ต้องแก้รัฐธรรมนูญก่อน จึงจะแก้ไขปัญหาชาติได้จริงหรือ?

29 ส.ค. 2562 | 06:00 น.

คอลัมน์ข้าพระบาททาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3500 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 29-31 ส.ค.2562 โดย... ประพันธุ์ คูณมี
 

ต้องแก้รัฐธรรมนูญก่อน
จึงจะแก้ไขปัญหาชาติได้
จริงหรือ?


          ขณะที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทย ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจโลก อันเนื่องจากสงครามทางการค้า ระหว่างประเทศมหาอำนาจสหรัฐอเมริกากับจีน และเหตุการณ์ทางการเมืองในฮ่องกง ผสมกับความผันผวนทางการเมืองและทางเศรษจกิจอื่นๆ ของโลก ทำให้ไทยได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อการค้า การส่งออกและการท่องเที่ยว ที่เป็นรายได้หลักเข้าประเทศ
          นอกจากนี้ ภายในประเทศยังอาจต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ ราคาพืชผลเกษตรตกตํ่า รายได้และเศรษฐกิจของประชาชน คนหาเช้ากินคํ่า มีความฝืดเคืองและมีรายได้ตกตํ่าไปด้วยนั้น รัฐบาลและหน่วยงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ต่างประชุมเคร่งเครียดช่วยกันหาทางคลี่คลายปัญหา เพราะนี่คือปัญหาสำคัญเร่งด่วนของชาติ ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลยามนี้ต้องเผชิญปัญหานี้ทั้งสิ้น รัฐบาลมีหน้าที่ต้องเอาใจใส่ทุ่มเทแก้ไข
          แต่ก็ดูเหมือนฝ่ายค้านและพรรคร่วม 7 พรรค กลับมิได้ให้ความสำคัญหรือสนใจในปัญหาดังกล่าวเลย ไม่มีการเสนอแนวทางแก้ไขที่ดีกว่า ที่สร้างสรรค์และเป็นไปได้ดีมากกว่าที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เพื่อเปรียบเทียบให้ประชาชนเห็นว่า หากฝ่ายค้านได้เป็นรัฐบาลจะแก้ปัญหานี้อย่างไร พวกเขากลับสนใจแต่จะหาทางล้มรัฐบาลและชูนโยบายว่า “ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้เป็นประชาธิปไตยเสียก่อน ต้องปฏิรูปกองทัพก่อน จึงจะแก้ไขปัญหาความยากจน และทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีได้” เสียงป่าวร้องและการชูธงผืนนี้พร้อมเรียกร้องให้คนไทยให้ความร่วมมือนั้น มิได้มีเพียงแต่พรรคส้มหวาน พรรคแกนนำฝ่ายค้านต่างก็ขานรับ ถึงขนาดจะยื่นญัตติขอตั้งกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สร้างกระแสเดินสายออกรณรงค์ทั่วประเทศเท่านั้น
          พวกแกนนำเสื้อแดงบางคนก็กระโดดออกมาร่วมวงกับเขาด้วย พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน จึงจะแก้ไขความยากจนและความเหลื่อมลํ้าในสังคมได้” ท่องเป็นคาถาพูดจาเป็นแผ่นเสียงตกร่อง ประหนึ่งว่าปัญหาชาติและความยากจนของประชาชนทั้งหลายเกิดจากรัฐธรรมนูญ เป็นต้นเหตุ คำถามถึงฝ่ายค้านคือตรรกะและวิธีคิดนี้มันถูกต้องหรือไม่ ประเทศไทยต้องเดินตามแนวทางที่พวกเขาป่าวประกาศนี้หรือไม่ จึงจะแก้ปัญหาชาติได้

          หากย้อนอดีตและหันมาดูความจริงของประเทศไทย นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 ถึงปัจจุบัน รวมเป็นระยะเวลา 87 ปี ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญแล้วทั้งสิ้น 20 ฉบับ ซึ่งมีทั้งที่อ้างว่าเป็นประชาธิป ไตยที่สุด แบบเต็มใบ ครึ่งใบ จนถึงฉบับที่เรียกว่า “ฉบับประชาชน ปี 2540” หรือฉบับประชามติ 2550 ไม่ว่ารัฐธรรมนูญนั้นจะมาจากคณะราษฎร มาจากการปฏิวัติยึดอำนาจ มาจากการรณรงค์ปฏิรูปการเมืองโดยประชาชน รวมถึงมาจากการแก้ไขโดยนักการเมืองจากการเลือกตั้ง เรียกว่ารัฐธรรมนูญไทยทั้ง 20 ฉบับ เป็นรัฐธรรมนูญที่มีที่มาครบจากทุกรูปแบบแล้ว ประเทศไทยก็ยังพัฒนาก้าวหน้าจนถึงปัจจุบัน
          ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร ก็หาได้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศแต่อย่างใดไม่ ซึ่งหากพิจารณาสภาพบ้านเมืองตามข้อเท็จจริง กลับปรากฏว่ารัฐบาลและนักการเมือง ที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับของประชาชนปี 2540 ที่เห็นว่าเป็นประชาธิปไตยนี่แหละ เป็นช่วงเวลาที่มีรัฐบาลและนักการเมืองที่ “โคตรโกงและโกงกันทั้งโคตร” สร้างปัญหาและสร้างความเลวร้ายแก่สังคมไทย ประเทศไทยเป็นที่สุดกว่ายุคใดๆ เป็นยุคที่บ้านเมืองถูกปกครองแบบเผด็จการเผด็จโกงที่สุดอีกด้วย
          ความเจริญรุ่งเรืองของประเทศไทย และการแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมลํ้าทางสังคม และการบริหารบ้านเมือง เพื่อให้ประชาชนคนในชาติ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพื่อให้ประชาชนคนชั้นล่าง ที่มีชีวิตตํ่ากว่าระดับคนยากจน ได้หลุดพ้นจากความยากจนนั้น เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐบาลทุกรัฐบาลร่วมกัน ไม่อาจโยนความผิดให้ใครคนใดคนหนึ่งได้ แต่การที่ประเทศไทยสังคมไทยเดินหน้ามาถึงยุคปัจจุบัน หากรัฐธรรมนูญเป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งปวงแล้ว สังคมไทยวันนี้จะก้าวเดินมาถึงปัจจุบันได้อย่างไร ถ้ายึดถือตรรกะอย่างที่พรรคการเมืองฝ่ายค้านป่าวประกาศ ประเทศไทยจะเป็นอย่างทุกวันนี้ได้หรือไม่อย่างไร?
          87 ปี ของการเมืองไทย ภายใต้รัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ ประเทศไทยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน เป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (ข้อมูลปี 2560) มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ราว 15.451 ล้านล้านบาท ปี 2561 มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในรูปตัวเงิน (ราคาตลาด;GDP Nominal) เป็นอันดับ 25 ของโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่มีความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ(พีพีพี;GDP PPP) เป็นอันดับ 20 ของโลก และมีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.1% ในปี 2560 ไทยมีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับ 21 ของโลก นำเข้าเป็นอันดับ 25 ของโลก และกลับมาเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลกอีกครั้ง
          ธนาคารโลกรับรองไทยว่าเป็น “นิยายความสำเร็จในการพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่ง (one of the great development success stories)” ประชากรที่อยู่ตํ่ากว่าเส้นความยากจนลดลงจาก 65.26% ในปี 2531 เหลือ 8.6% ในปี 2559 ตามเส้นความยากจนใหม่ของ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          ภาคอุตสาหกรรมและบริการเป็นภาคหลักในผลิตภัณฑ์มวลรวมภาในประเทศ (GDP) โดยภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วน 39.2% เกษตร 8.4% ภาคการขนส่งและการค้าตลอดจนการสื่อสาร 13.4% และ 9.8% การเงิน การศึกษา โรงแรมและร้านอาหาร 24.9% ซึ่งกล่าวโดยสรุปข้อมูลโดยธนาคารโลก เศรษฐกิจไทยตั้งแต่ปี 2525-2539 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยเฉลี่ยไม่ตํ่ากว่า 6-7% บางปี 10 กว่าๆ ด้วยซํ้าไป แม้จะตกตํ่าติดลบในปี 2540-2541 แต่ก็ฟื้นตัวกลับมาได้ในปี 2542-2551 มาตกตํ่าอีกครั้งก็ในช่วงวิกฤติทางการเมือง แต่ก็ฟื้นตัวมาได้ถึงปัจจุบัน
          หลังรัฐประหาร 2557 สำนักข่าวต่างชาติมองว่า ประเทศไทยตั้งอยู่ “บนขอบภาวะเศรษฐกิจถดถอย” แต่เศรษฐกิจไทยก็เติบโตและขยายตัวมาได้ในอัตรา 1-4% ในปัจจุบัน ปี 2560 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สูงสุดในรอบ 24 ปี 20 วันปิดที่ 1838.96 จุด สูงที่สุดนับแต่ตลาดหลักทรัพย์ฯเปิดทำการ และในปัจจุบันประเทศไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศ 209,911 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ มกราคม 2562 อยู่ที่อันดับ 12 ของโลก
          ที่ผู้เขียนได้ยกตัวเลขทางเศรษฐกิจ มาให้ผู้อ่านได้พิจารณาดังกล่าว มิใช่เพื่ออวยรัฐบาลนี้ หรือจะบอกว่าตนเชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการนำเสนอมุมมองให้สังคมไทย ได้ร่วมคิดและพิจารณาโดยเคารพต่อสัจจะแห่งความเป็นจริงว่า จริงหรือที่ต้องแก้รัฐธรรมนูญก่อน จึงจะแก้ปัญหาชาติทั้งปวงได้ ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยมีความเจริญรุ่งเรืองมาโดยลำดับ มากยิ่งกว่าหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียและในระดับโลก ทั้งที่โดยสภาพกฎหมายรัฐธรรมนูญของไทยมีทุกประเภท และไม่ว่าสภาพการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร
          ทั้งนี้เพราะคนไทย ภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทย ต่างได้พัฒนาตัวเองและเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคมไทยอย่างไร แต่ละภาคส่วนควรปฏิบัติหน้าที่และปฏิบัติตนอย่างไร โดยทุกคนมิได้ยอมจำนนหรือมัวแต่ตีโพยตีพายโทษรัฐธรรมนูญ โทษการเมือง หรือเฝ้ารอให้แก้รัฐธรรมนูญเสียก่อน จึงจะแก้ปัญหาชาติและพัฒนาประเทศได้
          ดังนั้น สิ่งที่นักการเมืองทั้งหลายพึงสังวรและพึงปฏิบัติตนในยามนี้คือ อย่าอ้างการแก้รัฐธรรมนูญขึ้นบังหน้า เพื่อสนองตัณหาทางการเมืองของตน ผู้เขียนมิได้คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อปรับโครงสร้างทางการเมืองให้ดีขึ้น ที่สำคัญคือปรับปรุงพัฒนาคุณภาพนักการเมือง ให้มีคุณธรรมก้าวหน้าดีขึ้นกว่าเดิม แต่ไม่ควรขยายผลใช้เรื่องนี้มาสร้างปัญหาชาติหรือทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาบ้านเมือง เพราะสิ่งที่ประชาชนต้องการที่สุดขณะนี้ คือความสามัคคีและการใส่ใจช่วยกันแก้ปัญหาชาติ แก้ปัญหาทุกข์สุขของประชาชน เป็นวาระเร่งด่วน มิใช่ก้มหน้าก้มตาสร้างแต่ปัญหาทางการเมือง จุดไฟเผาประเทศของตนไม่จบสิ้น