สั่ง “รฟท.-กทพ. –เจ้าท่า”ใช้ยางพาราช่วยเกษตรกร

28 ส.ค. 2562 | 08:03 น.

 

 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประชุมการทบทวนปริมาณการใช้ยางพาราของกระทรวงคมนาคม ในปี 2563

ปัญหาราคายาตกต่ำ ตามกลไกตลาด สร้างผลกระทบอย่างมากต่อเกษตรกร  ทางออกรัฐบาล สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวหาทางช่วยเหลือ  ทั้งนี้ นอกจาก กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทแล้ว  สั่ง “รฟท.-กทพ. –เจ้าท่า”ใช้ยางพาราช่วยเกษตรกร

 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคมยังสั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการนำยางพารามาใช้แก้ปัญหาหินโรยทาง ที่ต้องใช้งบประมาณในการปรับปรุงเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ศึกษาเพิ่มเติมว่าสามารถนำยางพารามาเป็นส่วนผสมในอุปกรณ์กันเสียงบนทางพิเศษได้หรือไม่ โดยให้ทุกหน่วยงานทั้ง กรมทางหลวง กรมทางหลางชนบท  การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)  การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)  กรมเจ้าท่า บูรณการร่วมกันในการศึกษาเกี่ยวกับการนำยางพารามาใช้ และให้รายงานความคืบหน้าอีกครั้งภายใน 2 สัปดาห์ หรือในการประชุมครั้งต่อไป นับจาก วันที่ 28 สิงหาคม 2562  สั่ง “รฟท.-กทพ. –เจ้าท่า”ใช้ยางพาราช่วยเกษตรกร

 

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2562 มีปริมาณการใช้ยางพาราของกระทรวงฯ จำนวน 34,313.35 ตัน คิดเป็นมูลค่ายางพารา 411.76 ล้านบาท ส่วนในปีงบประมาณ 2563 มีแผนการใช้ยางพารา จำนวน 52,368.61 ตัน คิดเป็นมูลค่าฯ 628.41 ล้านบาท โดยปี 2562 2563 ปริมาณน้ำยางพาราที่เพิ่มขึ้น 18,055.26 ตัน มูลค่าฯ เพิ่มขึ้น 216.65 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 52.63% (ทล. เพิ่มขึ้น 15.43% และ ทช. เพิ่มขึ้น 128.36%) ซึ่ง ทล. ทช. ใช้ยางพารากับงานถนน อุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย จท. นำยางพารามาใช้เป็นผลิตภัณฑ์ยางกันกระแทก รฟท. นำยางพารามาใช้เป็นแผ่นปูทาง แผ่นยางรองรางรถไฟ แผ่นยางครอบหมอนคอนกรีตอัดแรงสำหรับรองใต้แผ่นปูทางผ่าน และ กทพ. เตรียมนำยางพารามาใช้กับเสาล้มลุก ถังเตือนหัวเกาะยางพารา และแบริเออร์ยางพาราที่ใช้สำหรับงานก่อสร้าง

ที่ผ่านมา  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เคยสั่งการก่อนหน้านี้ให้กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท  ศึกษาการนำยางพารามาใช้ในงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม โดยคำนวณปริมาณการใช้ยางพาราในงานต่าง ๆ เมื่อเทียบกับงบประมาณที่ต้องใช้ จะเกิดรายได้ที่จะถึงมือเกษตรกรโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เพื่อเป็นข้อมูลพิจารณาว่ากระทรวงฯ ควรใช้ยางพาราในงานหรืออุปกรณ์ใดจึงจะเหมาะสม ต้นทุนการผลิตไม่สูงมากนัก สามารถช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง และสร้างความปลอดภัยเพิ่มขึ้นได้ รวมทั้งให้ศึกษาออกแบบแบริเออร์ยางพาราโดยใช้วัสดุอื่น ๆ เพิ่มเติมจากแนวทางที่ กรมทางหลวง ,กรมทางหลวงชนบท  อยู่ระหว่างการศึกษา อาทิ ใช้วัสดุที่มีความแข็งแรงเป็นโครงสร้าง เช่น คอนกรีต ลวดสลิง และใช้ยางพาราหุ้มภายนอก นอกจากนี้ให้หาแนวทางเพิ่มอายุการใช้งานวัสดุที่มียางพาราเป็นส่วนผสม หาวิธีการเพื่อให้การวางแบริเออร์ไม่ส่งผลกระทบต่อคนข้ามถนน ไม่เกิดปัญหารถตัดการจราจรกัน ให้ออกแบบจุดกลับรถที่เหมาะสมทั้งรถยนต์และรถขนาดใหญ่ ในการนี้ รัฐมนตรีว่ากระทรวงฯ เน้นย้ำว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่ใช่เป็นการรื้อถอนแบร์ริเออร์หรือเกาะกลางที่มีอยู่แล้ว แต่ให้พิจารณาปรับปรุงความปลอดภัยเพิ่มเติม พร้อมให้ศึกษาเปรียบเทียบระยะเวลาการติดตั้งแบริเออร์กับเกาะกลางถนนในระยะทาง 1 กิโลเมตร ใช้เวลาแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร และให้ใช้ยางพาราเป็นผสมเพิ่มขึ้นในปี 63 รวมถึงโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยใช้หลายวิธีการเพื่อให้เกิดประโยชน์และความปลอดภัยสูงสุดต่อประชาชน

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ แจ้งคำสั่งกระทรวงคมนาคม เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราของกระทรวงฯ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ เป็นประธาน นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธานกรรมการ และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ รวมทั้งกระทรวงเกษตรฯ เป็นกรรมการ เพื่อศึกษาแนวทางการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในงานก่อสร้างทาง ทางรถไฟ และอุปกรณ์อื่นที่เกี่ยวข้องของกระทรวงฯ โดยใช้วัสดุทดแทนที่ผลิตจากยางพารา เช่น วัสดุกั้นถนน เกาะกลางยางพารา เป็นต้น และสนับสนุนการใช้ยางพาราจากการยางแห่งประเทศไทย องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร สถาบันเกษตรกร หรือกลุ่มเกษตรกรที่เป็นนิติบุคคุล ซึ่งเป็นผู้ขายและผู้ผลิตโดยตรง