จับตา 5 ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจมะกัน

31 ส.ค. 2562 | 03:00 น.

 

ซีซีเอ็นเอ็น สื่อใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ประเมิน “5 ปัจจัยเสี่ยง” ที่อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯชะลอการขยายตัวลงได้อย่างมาก แม้ว่าในขณะนี้ภาพรวมเศรษฐกิจยังแข็งแกร่งอยู่ สะท้อนจากอัตราค่าจ้างที่ยังขยับสูงขึ้น ตลาดหุ้นที่ยังมีช่วงที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ รวมถึงอัตราการว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับตํ่าสุดในรอบ 50 ปี ทั้งนี้ 5 ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ได้แก่

1.การรัดเข็มขัดของผู้บริโภค

ในสภาวะที่ภาคธุรกิจชะลอการลงทุน ผู้บริโภคย่อมกลายมาเป็นฟันเฟืองใหญ่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อุปสงค์ภายในประเทศหรือการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคชาวอเมริกันในแต่ละวันนั่นเอง ที่มีสัดส่วนประมาณ 2 ใน 3 ของจีดีพี ข้อเท็จจริงที่ว่า ชาวอเมริกันยังคงใช้จ่ายอย่างหนักในปีนี้แม้จะมีสงครามการค้าอยู่กับจีนเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยสร้างความสมดุลให้กับเศรษฐกิจสหรัฐฯท่ามกลางบริบทที่มิติด้านอื่นๆ กำลังอ่อนแรงลง 

ตามรายงานของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯล่าสุดเมื่อกลางเดือนสิงหาคมนี้ ยอดค้าปลีกที่รวบรวมจากการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคทั้งที่ร้านค้า ร้านอาหาร และการค้าออนไลน์ ณ เดือนกรกฎาคม ได้ขยับขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน (นับจากเดือนมีนาคม) อันเป็นผลพวงมาจากกิจกรรมโปรโมชันรายการใหญ่ๆ อาทิ อเมซอน ไพรม์ เดย์ และกิจกรรมอื่นๆ บริษัท วอลล์มาร์ทฯ ซึ่งเป็นผู้ค้าปลีกราย ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ และมักถูกใช้ยอดขายเป็นดัชนีชี้วัดการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ก็ยังรายงานผลประกอบการด้วยยอดขายที่มีการเติบโตอย่างแข็งแรงดีในร้านสาขาที่มีขนาดใหญ่ บริษัทคาดหมายว่า แนวโน้มยังคงจะดีอยู่ตลอดทั้งปีนี้ อย่างไรก็ตาม ความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคอาจจะได้รับปัจจัยลบจากสภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมที่อาจแผ่วกำลังลงในอนาคต ซึ่งหากภาวะเศรษฐกิจเริ่มส่อเค้าชะลอตัว สิ่งที่มักจะตามมาก็คือผู้บริโภคจะชะลอการใช้สอยตามไปด้วย โดยเฉพาะการตัดสินใจซื้อสินค้าที่มีราคาสูง

 

2. พิษสงครามการค้ากับจีนยังปะทุต่อเนื่อง

ประธานาธิบดีทรัมป์ยังคงขู่ใช้หมัดเด็ดต่อสงครามการค้ากับจีนเป็นระยะๆ ทำให้ผู้นำเข้าและบรรดาเกษตรกรต้องพลอยวูบวาบหวั่นไหวไปกับมาตรการตอบโต้ทางภาษีของรัฐบาลจีน เพราะไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป การแลกหมัดกันล่าสุดและท่าทีของประธานาธิบดีทรัมป์ที่สั่งให้บริษัทเอกชนอเมริกันถอนยวงการลงทุนออกจากจีน ได้ส่งผลให้ภาคธุรกิจของสหรัฐฯชะลอการตัดสินใจลงทุน และแนวโน้มคงจะยังเป็นเช่นนี้ต่อไปตราบใดที่ยังมองไม่เห็นทางออก

นักวิเคราะห์จากโกลด์แมน ซากส์ และนักวิเคราะห์อีกหลายสำนักฟันธงว่า สหรัฐฯและจีนไม่น่าจะบรรลุข้อตกลงการค้ากันได้ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี สหรัฐฯในปีหน้า และคาดว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจจะยิ่งสาหัสขึ้นจากสงครามการค้าครั้งนี้

 

3. เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว

5 ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลก คือ เยอรมนี อังกฤษ อิตาลี บราซิล และเม็กซิโก ยังอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะถดถอย ผลกระทบที่เกิดจากการถดถอยทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้สุดแล้วก็อาจฉุดดึงให้เศรษฐกิจสหรัฐฯที่ตอนนี้ยังแข็งแรงดีอยู่ พลอยแผ่วกำลังลงด้วยเช่นกัน

เยอรมนีซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก มีการหดตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ซึ่งหากยังคงเป็นเช่นนั้นในไตรมาสที่ 3 ก็หมายความว่าเศรษฐกิจของเยอรมนีจะเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างเต็มตัว ซึ่งอังกฤษเองก็มีตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ติดลบเช่นกัน และเป็นการติดลบครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา

เมื่อเดือนที่แล้วกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)ได้ปรับลดตัวเลขคาดหมายการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ เหลือเพียง 3.2% จากเดิมที่คาดไว้ 3.3% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ตํ่าที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟยังปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีหน้าเหลือเพียง 3.5% แต่ถ้าหากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯเลวร้ายลงไปกว่านี้ ก็อาจจะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกหดหายไปได้อีก 0.5%

เพื่อเป็นการรับมือกับภาวะดังกล่าว ธนาคารกลางทั่วโลกจึงได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้เพื่อรับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

จับตา 5 ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจมะกัน

4. เงินเฟ้อยังตํ่าเกินไป

อัตราเงินเฟ้อยังคงตํ่าเป็นประวัติการณ์ทั้งในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก นี่เป็นหนึ่งประเด็นที่นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) หยิบ ยกมาเป็นเหตุผลของเฟดในการลดอัตราดอกเบี้ยลงเป็นครั้งแรกในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์การเงินโลกในปี 2551

บรรดาธนาคารกลางเห็นว่า อัตราเงินเฟ้อที่ตํ่าเกินไปนั้นเป็นอันตรายเพราะมันมีแนวโน้มที่จะทำให้อัตราดอกเบี้ยตํ่าลงมาด้วย และทำให้พวกเขาไม่เหลือเครื่องมือที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนักในยามที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศญี่ปุ่นซึ่งได้พยายามดิ้นรนมาเนิ่นนานหลายปีในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ

พาวเวลล์ได้กล่าวเตือนฝ่ายนิติบัญญัติในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า เขาไม่อยากให้สหรัฐฯต้องเดินตามรอยประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม สถิติเมื่อเร็วๆนี้ ชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ได้ปรับตัวสูงขึ้นแล้วเล็กน้อย ทำให้คลายความกังวลเกี่ยวกับโอกาสที่จะเกิดภาวะเงินฝืดลงไป แต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจในต่างประเทศ ก็จะทำให้ราคานํ้ามันในตลาดโลกลดลงไปด้วย ทำให้ยากที่จะผลักดันให้ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯขยับขึ้นสู่อัตราเป้าหมาย 2% ซึ่งสะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง

 

5.“เบร็กซิท” ยังเป็นเงามืดที่สร้างความไม่แน่นอน

การตัดสินใจของนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ ที่ประกาศว่าอังกฤษสามารถออกจากสหภาพยุโรป (อียู) โดยไม่จำเป็นต้องมีข้อตกลง หรือที่เรียกว่า hard brexit นั้น สะท้อนถึงการละทิ้งความพยายามที่จะเจรจากับฝ่ายอียูเพื่อหาทางออกที่ประนีประนอม สภาวะเช่นนี้ยิ่งเพิ่มความผันผวนให้กับเศรษฐกิจโลก ผู้นำคนใหม่ของอังกฤษกล่าวว่า อังกฤษจะออกจากอียูในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ ไม่ว่าจะ “มี” หรือ “ไม่มี” ข้อตกลงมารองรับ เรื่องนี้ทำให้เกิดความวิตกว่า อาจจะก่อให้เกิดการขาดแคลนอาหารและยาในอังกฤษ และแทนที่จะมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3 ตามที่นักวิเคราะห์คาดหมายไว้ การถอนตัวออกจากอียูโดยไม่มีข้อตกลง อาจจะทำให้เศรษฐกิจของอังกฤษดำดิ่งลง และส่งผลกระทบ ฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกให้ชะลอตามไปด้วย 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3500 ระหว่างวันที่ 29 - 31 สิงหาคม 2562