ทุนระนองรุกคืบ มะริด-ทวาย รับแผนเมียนมาบูมฝั่งทะเลใต้

02 ก.ย. 2562 | 23:35 น.

เอกชนระนองปัดฝุ่นที่ท่าเรือข้างประภาคาร ตั้งเขตฟรีโซนตลาดนัดชายแดนติดปีกค้าเพื่อนบ้าน พร้อมข้ามฟากขยายการลงทุนลึกสู่มะริด-ทวาย หัวเมืองใหญ่ริมฝั่งอันดามัน รับแผนบูมเศรษฐกิจพื้นที่ตอนใต้ของเมียนมา

ทุนระนองรุกคืบ มะริด-ทวาย รับแผนเมียนมาบูมฝั่งทะเลใต้

นายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง รองประธานหอการค้าจังหวัดระนอง  เปิดเผยว่า จากนโยบายการพัฒนาพื้นที่ตอนใต้หลายเมืองของเมียนมา ทำให้เมืองชายทะเลเหล่านี้กำลังเติบโตและมีความต้องการสินค้าและบริการต่างๆ สูงขึ้น จึงเริ่มมองหาโอกาสการค้าการลงทุนในเส้นทางการค้าใหม่ที่จะมีความสำคัญในอนาคต โดยขยายจากเกาะสอง สู่มะริด ทวาย จนถึงย่างกุ้ง ทุนระนองรุกคืบ มะริด-ทวาย รับแผนเมียนมาบูมฝั่งทะเลใต้

 

ขณะนี้มีนักธุรกิจจากระนอง เดินทางเข้าไปลงทุนในเขตเมียนมาตอนใต้ โดยเฉพาะย่านจังหวัดทวาย-มะริด เป็นจำนวนมาก สอดรับกับแผนพัฒนาของทางการ ที่กำลังลงทุนก่อสร้างท่าเรือทวาย รองรับเขตนิคมอุตสาหกรรม ศูนย์กลางการขนส่งสินค้าฝั่งอันดามัน รวมถึงก่อสร้างเส้นทางคมนาคม เชื่อมโยงโครงข่ายโลจิสติกส์เชื่อมทั้งกับไทยและจีน

เมียนมายังมีปัจจัยดึงดูดการลงทุน คือ มีกำลังแรงงานจำนวนมากและราคาถูกกว่าฝั่งไทย รวมถึงทางการเมียนมาผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆ ลงเป็นจำนวนมาก ขณะที่ในฝั่งไทยยังมีกฎเกณฑ์กติกาและขั้นตอนการปฏิบัติยืดยาว กฎหมายล้าหลังไม่ทันการเปลี่ยนแปลง เป็นอุปสรรคการลงทุน

นอกจากนี้ภาคเอกชนระนองกำลังเร่งผลักดันโครงการรองรับการขยายตัวของการค้าชายแดน  คือการจัดตั้งเขตค้าขายพิเศษ (ฟรีโซน) หรือตลาดนัดการค้าชายแดน ในรูปแบบตลาดนัดโรงเกลือ ขึ้นที่บริเวณท่าเรือข้างประภาคาร ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของด่านศุลกากรระนอง ตั้งอยู่พื้นที่ ม. 5 ต.ปากนํ้า อ.เมืองระนอง ซึ่งทางจังหวัดมีแผนที่จะผลักดันให้บริเวณดังกล่าวเป็นท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมบรรยากาศการค้าขายตามแนวชายแดนด้านจ.ระนอง-เกาะสอง ทั้งยังเป็นการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ตามยุทธศาสตร์การพัฒนา ที่จะผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการเชื่อมโยงการค้า การลงทุนได้ทั้ง 2 ประเทศ

 

นายกฤษณะ เอี่ยมวงศ์นที  อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า นักธุรกิจชาวเมียนมา โดยเฉพาะทางพื้นที่ตอนใต้ของประเทศในย่านมะริดและทวาย ต้องการค้าขาย หรือร่วมทำธุรกิจกับนักธุรกิจไทย มากกว่านักธุรกิจจากประเทศอื่น แต่ยังติดปัญหาความหวาดระแวงต่อกัน ซึ่งขจัดได้ด้วยการพบปะพูดคุยกันบ่อยๆ หากทำได้เชื่อว่าการค้าขาย การลงทุนในย่านนี้จะสามารถขยายตัวได้อีกมาก  

ปัจจุบันพบว่าหลายรายได้เข้าไปตั้งฐานในเมียนมา ในรูปแบบการร่วมลงทุนกับเมียนมา อาทิ ประมง, ห้องเย็น, อุตสาหกรรมไม้, แปรรูปสัตว์นํ้า เพาะเลี้ยงสัตว์นํ้า ส่วนที่กำลังจะเข้าไปดำเนินการคือกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม เพื่อรับการขยายตัวในเมียนมา 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,500 วันที่ 29 - 31 สิงหาคม 2562

ทุนระนองรุกคืบ มะริด-ทวาย รับแผนเมียนมาบูมฝั่งทะเลใต้