โคมไฟปลูกต้นไม้  ทางเลือกใหม่เกษตรกร เร่งผลผลิต-เร่งรายได้

27 ส.ค. 2562 | 05:50 น.

แรงบันดาลใจในการต่อยอด ทำธุรกิจเอสเอ็มอีหลายรายเกิดจาก “โอกาส” และ “ความบังเอิญ” เช่นเดียวกับ “เอก” เอกวิทย์ จริงจิตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส.อิเล็กตริกส์ จำกัด ที่เดิมทีไม่ได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์ส่องสว่าง เขาเริ่มต้นธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อมาขายไปอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูง โดยที่สินค้าส่วนใหญ่จำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำหน่ายอยู่ได้ไม่ถึงปีก็ประสบปัญหาสินค้าที่สั่งซื้อจากซัพพลายเออร์ เมื่อทวงถามถึงคุณภาพของสินค้าก็ได้รับคำตอบกลับมาว่า “ถ้าต้องการให้สินค้ามีคุณภาพก็ให้ไปผลิตเอง”

โคมไฟปลูกต้นไม้   ทางเลือกใหม่เกษตรกร  เร่งผลผลิต-เร่งรายได้

ด้วยประโยคเหล่านั้นประโยคเดียว ทำให้ “เอก” กระโดดเข้ามาเป็นผู้ผลิตเองอย่างเต็มตัว โดยตั้งโรงงานผลิตที่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาครและขยายไลน์สินค้าที่ขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมาต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน ผลิตสินค้า 2 กลุ่มคือ อุปกรณ์เชื่อมต่อสายไฟฟ้าแรงสูงภายใต้แบรนด์ “SET” และโคมไฟส่องสว่างหรือ Lighting แบรนด์ “SED” ที่มีโคมไฟปลูกต้นไม้เป็นพระเอกที่เป็นอีกช่องทางเลือกใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร

“สินค้าที่ผลิตจำเป็นต้องมีมาตรฐานสูงขึ้น ต้องมี มอก. การควบคุมกระบวนการต่างๆ ต้องได้รับมาตรฐาน ISO9001 โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล็บสำหรับวิจัยและทดสอบคุณภาพสินค้า ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนหลายล้าน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสินค้าจะมีคุณภาพและสามารถรับประกันสูงสุดได้ 5 ปี”

 

ออกแบบโคมไฟตามใจลูกค้า

ปัจจุบัน “เอก” บอกว่า เมื่อมีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับหลอดไฟแอลอีดีมากขึ้น จึงพัฒนาตัวเองจากผู้ขายโคมไฟมาเป็นผู้ให้บริการเกี่ยวกับ Lighting Solution เรียกว่าทำตั้งแต่ต้นนํ้าถึงปลายนํ้าเกี่ยวกับเรื่องแสง เริ่มตั้งแต่รับความต้องการหรือปัญหาจากลูกค้าออกแบบไปจนถึงผลิตเป็นตัวโคมไฟตามความต้องการของลูกค้า โดยมีการออกแบบและพัฒนาสินค้าให้ลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น โคมไฟที่ใช้ในสนามกีฬา โรงยิม สนามกอล์ฟ งานตกแต่งอนุสาวรีย์สำคัญๆ ต่างๆ โรงทำสีและโรงพิมพ์ที่จำเป็นต้องใช้แสงที่มีความถูกต้องของสีสูง โคมไฟที่ใช้ในการจับปลา และโดยเฉพาะโคมไฟที่ใช้งานการปลูกต้นไม้ที่กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มเกษตรกร

โคมไฟปลูกต้นไม้   ทางเลือกใหม่เกษตรกร  เร่งผลผลิต-เร่งรายได้

หากโฟกัสมาที่โคมไฟปลูกต้นไม้ จะมีจุดเด่นหลายส่วน เช่น สามารถให้แสงเพิ่มในเวลากลางคืนทำให้สามารถเร่งระยะเวลาเก็บเกี่ยวได้อีก 20-30% กรณีปลูกพืชที่ต้องการให้ดอกหรือผลเร็ว หรือเหมาะสำหรับปลูกพืชต่างถิ่นที่ต้องควบคุมสภาพแวดล้อมและระยะเวลารับแสงเลียนแบบพืชในบางประเทศที่มีช่วงกลางวันยาวนานได้ และสามารถควบคุมแสงให้มีความยาว คลื่นที่เหมาะสมและเข้มมากพอ สำหรับกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงในพืชที่มีคุณสมบัติทางยาเพื่อให้ผลผลิตออกมามีคุณภาพและสมํ่าเสมอ (ดูกราฟิก) นับเป็นการเร่งผลผลิตเร่งรายได้

“ในช่วงสร้างดอกพืชจะต้องการแสงสีแดงมากขึ้นประมาณ 2-3 เท่า โดยหลักๆ สีแดงจะมีอยู่ 2 ช่วง คือช่วง 660 นาโนเมตร ซึ่งก็คือสีแดงที่กล่าวถึงข้างต้น แต่สีแดงในช่วง 730 นาโนเมตร ซึ่งเรียกว่า Far Red สีแดงในช่วงนี้จะมีมากกว่าสีแดงช่วง 660 นาโนเมตร ในร่มเงาของต้นไม้ซึ่งจะตรงกันข้ามกับพื้นที่กลางแจ้ง การที่เราให้แสง Far Red กับพืชจะทำให้พืชพยายามยืดตัวเพราะคิดว่าตัวเองอยู่ใต้ร่มเงาของต้นไม้ต้นอื่น โดย Far Red ยังช่วยในการเร่งการงอกของเมล็ดพันธุ์ได้อีกด้วย”

โคมไฟปลูกต้นไม้   ทางเลือกใหม่เกษตรกร  เร่งผลผลิต-เร่งรายได้

“เอก” กล่าวถึงนวัตกรรมที่นำมาปรับใช้กับโคมไฟปลูกต้นไม้คือ การที่เราสามารถควบคุมความยาวคลื่นของแสงแอลอีดีได้ ทำให้เราสามารถจำลองแสงของแอลอีดีให้ตรงกับแสงของดวงอาทิตย์ ซึ่งโดยปกติจะใช้แสงอาทิตย์สังเคราะห์แสงเพื่อผลิตดอกและผล โดยเราสามารถผลิตโคมไฟให้มีความยาวคลื่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์สลัดที่เน้นการเจริญเติบโตของใบ พืชนี่เน้นการตัดดอก (หรือผล) เพื่อจำหน่าย พืชต่างถิ่นที่ต้องควบคุมอุณหภูมิและระยะเวลาในการรับแสง พืชสมุนไพรที่ใช้ในทางเวชภัณฑ์ที่มีความจำเป็นต้องควบคุมคุณภาพในการปลูก


 

 

เป้าปีนี้ยอดขาย70ล้านบาท

บริษัท เอส.อิเล็กตริกส์ จำกัด ตั้งเป้าว่า ปัจจุบันภาพรวมของบริษัท มียอดขายเฉลี่ยต่อปีประมาณ 50 ล้าน โดยที่มียอดขายในกลุ่มอุปกรณ์ส่องสว่างประมาณ 40-50% และคาดการณ์ว่าปี 2562 นี้ ยอดขายน่าจะเกิน 70 ล้านบาทต่อปี ยังไม่ได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันมากนักเพราะมีคู่แข่งน้อยราย และยังไม่ได้รับการยอมรับมากนัก จึงทำให้การแข่งขันยังไม่รุนแรง ปัจจุบันบริษัทขายผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ www.s-electric.co.th และ www.sed.co.th และไปงานแสดงสินค้าไฟและการเกษตร เป็นต้น โคมไฟปลูกต้นไม้   ทางเลือกใหม่เกษตรกร  เร่งผลผลิต-เร่งรายได้

ส่วนการสนับสนุนจากภาครัฐ จะได้รับความรู้ในการวางแผนและการจัดการธุรกิจอย่างเป็นระบบจาก “โครงการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ในเชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม” ของกองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ และได้รับการสนับสนุนที่ปรึกษาด้านการจัดการโลจิสติกส์ โดยเข้าให้คำปรึกษา ณ สถานประกอบการใน “โครงการเสริมแกร่ง SME ด้านโลจิสติกส์” จากกองโลจิสติกส์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และยังได้รับการสนับสนุนจากโครงการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ (Start-up Voucher) ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี เป็นจำนวนเงิน 750,000 บาท

สำหรับแผนธุรกิจระยะยาว “เอก” เกริ่นไว้ว่า จะร่วมมือกับสถาบันวิจัยและมหาลัยต่างๆเพื่อเพิ่มคุณภาพสินค้าให้มีคุณภาพมากขึ้น ร่วมมือกับเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีการทำ Smart farm  นอกจากนี้ล่าสุดอยู่ระหว่างหารือกับทางมหาวิทยาลัย ดูความเป็นไปได้ในการทำโปรเจ็กต์รวมกันซึ่งจะเปิดเผยได้เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว

เมื่อถามว่าความยากลำบากในการทำธุรกิจอยู่ที่ไหน “เอก” บอกว่า การสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ต้องใช้งบประมาณในการวิจัยในการลองผิดลองถูกสูง และเกษตรกรในประเทศส่วนใหญ่ ยังไม่ได้รับความนิยมมากนักเป็นความยากและต้องใช้เวลา ส่วนจุดยืนในการทำธุรกิจให้อยู่รอดได้นั้น สินค้าทุกตัวที่ออกมา จะเน้นคุณภาพ และซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ที่สำคัญจะต้องมีใจมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่องด้วย 

หน้า 8 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3499 วันที่ 25-28 สิงหาคม 2562

โคมไฟปลูกต้นไม้   ทางเลือกใหม่เกษตรกร  เร่งผลผลิต-เร่งรายได้