"จุรินทร์" ลุยกอบกู้ ตลาดข้าวอิรัก ใครทำพัง

30 ส.ค. 2562 | 09:07 น.

คอลัมน์อยู่บนภู ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3501 หน้า 16 ระหว่างวันที่ 1-4 ก.ย.2562 โดย... กระบี่เดียวดาย

 

"จุรินทร์" ลุยกอบกู้

ตลาดข้าวอิรัก ใครทำพัง ..?

 

          หลังออกสตาร์ททำงานหลังแถลงนโยบายรัฐบาลประยุทธ์ 2 รัฐมนตรีที่คึกคักที่สุดในเดือนแรกของการทำงานมีชื่อ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพาณิชย์

          “ผมจะเลิกคุยเรื่องการเมืองก่อนสักพัก แต่จะทำ ทำ ทำ และก็ทำ งานทางด้านเศรษฐกิจ การส่งออก  การแก้ปัญหาพืชผลการเกษตรมาคุยกับผมได้ เรื่องอื่นเอาไว้ก่อน”

          จุรินทร์ประกาศประกันรายได้ปาล์มน้ำมัน ประกาศราคาประกันรายได้ข้าว ประชุมกับทูตพาณิชยน์ผลักดันการส่งออกที่ย่ำแย่กับสถานการณ์การค้าโลกและค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างมาก ทำให้การแข่งขันสินค้าไทยมีปัญหาหนัก

          จุรินทร์ ประกาศตนเป็นเซลล์แมนขายสินค้าไทยและจะทำให้ทูตพาณิชย์เห็น รองนายกฯนักการขายเพราะฉนั้นทุกคนที่ทำงานภายใต้จุรินทร์ต้องเป็นนักการขาย ทำงานช่วยประสานให้เอกชนทุกอย่าง

          “ทูตพาณิชย์ที่ทำเป็นแค่ แ_กเหล้า เฝ้าสนามบิน คอยแต่รับนาย ส่งนาย ไม่เข้าไปหาลูกค้าในยุคนี้ต้องไม่มี ต้องรู้เราจะขายอะไร ต้องรู้เขา ลูกค้าต้องการอะไร ต้องสมาร์ทใช้เทคโนโลยีเป็น อะไรที่เซฟต้นทุนให้เอกชนและขายเพิ่มให้ได้ต้องทำทันที ต้องรุกรับเร็วเพราะสถานการณ์ไม่ปกติ”

          จุรินทร์ประกาศทวงตลางข้าวอิรักคืน สั่งการด่วนให้ทีมงานเข้าไปเจรจานำร่องก่อนจะบินไปปิดจ็อบเองภายใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า

          เดิมทีอิรักซื้อข้าวไทยอย่างน้อยปีละ 2 แสนตันเม็ดเงินไม่น้อยกว่า 2 พันล้านบาท ตลาดข้าวอิรักในอดีตถูกคว่ำบาตร มีผู้ส่งออกไทยเพียงเจ้าเดียว คือ บริษัทข้าวไชยพร ที่ส่งออกข้าวให้อิรักมาโดยตลอด แม้ในยามยากทางอิรักเห็นว่าเป็นมิตรแท้เลยมักจะเจรจากับข้าวไชยพร แต่พักหลังก็มีรายอื่นส่งออกบ้างหลังยกเลิกการคว่ำบาตร

          แต่ตลาดพังลงเมื่อปี 2555 เมื่อบริษัทสยามอินดิก้าของเสี่ยเปี๋ยง อภิชาต จันทร์สกุลพร ผู้ต้องหาและจำเลยค้าข้าวรัฐในหลายคดีทั้งตัดสินแล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

          ด้วยเหตุที่สยามอินดิก้าเป็นผู้ผูกขาดรวบข้าวไว้ในมือทั้งหมดสมัยจำนำข้าว จึงได้ไปเร่หาตลาดเพื่อผ่องถ่ายข้าวอยู่เต็มโกดังที่ได้จากการจำนำออกไป จึงได้เข้าเจรจากับอิรัก ขายตัดราคาผู้ส่งออกรายอื่นจึงได้ออเดอร์เข้ามา แต่เมื่อถึงคราวส่งมอบกลับส่งมอบข้าวผิดสเป็คให้ผู้ซื้อ ไม่ได้คุณภาพตามที่ตกลง บางส่วนความชื้นเกิน ไม่ได้มาตรฐานและมาตรฐานส่งออกในช่วงนั้นถูกยึดไปจากสภาผู้ตรวจข้าว สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้กรมการค้าต่างประเทศดำเนินการเอง ตามแผนบริหารข้าวให้เบ็ดเสร็จ

          อิรักจึงได้สั่งแบนข้าวไทย ขึ้นบัญชีแบล็คลิสต์ไว้อย่างนั้น พังพาบกันไม่เป็นท่า ผู้ส่งออกหลายรายต้องชอกช้ำจากกาลครั้งนั้น

          ทางการไทยจำเป็นต้องรื้อฟื้นตลาดข้าวใหม่นอกจากอิรักและยังมีอีกหลายตลาดที่เสียไปก่อนหน้านี้ จากโครงการจำนำ

          ในส่วนอิรักตั้งเงื่อนไขมาว่าให้รัฐบาลรับรองสถานะผู้ส่งออกข้าวไทย ให้รับรองคุณภาพข้าวโดยหน่วยงานรัฐ

          ดูเงื่อนไขเบื้องต้น ไม่น่ายากในการดำเนินการ

          แต่ถ้าจะให้ได้ผลดีตอบรับเร็ว น่าจะเป็นการเจรจาในลักษณะรัฐต่อรัฐหรือขาย G to G ดีกว่า รัฐเจรจาได้ออเดอร์มาแล้วนำมาจัดสรรให้เอกชนส่งออก อย่างโปร่งใสเป็นธรรม รัฐคุมคุณภาพ การส่งมอบ ผู้ซื้อจะได้สบายใจ

          การเจรจาหาตลาดข้าวจำเป็นต้องเร่งดำเนินการ ด้วยเหตุที่ข้าวไทยต้องเผชิญปัจจัยลบหลายประกาณ โดยเฉพาะค่าเงิน ที่บาทแข็งโดยตลอด ทำให้คู่ค้าหนีไปลงออเดอร์กับเวียดนาม อินเดีย แทน เพราะไทยไม่สามารถแข่งขันได้ราคาได้

          กรณีข้าวหอมมะลิไทยขายเอฟโอบี 1250 ดอลลาร์ต่อตัน เวียดนามขายข้าวที่หอมน้อยกว่าหน่อยแต่ โค้ดราคาแค่ 550 ดอลลาร์ต่อตัน ลูกค้าหนีไปเวียดนามแล้ว ข้าวนึ่งไทยโค้ดราคา 420 ดอลลาร์ต่อตัน อินเดียโค้ดที่ 390 ดอลลาร์ เรียบร้อยโรงเรียนอินเดีย

          การหาตลาด การเจรจาคู่ค้าในเงื่อนไขระยะยาว การส่งมอบ คุณภาพ และต้องอาศัยโชคจากค่าเงิน( ที่บอกอาศัยโชคเพราะหวังพึ่งแบงก์ชาติไม่ได้) ที่พอให้แข่งขันได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งในสถานการณ์นี้

          ถ้าไม่ฟื้นตลาด ขายไม่ออก ปัญหาจะย้อนกลับมาที่เม็ดเงินประกันรายได้ ที่รัฐบาลต้องทุ่มเม็ดเงินลงไปมากขึ้น จนอาจไม่มีเงินพอเป็นภาระงบประมาณที่สูงลิ่ว หากราคาข้างนอกไม่วิ่ง มันจะหมุนวนเข้าสู่วงจรอุบาทว์อีก

          นาทีนี้ จุรินทร์ ไม่มีทางถอยแล้ว ต้องเดินหน้าลูกเดียว กู้ตลาดข้าวอิรักและตลาดอื่นๆคืนมาเตรียมพร้อมไว้ก่อนให้ได้