เสียงเตือนจากผู้ว่าแบงก์ชาติ เร่งปรับตัวรับโลกเปลี่ยน

01 ก.ย. 2562 | 02:00 น.

 

คอลัมน์ ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3501 หน้า 7 วันที่ 1- 4 กันยายน 2562

 

ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน เริ่มกระจายสู่ภาคเศรษฐกิจจริงเป็นวงกว้าง ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการส่งออกที่หดตัวเท่านั้น แต่เริ่มส่งผลต่อการจ้างงาน และกำลังซื้อของคนไทยชัดเจนมากขึ้น

สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนกรกฎาคมที่ติดลบ 9.1% เป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาที่ ติดลบ 5.6% ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ติดลบอยู่ที่ 0.5%

ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดกำลังซื้อของประชาชน การจัดเก็บภาษีที่ชะลอลง จึงเป็นภาพสะท้อนถึงการจับจ่ายใช้สอยของไทยที่ลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นและชะลอการบริโภค

แม้ว่ากระทรวงการคลังยังเชื่อว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ลดลง ยังไม่ถือว่าเป็นการลดลงแบบมีนัยสำคัญที่น่ากังวล เพราะถ้าดูจากการบริโภคโดยรวมในช่วงครึ่งปีแรก การจำหน่ายรถกระบะและรถจักรยานยนต์ก็ยังเติบโตได้ดี ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเพียงหนึ่งในส่วนของภาพรวมการบริโภคเท่านั้น

แต่ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอตัวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และเริ่มชะลอตัวมากขึ้นในไตรมาส 2 ที่ตัวเลขจีดีพีขยายตัวเพียง 2.3% ตํ่ากว่าที่คาดการณ์อย่างมาก ทำให้มีคำถามตามมาว่าเศรษฐกิจในขณะนี้มีความกังวลมากน้อยแค่ไหน ผู้เขียนขอนำความเห็นของ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2562 “รับมืออย่างไรในโลกที่ไม่แน่นอน” บางช่วง บางตอนที่น่าสนใจมานำเสนอ


 

 

เริ่มจากปัจจัยความไม่แน่นอนด้านต่างประเทศจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร? ในประเด็นนี้ ดร.วิรไท มองว่า เศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจขนาดเล็กแบบเปิดที่พึ่งพาตลาดต่างประเทศค่อนข้างมาก ดังนั้นสถานการณ์ด้านต่างประเทศที่เปราะบางส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยโดยตรง

 

เสียงเตือนจากผู้ว่าแบงก์ชาติ  เร่งปรับตัวรับโลกเปลี่ยน

ดร.วิรไท สันติประภพ

 

สิ่งที่ธปท.กังวล คือการส่งออกที่หดตัวเริ่มมีผลกระทบไปสู่การจ้างงาน ซึ่งเป็นที่มาของรายได้ของประชาชนที่อยู่ในตลาดแรงงาน การบริโภคในพื้นที่ ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากเริ่มชะลอลง นอกจากนี้ความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้การลงทุนของภาคเอกชนชะลอลงด้วย ตัวเลข GDP ของไตรมาส 2 สะท้อนให้เห็นชัดว่า การลงทุนของภาคเอกชนโตน้อยกว่าเดิมมาก เพราะเมื่อมีความไม่แน่นอน ผู้ประกอบการก็ระมัดระวัง

ดร.วิรไท เตือนว่า โจทย์ที่สำคัญมากกว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ สำหรับพวกเราทุกคน คือ ถ้ามองไกลไปในอนาคต เราต้องทำอะไรเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น บางคนมองการเปลี่ยนแปลงว่าน่ากลัว แต่อันที่จริงแล้วในทุกการเปลี่ยนแปลงจะนำมาซึ่งโอกาสและความท้าทาย มองไปข้างหน้าการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อยใน 3 เรื่องที่จะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับทุกคน ได้แก่

1. พัฒนาการทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด (Disruptive Technology) ด้านหนึ่งกระทบต่อหลายอุตสาหกรรม เช่น สื่อมวลชนที่ต้องปรับตัว หรือแม้แต่ภาคการเงินที่ธนาคารพาณิชย์อาจต้องปิดสาขา แต่อีกด้านหนึ่ง ระบบพร้อมเพย์ ช่วยให้ประชาชนโอนเงินได้ถูกลงและเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีจะกระทบทุกอุตสาหกรรมและพวกเราทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

2. การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) จะนำมาซึ่งความท้าทายที่เราจะมีผู้สูงอายุในครอบครัวให้ดูแลมากขึ้น แต่ก็จะเกิดโอกาสทางธุรกิจและตลาดใหม่ๆ เช่น ธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุ ยา อาหาร เสื้อผ้า และอุปกรณ์เครื่องใช้ของผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่มาก

 

3. ธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (Sustainability) ทั่วโลกตื่นตัวเรื่องนี้มาก ความตื่นตัวในเรื่องนี้ทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ หลายอย่าง อาทิ เกษตรอินทรีย์ซึ่งภาคอีสานสามารถเป็นแหล่งผลิตสำคัญ การรณรงค์หยุดใช้พลาสติกทำให้เกิดธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในช่วงต่อไปจะเร็วขึ้น และมีผลที่กว้างไกลกว่าเดิม ประสบการณ์ที่โลกเปลี่ยนแปลงในหลายช่วงชี้ว่า เมื่อ disruption มาถึง จะมีหลายธุรกิจที่ไปต่อไม่ได้ เพราะไม่รู้จะปรับตัวอย่างไร สิ่งสำคัญคือ ทำอย่างไรคนไทยและธุรกิจไทยจะก้าวทันกับเทรนด์ใหม่ๆ และต้องปรับตัวให้เท่าทันกับเทคโนโลยีใหม่ๆ

ผู้ว่าการธปท. ทิ้งข้อสังเกตไว้อย่างสนใจว่า เรามักสนใจแต่เรื่องระยะสั้น เช่น GDP ปีนี้โตเท่าไร ค่าเงินบาทจะเป็นอย่างไร ซึ่งทำให้เราเสียสมาธิและไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องระยะยาว เช่น การปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของระบบการเงินโลกที่กำลังเกิดขึ้น

มองไปข้างหน้าการเปลี่ยน แปลงของเทคโนโลยี การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือเทรนด์ของโลกเรื่องความยั่งยืน และการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะเป็นเรื่องสำคัญที่นำมาทั้งความเสี่ยงและความท้าทาย ตลอดจนโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ดังนั้นจึงมีความสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำให้คนไทย ธุรกิจไทย เก่งขึ้น มีผลิตภาพที่ดีขึ้น มีภูมิต้านทานและภูมิคุ้มกันที่ดี

 

เสียงเตือนจากผู้ว่าแบงก์ชาติ  เร่งปรับตัวรับโลกเปลี่ยน