อาการน่าห่วง IMF เตือนศึกการค้าทำเศรษฐกิจโลกริบหรี่

24 ส.ค. 2562 | 00:42 น.

แนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังคงริบหรี่ ไม่เห็นแสงสว่างจากปัจจัยในเชิงบวก จิตา โกปินาท หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ให้สัมภาษณ์ซีเอ็นบีซี สื่อใหญ่ของสหรัฐฯ ว่า ยิ่งเวลาดำเนินไปในช่วงที่เหลือของปีนี้ ก็ยิ่งยากที่จะมองหาจุดที่เป็นความสว่างไสว “มีความเป็นไปได้เกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในหลายภูมิภาคของโลก แต่ก็ต้องยอมรับว่า มันเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้นเรื่อยๆที่จะพบเห็นแนวโน้มเชิงบวกนี้”

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟเตือนว่าเศรษฐกิจโลกมีความเปราะบางสูง และสงครามการค้าคือปัจจัยเสี่ยงที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง


 

เศรษฐกิจโลกกำลังขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง เมื่อเร็วๆนี้ไอเอ็มเอฟได้ปรับลดประมาณการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ (2562) จากเดิมที่คาดไว้ 3.3% เหลือเพียง 3.2% โดยสัญญาณที่ชัดเจนมาจากประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างจีนและเยอรมนี ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีนในช่วงไตรมาส2 /2562 ขยายตัวในอัตราเพียง 6.2% ซึ่งเป็นอัตราต่ำที่สุดในรอบ 27 ปี ขณะที่จีดีพีของเยอรมนีหดตัว 0.1% จากกิจกรรมในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออกที่แผ่วลงท่ามกลางบริบทของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่สร้างผลกระทบแผ่ขยายออกไปมากขึ้น  ซึ่งล่าสุดเมื่อวันศุกร์ (23 ส.ค.) จีนได้ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯระลอกใหม่วงเงิน 75,000 ล้านดอลลาร์ รวมถึงรถยนต์นำเข้า เพื่อเป็นการตอบโต้การที่สหรัฐฯจะขึ้นภาษีสินค้าจีน 10% ในวันที่ 1 กันยายนนี้มูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์ การเคลื่อนไหวดังกล่าวของจีน ยิ่งเป็นการเติมเชื้อไฟ ทำให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯประกาศตอกกลับอย่างดุเดือดภายในวันเดียวกันเพิ่มระดับแรงกดดันจีนขึ้นไปอีก โดยแทนที่จะขึ้นภาษีเพียง 10% ก็เพิ่มขึ้นเป็น 15% หนำซ้ำยังขึ้นภาษีสินค้าอีกกลุ่มในวงเงิน 250,000 ล้านดอลลาร์ จากอัตราเดิม 25% ขยับขึ้นเป็น 30% เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป พร้อมสั่งการให้บริษัทเอกชนอเมริกันที่เข้าไปลงทุนในจีน ถอนการลงทุนออกมาในทันที

 

“การเติบโตของเศรษฐกิจโลกถูกสกัดกั้น และเรียกได้ว่ามีความเปราะบางสูง ปัจจัยเสี่ยงมีอยู่มากมาย และหนึ่งในความเสี่ยงที่เราได้ส่งสัญญาณเตือนมาตลอดคือความเสี่ยงทางด้านการค้า ความเคลื่อนไหวล่าสุดของเรื่องนี้ (สงครามการค้า) ทำให้น่าห่วงเป็นอย่างยิ่งว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในอนาคตข้างหน้า” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟกล่าวในที่สุด