นพ.อดิศักดิ์ กิตติสาเรศ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียง ใหม่ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ และผู้ร่วมก่อตั้ง (CMO & Co-fouder) MeDiSee (เมดิซี) เปิดเผยว่า เมดิซี เริ่มให้บริการอย่างเต็มรูปแบบประมาณเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา ด้วยบริการรายงานผลเลือดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อทำให้ระบบการเชื่อมต่อข้อมูลด้านสุขภาพของคนไข้มีความต่อเนื่องมากขึ้น โดยให้ความสำคัญในเรื่องของความปลอดภัยทางด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ที่บุคคลอื่นไม่สามารถเข้าถึงได้ แพลตฟอร์ม เมดิซี นั้นทำงานโดยมีลักษณะเป็นเว็บเบสให้กับระบบหลังบ้านของสถานพยาบาล คลินิก หรือแล็บต่างๆ ที่ต้องการเชื่อมต่อ ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในการรับส่งข้อมูลผลเลือดรวมไปถึงข้อมูลการรักษาสำหรับคลินิกที่มีการใช้ระบบแบบสมบูรณ์
ทั้งนี้ผลเลือดที่ออกมาจะถูกบันทึกลงบนแพลตฟอร์มและแสดงผลผ่านแอพพลิเคชันที่คนไข้หรือผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดมาตรวจสอบข้อมูลผลเลือดของตนเองได้ (Personal Health Record) ข้อมูลที่บันทึกลงในระบบเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ เนื่องจากผลที่บันทึกมาจากสถาบันการแพทย์ที่ผ่านคุณสมบัติ และกฎเกณฑ์ของแต่ละวิชาชีพ โดยใช้มาตรฐานด้านความปลอดภัยชั้นสูงในการเข้าถึงการรับส่งข้อมูลแบบเดียวกับที่ธนาคารใช้ และเลือกใช้อเมซอน คลาวด์ ในการเก็บรักษาข้อมูล โดยฟีเจอร์ที่สำคัญ 3 บริการ คือ 1. AI Screening สำหรับผู้ป่วย ในการตอบคำถามเบื้องต้นเพื่อประเมินความเสี่ยงโรคที่อาจจะเป็น เพื่อให้ตรวจเฉพาะโรคที่สำคัญและจำเป็น 2.ระบบรายงานผลแบบอินเตอร์แอกทีฟ อธิบายอาการป่วยด้วยวิดีโอสั้นๆ รวมถึงข้อแนะนำในการดูแลสุขภาพ และ 3. การนัดพบแพทย์เพื่อใช้บริการเทเลเมดิซีน ซึ่งราคาขึ้นอยู่กับคุณหมอกำหนด และขึ้นอยู่กับความสมัครใจที่คนไข้จะเลือกใช้คุณหมอท่านใด ถือเป็นทางเลือกที่ช่วยให้ประหยัดเวลาได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตามภาพรวมอุตสาหกรรมเฮลธ์เทคในไทยนั้นยังคงมีความสำคัญ เพราะในอนาคตเทคโนโลยีต่างๆ ที่เข้ามาจะทำให้เกิดความสะดวกสบาย ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น แต่เรื่องของนวัตกรรมซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่นั้น บางทีผู้ใช้งานมองไม่เห็นถึงความสำคัญของสิ่งเหล่านั้น โดยเฉพาะผู้ใช้งานกลุ่มแรกๆ หรือ Early Adopter ขณะเดียวกันปัจจุบัน คนไทยเริ่มยอมรับสิ่งใหม่ๆ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ยอมรับการเปลี่ยนแปลงในทันที แต่จะเป็นการเรียนรู้และค่อยๆ มีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ
ล่าสุด เมดิซี ได้มีการพัฒนาโมเดลต้นแบบ MeDiSee Model ที่ Healthy Clinic นิมมาน ซึ่งเป็นโมเดลดูแลสุขภาพแบบดิจิทัล (Digital Health Care Model) ทำงานโดยใช้แพลตฟอร์มของเมดิซีทั้งหมดแบบสมบูรณ์ เพื่อขยายตลาดไปยังลูกค้ากลุ่มธุรกิจ (B2B) ให้ได้เรียนรู้และเข้าใจระบบ โดยจะเป็นศูนย์ทดลองฝึกการใช้งานเพื่อให้เกิดความเข้าใจในระบบของเมดิซีได้ง่ายมากขึ้น ทั้งยังเป็นศูนย์ที่ผู้ใช้งาน (Customer) สามารถทดลองประสบการณ์การใช้งานแอพพลิเคชันเมดิซีได้เช่นเดียวกัน ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าระบบการเชื่อมต่อจริงๆ ที่สมบูรณ์มีรูปแบบอย่างไร ให้ธุรกิจที่อยากเข้าร่วมกับเมดิซีได้มองเห็นภาพอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อประกอบการตัดสินใจ
ขณะที่ในส่วนของโมเดลรายได้นั้นมาจากธุรกิจที่มีการซื้อผลิตภัณฑ์เมดิซีโมเดล เพื่อลงทุนทำระบบดิจิทัลเฮลธ์แคร์, คอมมิสชันจากการเป็นพาร์ตเนอร์ เพราะเมดิซีเป็นผู้เชี่ยวชาญทางปฏิบัติการ (Lab Expert) ปัจจุบันส่วนของราย
ได้จะเน้นไปที่เรื่องของแล็บมากกว่ายา เพราะยามีการควบคุมราคา และคอมมิสชันจากการใช้งานผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างบริการ เทเลเมดิซีน ที่แตกต่างจากที่อื่นๆ ปัจจุบันเมดิซีมีคลินิกและศูนย์บริการด้านสุขภาพเข้าร่วมกว่า 200 แห่ง โรงพยาบาลต้นแบบที่เข้าร่วมเพื่อเปิดตัวระบบอีกประมาณ 10 แห่ง ซึ่งในปีนี้เราตั้งเป้าที่จะขยายการเติบโตในรูปแบบ B2B ไว้ที่ 400-500% แต่สำหรับการสเกลไปในตลาดต่างประเทศนั้น คาดว่าน่าจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2 ปี
“ผมมองว่าถ้าเราทำได้ดี มันไม่ช้าไป แต่ถ้าสเกลเร็วเกินไปโดยที่ยังไม่พร้อมจะทำให้มีการใช้ทรัพยากรไปทุ่มเทกับอะไรบางอย่างและทำให้เกิดความเสียหายกับธุรกิจมากกว่า โดยอาจจะต้องเริ่มสเกลไปในกลุ่มประเทศที่พัฒนาน้อยกว่าเรา เนื่องจากในประเทศพัฒนามากกว่าจะมีเรื่องของกฎหมายด้านสุขภาพที่ค่อนข้างมีข้อจำกัด เมดิซีในวันนี้เราไปด้วยรูปแบบของธุรกิจที่มั่นคงมีรายได้และมีคุณค่ากับสังคม”
หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3499 ระหว่างวันที่ 25 - 28 สิงหาคม 2562
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อน กับ LINE @thansettakij