'ทัศนคติที่ดี' คุณสมบัติอันพึ่งประสงค์  

24 ส.ค. 2562 | 07:28 น.

"คอร์น เฟอรี่" ที่ปรึกษาด้านการบริหารประเมินว่า จากวันนี้จนถึงปี 2030 หรือประมาณอีก 11 ปี ความต้องการคนทำงานด้านเทคโนโลยีทั่วโลกจะสูงถึง 4.3 ล้านคน และประเทศไทย คือหนึ่งในประเทศที่มีแรงงานด้านนี้ต่ำกว่าความต้องการของตลาดมากถึงกว่า 7.4 หมื่นคน 

ความต้องการที่มากขึ้น ทำให้เกิดการดึงตัว รักษาคนเก่ง สารพัดวิธีการ รวมทั้งสร้างคน "ดิจิทัล ทาเลนท์" เหล่านี้ขึ้นมาเอง ซึ่งเห็นได้จากองค์กรชั้นนำด้านเทคโนโลยี อย่าง ดีแทค เอไอเอส หัวเว่ย รวมไปถึงการเกิดขึ้นของหลักสูตรสร้างคนดิจิทัล หรือการ Re-Skill พนักงานเก่า ให้มีทักษะด้านดิจิทัล เท่าทันกับทิศทางธุรกิจที่กำลังเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว 

"โจอันนา ปาร์ค" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านทาเลนท์ของ ThoughtWorks บอกว่า เมื่อองค์กรมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์หรือรูปแบบการทำงานใหม่ วิธีการหาทีมเข้ามาร่วมงานที่ดีที่สุด คือ คัดเลือกคนที่สอดคล้องกับทิศทางขององค์กรเป็นสำคัญ แทนที่จะไปแย่งคนกันในตลาดแรงงาน แต่ละองค์กรควรมีกลยุทธ์การค้นหาและจ้างทาเลนท์ของตัวเอง

"กลยุทธ์ด้านทาเลนท์ต้องเริ่มตั้งแต่การวางกลยุทธ์ขององค์กรโดยรวม โดยต้องวางแผนไปพร้อมกับเป้าหมายของบริษัทในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จากนั้นค่อยคิดว่า บริษัทต้องใช้ทาเลนท์ที่เชี่ยวชาญแบบไหน ที่จะทำให้ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ มันคือการดูที่ความเชี่ยวชาญ ไม่ได้ดูที่ตำแหน่งแบบเดิมๆ"

การที่กลยุทธ์ทาเลนท์จะไปในทางเดียวกันกับเป้าหมายธุรกิจ ต้องอาศัยความร่วมมือของพนักงานทุกระดับและทุกแผนกในองค์กร เนื่องจากเทคโนโลยี เกี่ยวข้องกับงานทุกฝ่าย ไม่ใช่งานของฝ่ายไอทีอย่างเดียว ทุกคนต้องเข้าใจว่าเทคโนโลยีคือหัวใจหลักของธุรกิจ ซึ่งจะทำให้บริษัทมีความได้เปรียบด้านการแข่งขัน ดังนั้น พนักงานทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาธุรกิจ การหาข้อมูลจากหลายๆ แผนก ทำให้บริษัทได้รู้ถึงจุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง

สิ่งสำคัญ ที่เป็นหัวใจของคนยุคดิจิทัล "โจอันนา" บอกว่า ต้องเป็นคนที่มีทัศนคติที่ดีในการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ เปิดรับความคิดใหม่ๆ และเปิดกว้างสำหรับการทดลองทำ ดังนั้นเทียบกันระหว่างคนเก่งเทคมากๆ แต่พูดกับใครไม่รู้เรื่อง กับคนที่เก่งแบบกลางๆ แต่ทำงานกับคนอื่นได้ดี ผลลัพธ์การทำงานของคนหลังจะดีกว่า

อีกสิ่งสำคัญคือ องค์กรควรสร้าง "วัฒนธรรมการฟูมฟัก" ที่เปิดโอกาสให้พนักงานได้เรียนรู้ผ่านการอบรมและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยคนที่รู้เรื่องหนึ่งช่วยสอนเพื่อนร่วมงาน และเรียนรู้ถึงความสนใจและความเชี่ยวชาญของเขา ให้โอกาสเขาทำในสิ่งที่อยากทำ การที่ทุกคนในองค์กรสามารถปรับตัวได้ จะทำให้ทั้งองค์กรปรับตัวกับสิ่งใหม่ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีหรือความต้องการของลูกค้าก็ตาม

การได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ยังเป็นเหตุผลหลักอันหนึ่งในการรักษาพนักงานและสร้างการมีส่วนร่วมกับองค์กร จากการสำรวจของ Linkedin พบว่า 94% ของคนทำงาน พร้อมจะอยู่บริษัทให้นานขึ้น ถ้าบริษัทมีการลงทุนด้านการเรียนรู้และพัฒนาให้พวกเขาอย่างชัดเจนและสม่ำเสมอ

สิ่งที่ทาเลนท์ยุคดิจิตัลต้องการ คือ 1. การได้ร่วมงานกับธุรกิจและลูกค้าที่น่าสนใจ เพื่อสร้างโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ  2. ต้องการทำงานในองค์กรที่มีเป้าหมายในการทำงานที่ชัดเจน และเห็นโอกาสในการพัฒนาตัวเอง และ 3. สิ่งแวดล้อมการทำงานที่คนเก่งๆ ได้รับโอกาสในการพัฒนา และความท้าทายให้ต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ

"รูธ กอร์แมน" หัวหน้าโครงการพัฒนาทาเลนท์ทั่วโลกของ ThoughtWorks กล่าวว่า คอนเซ็ปท์การทำงานของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไป เขาอาจอยากทำงาน 12 เดือน และอีก 12 เดือนไปทำงานให้องค์กรการกุศลที่ต่างประเทศ ดังนั้นหลายๆ องค์กรต้องพร้อมสำหรับตารางการทำงานที่ยืดหยุ่นด้วย

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,498 วันที่ 22 - 24 สิงหาคม พ.ศ. 2562

'ทัศนคติที่ดี' คุณสมบัติอันพึ่งประสงค์