กลุ่มกิจการดาวเทียม รวมตัวขอคลื่นความถี่จาก ITU

30 ส.ค. 2562 | 07:17 น.

    พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า องค์กรโทรคมนาคมแห่งเอเชียแปซิฟิก (APT) ที่มีสมาชิก 38 ประเทศ ได้จัดประชุมเตรียมการประชุมใหญ่ระดับโลกว่าด้วยวิทยุคมนาคม ค.ศ.2019 หรือ APG19-5 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำข้อเสนอร่วมต่อการประชุมใหญ่ระดับโลกว่าด้วยวิทยุคมนาคม (World Radiocommunication Conference: WRC) ที่ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) จะจัดขึ้นในเดือน ต.ค.-พ.ย.2562 เพื่อกำหนดคลื่นความถี่ที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานในกิจการต่าง ๆ ในอนาคต อาทิ คลื่นความถี่สำหรับกิจการการเคลื่อนที่สากล (IMT) และกิจการดาวเทียม เป็นต้น รวมทั้งปรับปรุงข้อบังคับสำหรับการใช้คลื่นความถี่และหลักเกณฑ์การใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียมที่ทุกประเทศต้องปฏิบัติตาม โดยประเทศไทยได้มีท่าทีและข้อเสนอที่เกี่ยวกับการใช้งานคลื่นความถี่ในกิจการต่าง ๆ จำนวน 35 เรื่อง

 

กลุ่มกิจการดาวเทียม รวมตัวขอคลื่นความถี่จาก ITU

   พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ กล่าวว่า ประเด็นที่มีการหารือกันอย่างกว้างขวาง คือ การกำหนดคลื่นความถี่สำหรับกิจการเคลื่อนที่สากล (IMT) ที่จะนำมาใช้ในเทคโนโลยี 5G หรือ 6G ในอนาคต โดยมีการเสนอถึง 12 ย่านความถี่ (Bands) ล้วนเป็นย่านความถี่ที่สูงกว่า 24 GHz ทั้งสิ้น โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกันใน 3 ย่านความถี่ ซึ่งสอดคล้องตามที่ประเทศไทยเสนอ ได้แก่ ย่านความถี่ 24.25-27.5 GHz, 37-43.5 GHz และ 66-71 GHz สำหรับย่านความถี่ที่เหลือยังไม่ได้ข้อสรุปหรือยังคงให้ใช้งานในกิจการเดิม เช่น 31.8-33.4 GHz หรือ 45.5-47 GHz เป็นต้น   

       การประชุมครั้งนี้วงการดาวเทียมมีการรวมตัวกันมากขึ้นและได้เสนอคลื่นความถี่ย่าน 17.7-19.7 GHz (อวกาศสู่โลก) และย่าน 27.5-29.5 GHz (โลกสู่อวกาศ) สำหรับสถานีภาคพื้นโลกที่เคลื่อนที่ (Earth Station in Motion: ESIM) ซึ่งเป็นการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนเครื่องบิน เรือ รถไฟ หรือยานพาหนะที่เคลื่อนที่ได้ โดยในอนาคตหากโครงการดาวเทียม SpaceX ของ Elon Musk หรือโครงการดาวเทียม OneWeb เกิดขึ้นก็สามารถให้บริการได้ทั่วโลกซึ่งจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบนโลกมากขึ้น อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกันสำหรับเงื่อนไขการใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวเฉพาะบนเรือส่วนการใช้งานบนเครื่องบินและบนพื้นดินยังไม่ได้ข้อสรุป

   นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีการพิจารณาคลื่นความถี่สำหรับระบบส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตในระดับสูง (High Attitude Platform Station: HAPS) ซึ่งใช้บอลลูน หรือ โดรน มาให้บริการอินเทอร์เน็ตในอนาคต โดยเฉพาะ Google และ Facebook ได้แสดงความสนใจที่จะให้บริการในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งประเทศไทยสนับสนุนให้ใช้คลื่นความถี่ในย่าน  47.2-47.5/47.9-48.2 GHz ทั่วโลก และย่าน 27.9-28.2 GHz และ 31-31.3 GHz ในประเทศไทย รวมทั้งที่ประชุมยังมีการพิจารณาการใช้ย่านคลื่นความถี่ให้เหมือนกันสากล (Harmonization) สำหรับระบบขนส่งอัจฉริยะ (Intelligent Transport System: ITS) และระบบขนส่งทางราง (Railways Radiocommunication System between Train and Trackside: RSTT) ภายใต้คลื่นความถี่กิจการเคลื่อนที่ เช่น 335.4-480 MHz, 873-915 MHz และ 918-960 MHz เป็นต้น

   “การประชุมนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของคลื่นความถี่และสิทธิวงโคจรดาวเทียมซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดที่ทุกประเทศต่างระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนเพื่อปกป้องและให้ได้มา ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อย่างแท้จริง” พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ กล่าว

 

กลุ่มกิจการดาวเทียม รวมตัวขอคลื่นความถี่จาก ITU