนแต่จำเป็นต้องทำ

นายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการบริษัท ธนสรร ไรซ์ จำกัด ผู้ประกอบการโรงสี และผู้ส่งออกข้าวอันดับ 3 ของประเทศมีโรงงานที่จ.ชัยนาท เผยว่า ได้รับการติดต่อจากอธิบดีกรมการค้าภายในให้ร่วมโครงการนี้ซึ่งคงเป็นไปตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่คงต้องแข่งเสนอราคากับรายอื่น เวลานี้ยังไม่ทราบหลักเกณฑ์ รายละเอียดที่ชัดเจน แต่เมื่อภาครัฐขอความร่วมมือมาก็พร้อมช่วย อาจขาดทุนบ้างก็ต้องยอม ซึ่งปริมาณข้าว 2-3 แสนถุงไม่ถือว่าเยอะมาก พอรับไหว

นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ราคาข้าวเหนียวสูงสุดรอบ 11 ปี นับจากปี 2551 ที่จีนเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกได้มากว้านซื้อข้าวเหนียวไปเพื่อทำขนม และอื่นๆ ส่งผลให้ราคาข้าวเหนียวไทยพุ่งสูง แต่ปีนี้พุ่งแรงกว่า ผลพวงจาก 3 ปัจจัยคือ 1.มีนํ้าท่วมในภาคอีสานปี 2560 ทำให้แหล่งปลูกใหญ่เช่นที่สกลนครได้รับความเสียหายจำนวนมาก 2.ปี 2561 ข้าวหอมมะลิราคาดี เกษตรกรหันมาปลูกมากขึ้น ลดปลูกข้าวเหนียว และ 3.ปีนี้เกิดภัยแล้ง ผลผลิตข้าวเหนียวมีแนวโน้มลดลง ความต้องการตลาดยังสูง (ผลผลิตข้าวเหนียวของไทยเฉลี่ยต่อปี 6-7 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็น 3.6-4.2 ล้านตันข้าวสาร ส่วนใหญ่บริโภคในประเทศ ส่งออกน้อย เช่นปี 2561 ส่งออก 1.8 แสนตัน และครึ่งแรกปีนี้ส่งออก 6.1 หมื่นตัน)

“การผลิตข้าวสารเหนียวที่กำลังจะออกมา หลายฝ่ายจับตาว่าจะกระทบด้านจิตวิทยา ทำให้ราคาข้าวเปลือกเหนียวของเกษตรกรจากนี้จะยังสูงหรือลดลง แยกเป็น 2 กรณี 1.จากสต๊อกน้อย (ตัวเลข 4.2 หมื่นตันจากปกติมีสต๊อกรวมกว่าล้านตัน) ความต้องการตลาดสูง ราคาข้าวเปลือกจะยังสูงต่อเนื่อง และ 2.ประชาชนเห็นข้าวเหนียวราคาแพง หันไปบริโภคข้าวชนิดอื่นที่ถูกกว่ามากขึ้น ข้าวเปลือกเหนียวที่ทยอยออกมาประปรายในช่วงนี้ และออกมากสุดช่วงเดือนตุลาคม ราคาอาจปรับตัวลดลงตามกลไกตลาด”

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3501 วันที่ 1-4 กันยายน 2562

‘ธนสรร’จ่อคว้า  ผลิตข้าวเหนียว  ป้อนร้านธงฟ้า