ความขัดแย้งเพียบเวที G7 ซัมมิท ไม่ต้องลุ้น ‘แถลงการณ์ร่วม’

26 ส.ค. 2562 | 00:11 น.

ถึงแม้จะมีข่าวความขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิก G7 ตั้งแต่ก่อนที่การประชุมระดับผู้นำจะเกิดขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศสระหว่างวันที่ 24-26 ส.ค. 2562 กระทั่งมีการรายงานข่าวล่วงหน้าไปแล้วว่า G7 ซัมมิทครั้งนี้ส่อเค้าล่มตั้งแต่เริ่ม และคงไม่มีการออก ‘แถลงการณ์ร่วม’ ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติหลังจบการประชุมเป็นแน่ แต่เอาเข้าจริงๆเมื่อบรรดาผู้นำเดินทางมาถึงและเข้าร่วมการประชุมวันแรก บรรยากาศก็ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด อย่างน้อยจากคำบอกเล่าของ นายลอว์เรนซ์ “แลร์รี” คุดโลว์  ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของทำเนียบขาว ที่ออกมาบอกกล่าวกับสื่อเมื่อช่วงเช้าวันอาทิตย์ (25 ส.ค. ตามเวลาท้องถิ่น) ซึ่งมีการหารือเกี่ยวกับประเด็นทางเศรษฐกิจว่า บรรดาผู้นำเข้าขากันได้ดีและสหรัฐฯก็ได้รับการปฏิบัติเป็นอย่างดี แต่ก็ยอมรับว่ามีความคิดเห็นที่ยังขัดแย้งกันอยู่ในหลากหลายประเด็น

ความขัดแย้งเพียบเวที G7 ซัมมิท ไม่ต้องลุ้น ‘แถลงการณ์ร่วม’

“ในการประชุมผู้นำที่มีอำนาจระดับสูง ก็มักจะมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันเสมออยู่แล้วเป็นเรื่องธรรมดา  บางเรื่องก็อาจเป็นความไม่ลงรอยกันตามยุทธวิธีการเจรจา แต่อย่างน้อยในการประชุมครั้งนี้ ผู้นำทุกคนก็เห็นพ้องกันในเรื่องที่ว่าต้องมีการจัดการเกี่ยวกับพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรมของจีน ผู้นำทุกคนแสดงความสนับสนุนในเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งนี้” นายคุดโลว์กล่าว


 

ผู้นำสหรัฐฯและฝรั่งเศสพบกันบนโต๊ะอาหารกลางวัน

ด้านผู้นำของสหรัฐฯเองก็พยายามออกมาแสดงความเป็น ‘เอกภาพ’ กับบรรดาผู้นำชาติมหาอำนาจสมาชิกกลุ่ม G7 คนอื่นๆ หลังจากที่พบปะกับนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ในช่วงรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันเป็นเวลา 90 นาทีเมื่อวันเสาร์ (24 ส.ค.) เขาบอกว่าเป็นการใช้เวลาร่วมกันที่สุดพิเศษ แต่ขณะเดียวกันบรรดาทีมงานฝ่ายทำเนียบขาวกลับออกมาให้ข่าวว่า ฝรั่งเศสซึ่งเป็นฝ่ายเจ้าภาพปฏิบัติต่อคณะของสหรัฐฯไม่ดีนัก โดยทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องยุ่งยากรวมไปถึงเรื่องระบบการรักษาความปลอดภัย และการที่ฝรั่งเศสเชื้อเชิญนายโมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่านมาเยือนฝรั่งเศสในช่วงเวลาเดียวกัน โดยไม่ได้แจ้งให้ฝ่ายผู้นำสหรัฐฯรู้รายละเอียดล่วงหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้มากพอ

 

นอกเหนือไปจากความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกันในประเด็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศโลกที่ฝ่ายฝรั่งเศสเจ้าภาพให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ แต่สหรัฐฯไม่เห็นด้วย และประเด็นการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนืออีกครั้งในระยะหลังๆนี้ ที่นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น แสดงความวิตกว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อมติของสหประชาชาติ แต่ผู้นำสหรัฐฯกลับกล่าวว่า เกาหลีเหนือยังไม่ได้ละเมิดข้อตกลงใดๆ ประเด็นที่ผู้คนให้ความสนใจก็คือที่ประชุม G7 ซัมมิทจะมีข่าวดีใดๆมาช่วยกระตุ้นบรรยากาศการค้า-การลงทุน หรือช่วยคลายความกังวลใจเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอย อย่างไรหรือไม่


 

ในบรรดาประเด็นร้อนทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะมีการหารือกันในเวที G7 ครั้งนี้ นอกเหนือจากประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่ประธานาธิบดีทรัมป์ออกมาให้ข่าวว่า ไม่มีผู้นำ G7ชาติใดออกมาแสดงท่าทีกดดันให้เขาลดราวาศอกให้กับจีน และบรรดาผู้นำก็เคารพต่อการตัดสินใจของสหรัฐฯในเรื่องนี้ แต่หลังจากนั้นไม่เท่าไหร่ นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ก็ออกมาให้ข่าวว่า ผู้นำ G7 สนับสนุนและอยากให้มี ‘สันติภาพ’ ทางการค้ามากกว่า นอกจากนี้ยังระบุว่า ตลอด 200 ปีที่ผ่านมา อังกฤษได้ประโยชน์จากระบบการค้าเสรี และโดยทั่วไปก็ไม่มีใครชอบภาษีศุลกากร

ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เจ้าภาพการประชุมยอมรับว่า การประชุมซัมมิทครั้งนี้อาจไม่มีแถลงการณ์ร่วม

นอกจากนี้ ก่อนเดินทางมาร่วมประชุมซัมมิทครั้งนี้ ผู้นำสหรัฐฯยังขู่จะเก็บภาษีไวน์นำเข้าจากฝรั่งเศสเพิ่มเพื่อเป็นการตอบโต้ “ภาษีดิจิทัล” 3% ที่รัฐบาลฝรั่งเศสจะเรียกเก็บจากบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีและการค้าออนไลน์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทอเมริกัน อาทิ เฟซบุ๊ค กูเกิ้ล และอเมซอน ที่เข้ามาสร้างรายได้มหาศาลในประเทศฝรั่งเศสแต่จ่ายภาษีเพียงน้อยนิดหรือไม่ได้จ่ายเลยก่อนหน้านี้ ประเทศในยุโรปรายอื่นๆ อาทิ อังกฤษ อิตาลี และออสเตรีย ก็แสดงท่าทีจะเดินตามรอยฝรั่งเศสด้วยเช่นกัน ซึ่งทำให้ผู้นำสหรัฐฯออกมาแสดงท่าทีแข็งกร้าวและขู่ใช้มาตรการภาษีตอบโต้  ประเด็นดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งปมขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและประเทศสมาชิกในโซนยุโรปของกลุ่ม G7 ไม่นับรวมถึงปมขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับเยอรมนีและญี่ปุ่นในประเด็นที่สหรัฐฯเตรียมเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนประกอบรถยนต์เพิ่มขึ้น โดยกระบวนการดังกล่าวยังอยู่ในช่วงของการประวิงเวลา 180 วัน ในการประชุมซัมมิทที่ยังคงมีต่อเนื่องอีก 1 วันในวันจันทร์นี้ (26 ส.ค.ตามเวลาท้องถิ่น) จึงยังมีความหวังว่าน่าจะมีข่าวดีเกี่ยวกับการคลี่คลายบางประเด็นขัดแย้งออกมาบ้าง

 

ในการประชุม G7 ซัมมิทในปีที่ผ่านมาที่ประเทศแคนาดา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้นำชาติเดียวที่ไม่ยอมร่วมลงนามในแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุม เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับพันธกิจผูกพันในประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศโลก  ดังนั้น ในการประชุมปีนี้ ผู้นำฝรั่งเศสจึงได้ออกมาระบุตั้งแต่ต้น ก่อนเริ่มการประชุมแล้วว่า จะยกเลิกธรรมเนียมปฏิบัติในการลงนามร่วมกันของบรรดาผู้นำชาติสมาชิกในแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุม แม้จะเน้นว่าเป็นการปรับเปลี่ยนธรรมเนียมปฏิบัติเพื่อแสดงถึงความเป็นประชาธิปไตย และเคารพในการตัดสินใจของประเทศสมาชิก แต่ก็แสดงให้เห็นชัดว่าเวทีของชาติมหาอำนาจทั้ง 7 (ประกอบด้วยสหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น) นั้นไร้เอกภาพ แตกแยก และไม่อาจเป็นที่พึ่งพาในการแสวงหาทางออกให้กับเศรษฐกิจโลกได้อีกต่อไป