ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ "ไม่ได้ต่อต้านการถมทะเล แต่ถามว่าคุ้มค่าหรือไม่"

29 ส.ค. 2562 | 05:52 น.

จากข้อเสนอของ "การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย" หรือ กนอ. เตรียมลงนามว่าจ้าง สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ไปศึกษาแนวทางการ "ถมทะเล" บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง 3,000 ไร่ ในพื้นที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่อรองรับการลงทุนของ กลุ่มเอ็กซอน โมบิล คอร์ปอเรชั่น เพื่อขยายการลงทุนปิโตรเคมีในไทยมูลค่า 330,000 ล้านบาท รวมถึงเพื่อรองรับการลงทุนจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศในอนาคต

แต่ที่ผ่านมายังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นการ "ถมทะเล" จะกระทบระบบนิเวศน์ทางทะเลและสิ่งแวดล้อมแค่ไหน โดยเฉพาะความคุ้มค่ากับมรดกธรรมชาติที่จะเสียหายไปหรือไม่ "ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์" รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านทะเลไทย ให้สัมภาษณ์ "เนชั่นสุดสัปดาห์" ไว้อย่างน่าสนใจ

เริ่มต้น "อาจารย์ธรณ์" บอกว่า ผลกระทบจากการการถมทะเลจะชดเชยอย่างไร เพราะพื้นที่ที่มีสัตว์เคยอาศัยอยู่จะหายไปแน่นอน จากทะเลกลายเป็นบก ต้องไปศึกษาและประเมินตรงนี้ให้ชัดเจนว่า "คุ้มค่า" หรือไม่ นอกจากนี้การถมทะเลแต่ละครั้งจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำ มีผลกระทบต่อประชาชนที่ทำอาชีพประมงเพาะเลี้ยงชายฝั่ง ถ้าบอกว่าคุ้มค่าแต่จะชดเชยกับสิ่งที่กระทบเหล่านี้อย่างไรจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งการถมทะเลแต่ละครั้งใช้เงินเกินหมื่นล้านบาท ตัวเลขการถมทะเล 3 พันไร่เชื่อว่าจะใช้เงินเกินหมื่นล้านบาทแน่นอน

พื้นที่การใช้ประโยชน์ที่จะสร้างขึ้น แต่ทำให้พื้นที่ทะเลน้อยลงนั้น ยังมีคำถามว่าถ้าถมทะเลเพื่อสร้างโรงงาน หากนำเงินไปซื้อที่ดินบนบกไม่ถูกกว่าหรือไม่ ดังนั้นการถมทะเลต้องคำนวณความเสียหาย การชดเชย เพราะขณะนี้เรามีพระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ.2562 แล้ว ถ้าจะทำอะไรต้องดูให้รอบคอบ"

"อาจารย์ธรณ์" ยืนยันไม่ได้ต่อต้าน แต่ภาครัฐต้องประเมินว่าจะชดเชยแค่ไหน เปรียบเทียบการถมทะเลในประเทศญี่ปุ่น เขาได้ชดเชยให้ชาวประมงแค่ไหนด้วย เพราะตามหลักการแล้ว การศึกษาต้องดูกฎหมายตั้งแต่ต้นว่า ทะเลเป็นสมบัติของชาติ ถ้าจะถมทะเลได้แต่บอกว่าทะเลเป็นของคุณ ก็ต้องตอบด้วยว่าเหตุผลอะไร จู่ๆ จะมาทำไม่ได้ ถ้าถมเพื่อสร้างท่าเรือก็ต้องไปศึกษา แต่ถ้าถมเพื่อเอาพื้นที่สร้างโรงงาน ต้องไปดูการสร้างโรงงานบนแผ่นดินจะคุ้มกว่าหรือไม่ ทุกอย่างต้องเปรียบเป็นตัวเลขให้ชัดเจน เพราะความเสียหายประเมินได้จาก "มูลค่าเศรษฐกิจของประโยชน์ทางระบบนิเวศ"

"พื้นที่ทางทะเลแต่ละแห่งมีมูลค่าไม่เหมือนกัน ต้องไปสำรวจว่าพื้นที่นั้นมีอะไรบ้าง แต่ละพื้นที่มีมูลค่าการทางทะเลและมูลค่าความอุดมสมูรณ์เท่าไหร่"

ส่วนข้อเสนอในครั้งนี้ "อาจารย์ธรณ์" ย้ำว่า ต้องศึกษาวางแผน และมองผลกระทบให้รอบด้าน หากจะนำหลักเกณฑ์ของการถมทะเลแบบต่างประเทศมาใช้ ต้องนำมาใช้ทั้งหมด ต้องศึกษา ประเมิน โดยเฉพาะการชดเชยจากผลกระทบ ตัองทำทั้งกระบวนการให้ครอบคลุมมากที่สุด ที่สำคัญสุดท้ายแล้ว ต้องผ่านกระบวนการกลั่นกลองของหลายฝ่าย เพื่อจะพิจารณาว่าจะถมทะเลหรือไม่ ถ้าดำเนินการไม่รอบคอบทุกด้าน ท้ายที่สุดแล้วผลการศึกษาก็ไม่ผ่านได้

ข้อมูลจากเวบไซต์ เนชั่นสุดสัปดาห์