วิกฤติ​ประชากร...เมื่อคนรัสเซีย​ตั้งเป้า​อายุ80ปี

25 ส.ค. 2562 | 00:02 น.

หลังกล้องไซบีเรีย : วิกฤติ​ประชากร...เมื่อคนรัสเซีย​ตั้งเป้า​อายุ80ปี

เรื่อง/ภาพ: ยลรดี ธุววงศ์

           

57 ปี... คือตัวเลขอายุไขเฉลี่ยของชาวรัสเซียเมื่อปี 2537 หรือภายหลังสหภาพโซเวียตล่มสลายเพียงไม่นาน

ถ้าเทียบกับมาตรฐานปัจจุบัน อายุ 57 ปียังไม่ถึงเกณฑ์อายุเกษียณในบ้านเราเสียด้วยซ้ำ แสดงว่าคนรัสเซียจำนวนมากแทบไม่มีโอกาสใช้ชีวิตพักผ่อนกินบำนาญหลังเกษียณเลย ทว่าตอนนี้ไม่ว่าจะเดินบนถนน บนรถเมล์ บนรถไฟ ในห้างสรรพสินค้า หรือตามสถานที่ท่องเที่ยว เราสามารถเห็นผู้สูงอายุขาวรัสเซียออกมาใช้ชีวิตอยู่ทุกหนทุกแห่งกันเป็นเรื่องปกติชินตาเสียแล้ว

เพียงกว่าสองทศวรรษ อายุเฉลี่ยของชาวรัสเซียขยับขึ้นมาเรื่อย ๆ จนถึง 72.7 ปีในปี 2560 และแน่นอนว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ต่างจากไทยหรือหลายประเทศทั่วโลก และก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ซึ่งประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินก็เคยประกาศไว้ต่อสภาแห่งชาติว่าเขาจะทำให้คนรัสเซียอายุยืนมากกว่า 80 ปีให้ได้

โดยมากแล้ว ผู้หญิงมักอายุยืนกว่าผู้ชาย ทว่าค่าเฉลี่ยระหว่างผู้ชายและผู้หญิงรัสเซียกลับห่างกันสูงมากกว่า 10 ปี โดยผู้ชายมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 67.51 ปี ขณะที่ผู้หญิงอยู่ที่ 77.64 ปี ซึ่งค่าเฉลี่ยของไทยห่างกันอยู่ราว 7 ปี คาดว่าน่าจะเป็นผลมาจากไลฟ์สไตล์ของเหล่าผู้ชายรัสเซียที่มีนิสัยดื่มหนัก (โดยเฉพาะเครื่องดื่มประจำชาติอย่างวอดก้า) ชอบใช้ชีวิตผาดโผน หรือทำงานที่สุ่มเสี่ยงต่อสุขภาพมากกว่าผู้หญิง แม้ว่าความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยจะค่อย ๆ ลดลงมาแล้วเมื่อเทียบกับหลายทศวรรษก่อน แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจมากนัก และเป็นการบ้านของรัฐบาลรัสเซียที่จะปิดช่องว่างนี้ให้ได้

วิกฤติ​ประชากร...เมื่อคนรัสเซีย​ตั้งเป้า​อายุ80ปี

การพูดถึงเรื่อง “สังคมผู้สูงอายุ” คงไม่ใช่เรื่องของการทำให้คนในชาติอายุยืนยาวขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ผูกพันไปถึงการเตรียมพร้อมระบบคมนาคม ระบบสาธารณสุข สวัสดิการรัฐ และการบริหารทรัพยากรทั้งทรัพยาบุคคลและทรัพย์สินของประเทศ งานนี้ต่างรัฐบาลต่างดีไซน์นโยบายหลายแขนงออกมารองรับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุที่จำนวนเพิ่มขึ้น เช่นที่รัสเซียผู้สูงอายุทุกคนจะได้รับสวัสดิการเช่นส่วนลดค่าพยาบาล หรือส่วนลดค่าขนส่งสาธาณะเพียงแค่โชว์บัตรประจำตัวเป็นต้น

ทว่าสิ่งที่ดูจะเป็นหนามตำอกสำหรับคำว่า “สังคมผู้สูงอายุ” กับรัฐบาลรัสเซียที่หนักที่สุดตอนนี้กลับเป็นปัญหาที่เป็นผลพวงอย่างการจัดการกับตลาดแรงงาน

ประเทศจำนวนไม่น้อยเริ่มมีอัตราการเกิดต่ำกว่ามาตรฐาน คือการมีลูกเฉลี่ย 2.1 คนต่อผู้หญิงหนึ่งคน ทำให้มีคนรุ่นใหม่เข้ามาเติมชดเชยในตลาดกันไม่ทัน และน่ากลัวว่าหลายประเทศเริ่มสะสมอาการเช่นนี้เรื้อรังมาหลายทศวรรษแล้ว นี่คือความท้าทายที่รัสเซียกำลังเผชิญ และถูกยูเอ็นจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีประชากรจำนวนมากแต่อัตราการเกิดต่ำกว่ามาตรฐาน เช่นเดียวจีน สหรัฐฯ บราซิล ญี่ปุ่น เวียดนาม เยอรมนี อิหร่าน สหราชอาณาจักร และไทย

วิกฤติ​ประชากร...เมื่อคนรัสเซีย​ตั้งเป้า​อายุ80ปี

ตัวเลขผู้สูงอายุพุ่งพรวด สวนทางกับอัตราการเกิดที่หดตัวอย่างเห็นได้ชัด กระทรวงการคลังรัสเซียคาดว่าในอีก 17 ปีข้างหน้า ประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น 5 ล้านคน ขณะที่กลุ่มช่วงวัยอายุน้อยกว่าเกณฑ์ผู้สูงอายุจะเพิ่มเพียง 2.7 ล้านคน แทบจะเรียกได้ว่าเป็นอัตราส่วนครึ่งต่อครึ่ง นับเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนักสำหรับการบริหารประเทศ

ร้อนถึงรัฐบาลรัสเซียที่ต้องเร่งมือหาทางแก้ จนในที่สุดก็ตัดสินใจคลอดนโยบายที่สะเทือนอนาคตสังคมผู้สูงอายุของรัสเซียทั้งหมด และเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้คะแนนนิยมของนายปูตินลดฮวบอย่างน่าตกใจในสมัยที่ผ่านมา นั่นคือ “การปฏิรูประบบบำนาญ”

การปฏิรูประบบบำนาญมีรูปร่างอย่างไร ทำไมรัฐบาลรัสเซียถึงตัดสินใจเลือกใช้นโยบายที่คนรัสเซียจำนวนมากออกมาคัดค้านหัวชนฝา ทิศทางสังคมผู้สูงอายุรัสเซียจะไปทางไหนหลังการปฏิรูป ติดตามต่อได้ใน “หลังกล้องไซบีเรีย” สัปดาห์หน้า

วิกฤติ​ประชากร...เมื่อคนรัสเซีย​ตั้งเป้า​อายุ80ปี