MTLเพิ่มพอร์ต  ประกันความคุ้มครอง  หนีดบ.ตํ่า-IFRS17   

29 ส.ค. 2562 | 01:45 น.

 

MTL ตั้งเป้าขยับสัดส่วนประกันความคุ้มครองแตะ 70% จากเดิม 65% หนีภาวะดอกเบี้ยตํ่า ลดผลกระทบหลักเกณฑ์ IFRS17-RBC2 เผยครึ่งปีโกยเบี้ยปีแรก 1.23 หมื่นล้านบาท ยํ้าเบี้ยรับรวมติดลบ 16% เหตุมีกรมธรรม์ครบกำหนดสูง-เบี้ยต่ออายุติดลบ

นายสาระ ลํ่าซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)หรือ MTL  เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตปีนี้ต้องปรับตัวรองรับหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่จะเข้ามากระทบธุรกิจ จะเห็นว่าภาพรวมธุรกิจทั้งระบบในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 มีอัตราการเติบโตติดลบ แต่ติดลบน้อยลง โดยในช่วง 6 เดือนแรกบริษัทมีเบี้ยปีแรกขยายตัว 19% คิดเป็นเบี้ยอยู่ที่ 1.23 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมายทั้งปีอยู่ที่ 2.8 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 26%

เบี้ยปีแรกที่เติบโต 19% ส่วนใหญ่ขยายตัวมาจากประกันสุขภาพที่เติบโตสูงถึง 25% จากทั้งระบบขยายตัวเฉลี่ย 10% ส่วนหนึ่งมาจากการมีผลิตภัณฑ์สุขภาพที่หลากหลายและครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์และในปีนี้ประกันสุขภาพยังคงเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะเดินหน้าเติบโตต่อไป

MTLเพิ่มพอร์ต  ประกันความคุ้มครอง  หนีดบ.ตํ่า-IFRS17   

สาระ  ลํ่าซำ

 

อย่างไรก็ดีในส่วนของเบี้ยรับรวมมีอัตราการเติบโตติดลบ 16% หรือมีเบี้ยรับรวมอยู่ที่ 4.3 หมื่นล้านบาท เป็นผลมาจากเบี้ยต่ออายุติดลบ เนื่องจากมีกรมธรรม์ที่ครบกำหนด (PAID UP) แต่ยังมีผลคุ้มครองอยู่ ซึ่งเบี้ยครบกำหนดส่วนใหญ่เป็นประกันสะสมทรัพย์ (Endowment) แม้ว่าบริษัทจะหันมาเน้นขายประกันความคุ้มครองมากขึ้น แต่ไม่สามารถชดเชยพอร์ตใหญ่ได้ และคาดว่าทั้งปีเบี้ยรับรวมจะยังคงติดลบแต่ติดลบที่อัตราน้อยลง

นอกจากนี้ บริษัทจะหันมาเน้นขายผลิตภัณฑ์ประกันแบบความคุ้มครอง (Protection) โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนพอร์ตให้มาอยู่ที่ระดับ 70% ของเบี้ยปีแรกภายในปีนี้ จากปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 64-65% ถือว่าค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับระบบในบางช่วงเคยลงมาอยู่ในระดับ 30-40%

ทั้งนี้ การหันมาเน้นขายแบบความคุ้มครอง เนื่องจากประกันสะสมทรัพย์ หรือ Endowment จะค่อนข้างได้รับผลกระทบจากกฎเกณฑ์มาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS17) และหลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยงระยะที่ 2 หรือ RBC 2 รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับตํ่า จนทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าระยะยาว ซึ่งประเด็นเหล่านี้หากบริษัทใดขายผลิตภัณฑ์สะสมทรัพย์จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก บริษัทจึงจะหันมาเน้นขายผลิตภัณฑ์แบบประกันคุ้มครองมากขึ้น เพื่อลดความกระทบและเป็นการปรับสัดส่วนพอร์ต

 

ขณะที่แบบประกันควบการลงทุน (Unit Link) ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่คล่องตัวทั้งความคุ้มครองและการลงทุน ซึ่งลูกค้าสามารถปรับได้ตามความเสี่ยงตั้งแต่น้อยถึงความเสี่ยงสูง ปัจจุบันบริษัทมีพอร์ต Unit Link ประมาณ 2,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี จะต้องสื่อสารทำความเข้าใจกับลูกค้า รวมถึงตัวแทนที่จะต้องได้รับใบอนุญาต (IC License) ซึ่งบริษัทจะต้องเพิ่มส่วนนี้ให้มากขึ้นรองรับการเติบโต แต่อาจจะมีการพูดคุยกับสมาคมประกันชีวิตไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(...) ในการหาแนวทางเพื่อให้ตัวแทนได้รับใบอนุญาตได้มากขึ้น โดยไม่ได้เป็นการผ่อนเกณฑ์แต่ปรับคุณสมบัติบางอย่าง เช่น ระดับการศึกษา เป็นต้น

 

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,500 วันที่ 29-31 สิงหาคม 2562

         MTLเพิ่มพอร์ต  ประกันความคุ้มครอง  หนีดบ.ตํ่า-IFRS17