บจ.กำไร ดิ่งเหว  เซ่นพิษ เทรดวอร์

01 ก.ย. 2562 | 11:00 น.

โบรกพาเหรดหั่นกำไรบริษัทจดทะเบียน ลดเป้าดัชนีหุ้นไทย และ EPS หลังไตรมาส 2 ทรุดหนัก เหตุสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีนกระทบ หวังครึ่งปีหลังทรงตัวได้ แต่ต้องเติบโตไม่น้อยกว่า 20%

ผลกระทบจากสถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐฯกับจีนเริ่มขยายเป็นวงกว้าง จากความยืดเยื้อและตอบโต้กันไปมาไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มชะลอ และกังวลว่าอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย สำหรับประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย โดยเฉพาะตลาดทุน สะท้อนจากกำไรสุทธิบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไตรมาส 2 และ 6 เดือนแรก ปี 2562 ที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เตรียมปรับลดประมาณการกำไรสุทธิบจ.ในปีนี้ลง

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บ.ล) เอเซีย พลัส จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ในไตรมาส 2 ปี 2562 บริษัทจดทะเบียน ไทยมีกำไรสุทธิรวม 216,000 ล้านบาท ลดลง 18.7% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2562 ที่มีกำไรสุทธิ 266,000 ล้านบาท (QoQ) และลดลง 17.1% (YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2561 ที่มีกำไรสุทธิ 261,000 ล้านบาท โดยเป็นการหดตัวค่อนข้างมาก ส่งผลให้ภาพรวมกำไรสุทธิครึ่งแรกของปี 2562 อยู่ที่ 483,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 46.79% ของประมาณการกำไรทั้งปี 2562 ที่คาดไว้ที่ 1.03 ล้านล้านบาท ลดลง 13.15% เมื่อเทียบกับครึ่งแรกปี 2561

บจ.กำไร ดิ่งเหว   เซ่นพิษ เทรดวอร์

อย่างไรก็ตามบล.เอเซีย พลัสฯ ได้ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิบจ.ปี 2562 ลง 2.7% อยู่ที่ 999,000 ล้านบาท จากเดิม 1.03 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นกำไรต่อหุ้น (EPS) ที่หุ้นละ 100.64 บาท จากเดิมหุ้นละ 103.32 บาท ทำให้เป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปีนี้ปรับลดลงมาอยู่ที่ 1655 จุด อิง P/E ที่ประมาณ 16.45 เท่า จากเดิมคาดอยู่ที่ 1699 จุด ทั้งนี้ปัจจัยกดดันมาจากประเด็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่ยืดเยื้อ และกระทบวงกว้าง โดยเฉพาะภาคการส่งออกของไทย ที่มีจีนเป็นคู่ค้าหลัก รวมถึงการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดดอกเบี้ย ยังกระทบต่อประมาณการกำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปี 2562 ลง 3.8% และปี 2563 ลง 5.2%

สำหรับ บจ.ที่มีการปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิ คือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (บมจ.) (TRUE), บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB), บมจ.ธนาคารกรุงไทย (KTB), บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF), บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC), บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS), บมจ.โออิชิ กรุ๊ป (OISHI) และบมจ.ทีทีซีแอล (TTCL)

ขณะที่ บจ.ที่มีการปรับลดประมาณการกำไรสุทธิ คือ บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC), บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCC), บมจ. อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL), บมจ. ไออาร์พีซี (IRPC), บมจ. บ้านปู (BANPU), บมจ. การบินไทย (THAI), บมจ.การบินกรุงเทพ (BA), บมจ. ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) และบมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV)

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ สำนักวิจัยทิสโก้ กล่าวว่า คาดกำไรสุทธิบจ.ปีนี้อยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท ส่วน EPS ในปีนี้ปรับประมาณการลดลงต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปีนี้จะอยู่ที่ประมาณหุ้นละ 101 บาท ส่วนปี 2563 อยู่ที่หุ้นละ 112 บาท ขณะที่เป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปีนี้ ยังคงไว้ที่ 1790 จุด แต่มีแนวโน้มจะปรับลดเป้าหมายอีก 2-3% คาดจะอยู่ที่ 1750 จุด ทั้งนี้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังมีความคาดหวังที่จะได้เห็นการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) รวมถึงความชัดเจนของกองทุนรวมใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนกองทุน LTF ที่จะหมดสิทธิประโยชน์ทางภาษีในสิ้นปีนี้

บทวิเคราะห์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) จก. ระบุว่า หากกำไรสุทธิทั้งปี 2562 จะทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน ในงวดครึ่งหลังปี 2562 จำเป็นต้องเติบโตไม่น้อยกว่า 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยความคาดหวังอยู่ที่การเติบโตในไตรมาส 4 ปี 2562 เป็นหลัก เพราะฐานที่ตํ่าในช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากในไตรมาสนั้น กำไรสุทธิรวมออกมาเพียงแค่ 156,000 ล้านบาทเท่านั้น ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ใน Bloomberg Consensus ได้ปรับคาดการณ์ EPS ลดลงเหลือหุ้นละ 101.3 บาท หรือลดลง 3.3% ส่งผลให้คาดการณ์การเติบโตสำหรับปีนี้เหลือ 5% แม้ว่าฐานกำไรปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับไม่สูงนักก็ตาม

ขณะที่แนวโน้มผลประกอบการครึ่งหลังปีนี้ของกลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี กลุ่มโรงกลั่น มีปัจจัยบวกหนุนจากมาตรการ IMO, กลุ่มธนาคารพาณิชย์ มีแนวโน้มตั้งสำรองน้อยลง ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต่อมาตรฐานบัญชี ขณะเดียวกัน กลุ่มสื่อสาร มีทิศทางเชิงบวกและจ่ายเงินปันผลระดับ, กลุ่มอาหาร ราคาเนื้อสัตว์ฟื้นตัว และกลุ่มค้าปลีก ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ 

ด้านตลาดหลักทรัพย์ฯรายงาน ( 30 สิงหาคม 2562 )ว่าบริษัทจดทะเบียน (บจ.)ที่นำส่งผลดำเนินงานมีจำนวน 679 หลักทรัพย์ หรือคิดเป็น 95.4% จากทั้งหมด 712 หลักทรัพย์ (ไม่รวมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน บริษัทในกลุ่มที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน หรือ NC และบริษัทที่แก้ไขการดำเนินงานไม่ได้ตามกำหนด หรือ NPG)โดยบจ.ที่รายงานผลกำไรสุทธิมีจำนวน 501 หลักทรัพย์ คิดเป็น 73.8% ของหลักทรัพย์จดทะเบียนที่นำส่งงบการเงินทั้งหมด

ผลดำเนินการงานของบจ.ในไตรมาส 2/2562 มียอดขายรวม 2,781,374 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 0.8% กำไรจากการดำเนินงานหลัก 183,974 ล้านบาท ลดลง 35.8% และมีกำไรสุทธิ 164,713 ล้านบาท ลดลง 20.7%  ขณะที่ผลการดำเนินงานของบจ.ในงวดครึ่งแรกปี 2562 มียอดขายรวม 5,534,042 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.5% กำไรจากการดำเนินงาน (core operating profit) 424,068 ล้านบาท ลดลง 21.5% และมีกำไรสุทธิ 373,170 ล้านบาท ลดลง 17.1% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน 

“ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปีอ่อนตัวลงมาก เนื่องจากในไตรมาสสองเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ที่ยืดเยื้อ ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลอุตสาหกรรม ข้อมูลเศรษฐกิจมหภาค รวมถึงติดตามข่าวสารเศรษฐกิจโลก และพิจารณาการลงทุนด้วยความระมัดระวัง” นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ  หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ ฯ กล่าว.


 

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,501 วันที่ 1-4 กันยายน 2562

บจ.กำไร ดิ่งเหว   เซ่นพิษ เทรดวอร์