ระวัง! ค่าโง่ก๊าซกฟผ. ดันประชาชนแบกค่าไฟแพง

23 ส.ค. 2562 | 09:21 น.

คอลัมน์อยู่บนภู ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3499 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 25-28 ส.ค.2562 โดย... กระบี่เดียวดาย

 

ระวัง! ค่าโง่ก๊าซกฟผ.

ดันประชาชนแบกค่าไฟแพง

 

                  พาดหัวไว้อย่างนี้ไม่ได้ประสงค์ให้ประชาชนคนไทยตกอกตกใจแต่อย่างใด แต่ทุกวันนี้เราจะเห็นว่าประชาชนต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการจ่ายค่าโง่กันเต็มไปหมด อันเกิดจากการทำสัญญาของรัฐ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่หละหลวม เปิดช่องให้เอกชนฟ้องร้องและเป็นสัญญาที่เสียเปรียบ เรียกว่าสู้คดีไปแพ้ตั้งแต่มุ้ง แพ้ไปทุกที่ที่ถูกฟ้อง

                  ขอนำท่านไปยังกระทรวงพลังงานอีกสักวัน ดังที่ได้เขียนเตือนมาโดยตลอดว่ากระทรวงนี้ขนาดไม่ใหญ่มาก แต่ผลประโยชน์ผูกพันมหาศาล และเกี่ยวพันกับผู้บริโภคมากเหลือเกิน  

                  เรื่องของเรื่องต้องย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2560 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ และได้มีมติเห็นชอบมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อม ทำหน้าที่เป็น Shipper รายใหม่ ในปริมาณการจัดหา LNG ไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี เพื่อนำ LNG ไปใช้กับโรงไฟฟ้าของตนเองที่กำหนด

                  เมื่อรับมติดังกล่าวมาแล้ว ก็ไปเร่งดำเนินการเปิดประมูลจัดหาผู้ส่งก๊าซ ก็ได้มีผู้ยื่นเสนอตัวกันเข้ามา 12 ราย ทางบริษัทปิโตรนาสของมาเลเซียเป็นผู้เสนอราคาตํ่าสุด ว่ากันตามกระบวนการก็ต้องเดินหน้าไปสู่การเซ็นสัญญา ตามแผนที่เล็งกันไว้เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาก็ต้องเซ็นกันแล้วและส่งมอบล็อตแรกกันในเดือนกันยายน 2563

 

ระวัง! ค่าโง่ก๊าซกฟผ. ดันประชาชนแบกค่าไฟแพง

 

                  ลืมไปสัญญาที่ว่านี้มีมูลค่าไม่ตํ่ากว่าแสนล้านบาท ระยะเวลาตามสัญญา 8 ปี (2562-2569)

                  ดูกันแค่นี้เหมือนจะไม่วุ่น ก็แค่ให้กฟผ.นำเข้า LNG มาใช้เองตามธรรมดา ไม่เห็นจะเป็นอะไรไป ประมูลก็เลือกผู้เสนอราคาตํ่า

                  ถ้าเป็นเช่นนั้นกระบี่เดียวดาย ก็คงไม่ต้องงัดกระบี่ออกมาฟาดฟันให้วุ่นวาย...

                  แต่เรื่องหาเป็นเช่นนั้นไม่ เมื่อการนำเข้าก๊าซโดยปกติมีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำเข้าแอลเอ็นจีรายเดิมที่มีสัญญาอยู่แล้ว กับกฟผ. เรียกว่ามีข้อผูกพันในสัญญาการซื้อขายก๊าซธรรมชาติ คราวนี้จึงมีภาระที่เรียกกันว่าภาระค่า Take or Pay ซึ่งเกิดขึ้นจากปตท.ต้องไปลดปริมาณการนำเข้าแอลเอ็นจีจากสัญญาซื้อขายเดิมที่มีอยู่แล้ว 5.2 ล้านตันต่อปี

                  “เมื่อมีสัญญาผูกพันระยะยาวอยู่แล้ว ทางปตท.ต้องลดเพราะกฟผ.ไปหาจากทางอื่นเพิ่มจึงเกิดภาระ Take or Pay ก็เถียงกันอยู่ว่าใครจะรับภาระ ซึ่งไม่มีใครรับภาระ เมื่อไม่มีใครรับภาระก็ต้องผลักภาระไปที่ค่าไฟฟ้าของประชาชนแทน”

                  นี่ไง...เรื่องวุ่นจึงบังเกิดขึ้น 

                  ถ้าเข้าปี 2563 สมมติเซ็นกันเสร็จสรรพ กฟผ.นำเข้าแอลเอ็นจีเต็มปริมาณที่ 1.5 ล้านตัน จะทำให้ปตท.ต้องไปลดปริมาณซื้อก๊าซแอลเอ็นจีจากสัญญาเดิมที่มีอยู่ 20-30 % ซึ่งจะต้องจ่ายค่า  Take or Pay ให้กับคู่สัญญาแม้ว่าจะไม่ได้รับก๊าซฯมาก็ตาม เพราะไปสัญญาไว้แล้ว ใครเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น สุดท้ายก็ต้องโยนให้ประชาชนแบกรับแทน

                  คราวนี้ไปดูความจำเป็นนำเข้า 1.5 ล้านตันนี้ ถ้าดูจากความต้องการใช้ไฟฟ้าก็ไม่ได้สูงขึ้น ก็ไม่จำเป็นต้องนำเข้า แต่หาก(โง่) ต้องนำเข้ามาจริงค่าใช้จ่ายที่เกิดจาก Take or Pay จะส่งผ่านมายังภาคประชาชนต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น จากการส่งผ่านค่าไฟฟ้าโรงไฟฟ้า LNG ไปเฉลี่ยในโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้าได้ 

                  ต้องยอมรับว่ากฟผ.เองก็ไม่ได้เชี่ยวชาญ ชำนาญในการนำเข้าก๊าซสักเท่าไร เพราะตัวเองทำถนัดคือโรงไฟฟ้า ไม่ได้เตรียมการทำอะไรพวกนี้ไว้ ทั้งท่าเรือ ทั้งคลังก๊าซลอยนํ้าว่าแล้วก็ต้องไปเช่าไปหาจากเอกชนหรือปตท.ทั้งสิ้น แล้วจะดันทุรัง ทำไปหาพระแสงอะไรไม่ทราบ

                  เรื่องนี้ยังไม่ทันจะโง่ โดย กฟผ.เองยังไม่เซ็นสัญญากับปิโตรนาส เพียงแต่ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีพลังงาน ต้องหยิบขึ้นมาใคร่ครวญให้ดี แล้วเสนอคณะกรรมการบริหารพลังงาน(กบง.) เสนอกพช.ยกเลิกเสีย

                  แล้วก็ไปเจรจากับปตท.ในการจัดหา นำเข้า บริหารก๊าซในราคาที่เป็นธรรมขอให้ เรกูเลเตอร์ เข้าไปดูให้ใกล้ชิด ปตท.ฟันคนอื่นมากไปหรือไม่ ถ้าเห็นว่ามากไปก็ให้ ลดลงมาแล้วจ่ายคืนให้กับประชาชนในรูปของรายได้รัฐวิสาหกิจใหญ่ที่เพิ่มขึ้นบ้าง

                  ทั้งหมดทั้งมวลจึงอยู่ที่สนธิรัตน์ จะตัดสินใจอย่างไร ให้กฟผ.ไปต่อ ประชาชนแบกค่าไฟแพงขึ้น  หรือเลือกยืนข้างประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าตาดำๆ